20 ปี 'เทคโนโลยีจากอวกาศ' ในมือ GISTDA

20 ปี 'เทคโนโลยีจากอวกาศ' ในมือ GISTDA

GISTDA ดึงประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ 20 ปี ทางด้านข้อมูล เทคโนโลยีและกำลังคน เดินหน้าประเทศไทยด้วย 'เทคโนโลยีจากอวกาศ'

 กว่า 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดภัยพิบัติในด้านต่างๆ หลายครั้ง ทั้งน้ำท่วม ไฟป่า PM2.5 หรือแม้กระทั่งภัยพิบัติทางทะเล เราบันทึกทุกเหตุการณ์เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วย “ภาพถ่ายดาวเทียม”  ชื่อของ “GISTDA” หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงเริ่มเป็นที่รู้จักหรือคุ้นหูมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมในการติดตามสถานการณ์ต่างๆ และบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน 


เมื่อโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน องค์กรและหน่วยงานต่างๆ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัพใหม่ เพื่อก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านนโยบายประเทศ การเข้าถึง การแข่งขัน การตลาดและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทุกองค์กรไม่สามารถหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้ GISTDA ก็เช่นเดียวกันจะต้องปรับบทบาทเข้าสู่การพัฒนา solution ให้กับประเทศ แม้ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนแบบก้าวกระโดด แต่ด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 สิ่งที่เรามี คือ ข้อมูล เทคโนโลยี และกำลังคน ถือเป็นกลไกที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศอย่างเต็มสูบ

160407265259
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ตั้งแต่นี้ต่อไปเราต้องมองไปอีก 20 ปีข้างหน้าว่า โลกกำลังจะไปในทิศทางไหน หลายประเทศมหาอำนาจทางเทคโนโลยีอวกาศพยายามจะใช้ประโยชน์จากห้วงอวกาศมากยิ่งขึ้นในหลากหลายด้าน ทั้งเรื่องของการค้นหาที่อยู่ใหม่ ถิ่นฐานใหม่ ค้นหาทรัพยากรใหม่ให้กับมนุษย์โลก รวมถึงการใช้ประโยชน์ในด้านธุรกิจจากห้วงอวกาศ ทุกคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า “อวกาศเป็นของมนุษย์โลก” เป็นของทุกๆคน ไม่ได้เป็นของประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้น GISTDA ในฐานะองค์กรภาครัฐที่มีหน้าที่หลักในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย มีหน้าที่จะต้องดูว่า โอกาสในการใช้พื้นที่จากอวกาศเป็นอย่างไรบ้าง ในอีก 20 ปีข้างหน้า GISTDA ได้วางเป้าหมายไว้ชัดเจน ซึ่งประการแรกต้องเน้นช่วยประเทศในการดูทิศทางของเทคโนโลยีอวกาศ ประการที่ สอง จะเป็นเรื่องของอวกาศและ GIS ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน 


ในด้านเทคโนโลยีอวกาศ ทุกคนทราบดีว่า GISTDA มีโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ THEOS-2 ซึ่งในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า เราจะได้ใช้ประโยชน์จากระบบ THEOS-2 ตามที่ได้วางแผนไว้และเน้นหนักในเรื่องของการนำระบบ THEOS-2 มาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ทั้งในเรื่องของตัวดาวเทียม ภาพถ่ายดาวเทียม ระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายที่เชื่อมโยงกับระบบ THEOS-2 ไม่ว่าจะเป็นอาคารประกอบและทดสอบดาวเทียม ระบบงาน ระบบรับสัญญาณ และอื่นๆ จากนั้นเชื่อมโยงกับแอปพลิเคชั่น AIP (Actioable Intelligence Policy Platform) เพื่อช่วยให้เกิดการบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายในอนาคตประกอบการดำเนินงานในเชิงพื้นที่

160407268275  


รวมถึงในขณะนี้เราได้เตรียมการวางแผนทางด้านธุรกิจเพื่อให้บริการข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมในระดับนานาชาติ สร้างพันธมิตรในระดับนานาชาติ นอกจากสร้างงานแล้ว สิ่งสำคัญอย่างมากคือการสร้างคน สร้างบุคลากรควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะบุคลากรที่ผ่านการฝึกฝนอย่างหนักจากโครงการระบบ THEOS-2 จากต่างประเทศ ซึ่งพวกเขาเหล่านี้จะต้องนำองค์ความรู้ต่างๆ มาต่อยอดและถ่ายทอดให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนในประเทศไทยของเรา โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในด้านอวกาศได้มีความรู้ และเพิ่มทักษะในกระบวนงานด้านอวกาศมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมคนไทยในศตวรรษที่ 21 ด้วย

อวกาศเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทยที่จะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศในทุกๆ มิติ ซึ่งหากมองโดยภาพรวมแล้ว สิ่งที่ GISTDA จะต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้ คือ

1) การศึกษาโอกาสทางธุรกิจ เราจะต้องทำการวิเคราะห์ว่าสามารถทำอะไรได้บ้างในเรื่องของอวกาศ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ การลงทุน ความคุ้มค่า และต้องศึกษาถึงความเป็นไปได้ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า รวมไปถึงการเตรียมความพร้อม การวางแผน และการดึงดูดพันธมิตรหน้าใหม่ในวงการอวกาศเพื่อสร้างความร่วมมือกันในอนาคต 

160407270066

2) สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน เพื่อให้ทราบถึงความสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศว่าสามารถสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยของเราได้อย่างไรบ้าง ซึ่งการสร้างความตระหนักนี้เกิดจากบุคลากรที่เราสร้างขึ้นมาจากหน่วยงานภาครัฐที่ไปร่วมมือกับโครงการระบบ THEOS-2  และจากผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ โดย GISTDA จะเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมความร่วมมือ สร้างเครือข่ายผู้มีความรู้ด้านอวกาศให้มากที่สุดเพื่อที่จะกระจายองค์ความรู้เหล่านี้ไปสู่ท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

3) สร้างคน ซึ่งจะต้องเริ่มต้นจากระดับมัธยมศึกษาจนถึงมหาวิทยาลัย คิดค้นและพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถนำมาบูรณาการและต่อยอดได้ เช่น การเขียนโปรแกรมการสื่อสารระหว่างดาวเทียมกับบนพื้นโลก หรือความร่วมมือต่างๆที่เกี่ยวข้องกับอวกาศซึ่งมีหลากหลายด้านที่เราจะต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับอนาคตของประเทศไทย ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าหลักสูตรในระดับมัธยมศึกษาก็เริ่มบรรจุความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการสร้างดาวเทียมบ้างแล้ว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเน้นย้ำให้เนื้อหาหลักสูตรมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยระยะแรกไม่จำเป็นต้องเน้นวิชาการมากนัก แต่ต้องเป็นหลักสูตรที่สามารถสร้างจินตนาการเพื่อให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจได้ หรือมีแหล่งเงินทุนที่จะสนับสนุนให้เด็กๆ สามารถสร้างและประกอบดาวเทียมเองได้ เป็นต้น 

160407271749

4) การส่งเสริมการกำกับในภาครัฐ ภาคเอกชน และต่างประเทศ ที่ต้องการมาใช้ประโยชน์จากอวกาศในประเทศไทย ซึ่งในขณะนี้เรามีการเตรียมการในการร่าง พ.ร.บ.กิจการอวกาศอยู่แล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมเสนอ ครม. เพื่อพิจารณา ก็จะ สามารถนำมาช่วยส่งเสริมในการกำกับการดำเนินงานในอนาคตได้ รวมถึงรองรับอุตสาหกรรมอวกาศและกิจการอวกาศที่จะเกิดขึ้นภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องและเตรียมรับมือกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศได้อีกด้วย

สำหรับด้านความร่วมมือกับต่างประเทศก็จะดำเนินการควบคู่กันไปกับทุกๆ ด้านอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ไม่ใช่เทคโนโลยีที่เราคิดค้นขึ้นมาเอง ดังนั้น จึงมีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา เป็นเทคโนโลยีที่มีราคาสูง ฉะนั้น ในด้านความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนทรัพยากร ผู้ที่มีองค์ความรู้ รวมไปถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ จึงมีความสำคัญและจำเป็นมากที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวหน้าไปสู่ระดับสากล

160407274133

GISTDA จึงให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับต่างประเทศ เพราะประเทศไทยมีเทคโนโลยีเหล่านี้มาถึงทุกวันนี้ได้ก็มาจากความร่วมมือกับต่างประเทศ ทั้งในเรื่องของดาวเทียม GIS และรีโมทเซนซิ่ง ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นระดับทวิภาคี หรือระดับองค์กร ฟอรั่มต่างๆ เราให้ความสำคัญทั้งหมด ประเทศไทยของเรามีจุดเด่นหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศที่ดีที่สุดในอาเซียน เศรษฐกิจที่ดี บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศอื่นๆ ดังนั้น GISTDA จึงตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำและแกนหลักที่จะผลักดันในเรื่องนี้ เพื่อให้ยืน 1 ในภูมิภาคอาเซียนให้ได้ จากนั้นภายใน 3-5 ปี เราจะเขยิบไปในระดับเอเชีย และนานาชาติให้ได้เช่นกัน


จากนี้ไป GISTDA จะเร่งเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศต่อไปอย่างเต็มกำลัง พร้อมกับการขยายกลุ่มผู้ใช้งานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศไปสู่ภาคสังคม ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งพัฒนารูปแบบข้อมูลและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการกลุ่มผู้ใช้งานธุรกิจในกลุ่มต่างๆ  ตลอดจนทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ผลักดัน Co-creation ในทุกภาคส่วนบนพื้นฐานของความโปร่งใสตรวจสอบได้ ณ วันนี้ เทคโนโลยีอวกาศไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว และยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญให้กับประเทศในการสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ให้ดียิ่งขึ้น สามารถเข้าถึงกลุ่มรากหญ้านำไปสู่การจ้างงาน เกิดการนำเงินทุนเข้าประเทศไทย 

160407281733
สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทยในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า ดังนั้น GISTDA ในฐานะองค์กรหลักของประเทศในด้านกิจการอวกาศ จึงต้องกำกับ ดูแล ศึกษาหาช่องทาง หาโอกาสในเรื่องของกิจการอวกาศอย่างรอบคอบในทุกๆ บริบท และต้องให้ความสำคัญกับทำงานแบบมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน รวมถึงมีเครือข่ายพันธมิตรกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาของประเทศที่มีอยู่มากมายหลายมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด.