เอไอเอสยกระดับ 'คนไทยไร้ E-Waste' สู่วาระแห่งชาติ

เอไอเอสยกระดับ 'คนไทยไร้ E-Waste' สู่วาระแห่งชาติ

ผนึก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชวนคนไทย ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ อย่างถูกวิธี พร้อมเดินหน้าสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมองค์กรภาคี-ภาคประชาชน ขยายจุดรับทิ้งครอบคลุมทั่วประเทศ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นในประเทศมีมากกว่า 4 แสนตันต่อปี แต่มีการเก็บรวบรวมและนำไปจัดการอย่างถูกต้องเพียง 500 ตัน ส่วนที่เหลือจะถูกเก็บไว้ตามบ้านเรือน ขายเป็นสินค้ามือสอง ขายให้รถเร่ ซาเล้ง อีกทางหนึ่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ดังนั้น รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งที่เกิดขึ้นในประเทศและที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีมุมมองว่าการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาให้ประสบผลสำเร็จต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ประชาสังคม ภาคการศึกษา และภาคีเครือข่าย

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมพลังสร้างเครือข่าย “คนไทยไร้ E-Waste” โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างการตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ผ่าน 2 ความร่วมมือหลักประกอบด้วย การขยายจุดวางถังรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ณ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด หรือ ทสจ. ทั่วประเทศ

พร้อมกันนี้ ร่วมกับอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน หรือ ทสม. เพื่อเป็นตัวแทนสื่อสาร สร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการจัดเก็บและทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้อง

ปัจจุบันโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” มีองค์กรภาคีกว่า 130 องค์กร ประชาชนสามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งประกอบไปด้วย โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต, แบตเตอรี่มือถือ, พาวเวอร์แบงก์, สายชาร์จ, หูฟัง ไปทิ้ง ได้ ณ จุดบริการของเอไอเอสและของภาคีเครือข่ายซึ่งปัจจุบันมีอยู่มากกว่า 2,300 จุดทั่วประเทศ

ที่ผ่านมา สามารถรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้จำนวนกว่า 6.3 ตัน หรือ 1.2 แสนชิ้น ซึ่งทางเอไอเอสได้นำส่งให้กับ บริษัท เทส จำกัด ผู้เชี่ยวชาญในการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำไปกำจัดอย่างถูกวิธีด้วยกระบวนการ “Zero Landfill (การจัดการขยะทำให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ให้เกิดมูลค่าได้อีกครั้ง)”

สำหรับสถานที่ทิ้งยอดนิยมประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้า ออฟฟิศ ไปรษณีย์ไทย ตามลำดับ และที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจคือคอนโดมีเนียมซึ่งทางเอไอเอสร่วมมือไปแล้วกว่า 40 แห่ง เฟสต่อๆ ไปหวังว่าจะสามารถขยายต่อไปได้ถึงระดับหมู่บ้าน 7 หมื่นแห่งทั่วประเทศ

รายงานสถานการณ์ของเสียอันตรายจากชุมชนโดยกรมควบคุมมลพิษ ปี 2562 ระบุว่าประเทศไทยมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) 4 แสนตัน ส่วนในระดับโลกเมื่อปี 2562 มีรายงานว่าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์สูงถึง 53.6 ล้านเมตริกตัน มีการใช้งานต่อคนถึงคนละ 7.3 กิโลกรัม แต่ทั้งนี้ที่ได้รับการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีมีเพียง 17.4% หรือ คิดเป็น 9.3 ล้านเมตริกตันเท่านั้น หากต่อไปสามารถขยับไปเป็น 20-25% ได้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากแล้ว