'ฟูจิตสึ' แนะ ‘ซีโอโอ’ เร่ง ‘ทรานส์ฟอร์ม’ องค์กรสกัดเสี่ยง

'ฟูจิตสึ' แนะ ‘ซีโอโอ’ เร่ง ‘ทรานส์ฟอร์ม’ องค์กรสกัดเสี่ยง

ข้อมูลคือหัวใจสำคัญของการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล

"ซีโอโอมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้องค์กรดำเนินการปรับเปลี่ยนอย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรม และจำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้บริหารฝ่ายสารสนเทศ (CIO), ผู้บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) และทีมงานฝ่ายไอที เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการดำเนินงาน ดำเนินกลยุทธ์ทางเทคโนโลยีเพื่อรองรับโมเดลธุรกิจขององค์กร" 

เฮาส์ดอร์ฟ กล่าวว่า  การประสานงานร่วมกันนี้เกิดขึ้นแล้วก่อนที่ โควิด-19 จะทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป จากผลการสำรวจเมื่อเดือนมี.ค. 2563 พบว่า 19% ขององค์กรธุรกิจกำลังทำงานร่วมกับฝ่ายปฏิบัติการเพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางในการปฏิรูปองค์กร และที่น่าประหลาดใจก็คือ ส่วนที่เหลือ 81% ไม่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้

นับเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในอนาคตจะอยู่ในภาวะถดถอยหรือไม่ แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร องค์กรก็จำเป็นที่จะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานโดยใช้ทรัพยากรให้น้อยลงอยู่เสมอ

เมื่อไม่นานมานี้ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้ตีพิมพ์เผยแพร่รายงานการศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อมโยงที่ซับซ้อนระหว่างการทำงานจากที่บ้านและประสิทธิภาพการทำงาน โดยระบุว่า องค์กรธุรกิจ 60% บอกว่ารูปแบบการทำงานจากที่บ้านของพนักงานขายมีประสิทธิภาพมากกว่าช่องทางการขายแบบเก่า

ด้าน McKinsey & Co เปิดเผยถึงประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มขึ้น จากการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานภายใต้สถานการณ์โควิดในภาคธุรกิจการดูแลสุขภาพ (Healthcare) โดยจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 400 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2568 การเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงานในลักษณะเช่นนี้จะกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับองค์กรธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

‘ข้อมูล’หัวใจสำคัญทรานส์ฟอร์ม

ผู้บริหารฟูจิตสึ ระบุว่า ข้อมูล คือ หัวใจสำคัญของการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล หรือ ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น องค์กรจำเป็นที่จะต้องใช้ประโยชน์จากข้อมูลจำนวนมหาศาล เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและสร้างโอกาสทางธุรกิจและช่องทางรายได้ใหม่ๆ หากไม่มีกรอบโครงสร้างที่เป็นระบบ ก็ไม่อาจเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกันได้ 

ปัญหาท้าทายที่สำคัญในที่นี้ คือ ต้องรวบรวมและบูรณาการข้อมูลเข้าด้วยกัน ครอบคลุมทั่วทั้งองค์กรและทุกขั้นตอนของห่วงโซ่มูลค่า จึงจะสามารถนำเอาข้อมูลนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง โครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพและความคล่องตัวสูง นับเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการสร้างผลลัพธ์ที่น่าทึ่งของวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) และเอไอ

เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว องค์กรจำเป็นต้องทำทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยอาศัยข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อน (Data-Driven Transformation) จากประสบการณ์ ฟูจิตสึพบว่าองค์กรส่วนใหญ่ มักประสบปัญหาช่วงเริ่มต้น ทั้งที่รู้ว่าทรัพยากรข้อมูลมีมูลค่าบางอย่างซ่อนอยู่ภายใน เพราะงานที่ต้องทำเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ ประเด็นสำคัญเช่น การปกป้องข้อมูลที่มีค่าไม่ให้สูญหาย โดยต้องดำเนินมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เหมาะสม รวมถึงให้ความสำคัญในการปรับใช้เทคโนโลยีเอไอ และวิทยาศาสตร์ข้อมูลเพื่อกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึกสำหรับธุรกิจ