โอกาสเด็กไทย!แข่งชิงพื้นที่ควบคุมหุ่นยนต์อวกาศของ NASA

โอกาสเด็กไทย!แข่งชิงพื้นที่ควบคุมหุ่นยนต์อวกาศของ NASA

สวทช. ร่วมกับองค์การอวกาศระดับโลก JAXA และ NASA พร้อมหน่วยงานพันธมิตร เปิดตัวโครงการแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์อวกาศ เฟ้นหาสุดยอดเยาวชนไทย ร่วมชิงชัยระดับเอเชียที่ญี่ปุ่น

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ องค์กรสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่น หรือแจ็กซ่า (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือนาซา (National Aeronautics and Space Administration : NASA) และหน่วยงานพันธมิตร แถลงข่าวเปิดตัว “โครงการแข่งขัน Space Flying Robot Programming Challenge 2020” ซึ่งได้จัดแข่งขันขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยในทุกระดับชั้นการศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรี เข้าร่วมการแข่งขัน โดยมีรางวัลรวมมูลค่ากว่า 200,000 บาท มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยในด้านสะเต็ม เตรียมบุคลากรให้พร้อมกับนโยบายประเทศไทย 4.0

158254918582


นางจุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ร่วมกับ องค์กรสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่น หรือแจ็กซ่า (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือนาซา (National Aeronautics and Space Administration : NASA) และหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน), สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), สมาคมอากาศยานไร้คนขับแห่งประเทศไทย, สมาคมยุวชนอวกาศไทย, Drone Academy Thailand, บริษัท สเปซแซ่บ จำกัด, SPACETH.CO, H&M และ Pantip Pratunam ได้ร่วมกันจัด โครงการแข่งขัน Space Flying Robot Programming Challenge 2020

เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทย ในการพัฒนาขีดความรู้ความสามารถด้านสะเต็มศึกษา และเตรียมทรัพยากรบุคคลให้มีความพร้อมสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่ง สวทช. ได้รับเกียรติให้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทย โดยเปิดรับใบสมัครจนถึงวันที่ 19 มี.ค. 2563 และคัดเลือกหาทีมชนะเลิศเป็นตัวแทนทีมเยาวชนจากประเทศไทย จำนวน 1 ทีม ในวันที่ 28 พ.ค. 2563 เพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน Kibo Robot Programming Challenge 2020 รอบชิงแชมป์เอเชีย ณ Tsukuba Space Center ประเทศญี่ปุ่น ในเดือน ก.ย.2563 ต่อไป

ด้าน นายนำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช. กล่าวว่า ทีมที่จะสมัครเข้าร่วมการแข่งขันต้องมีสมาชิก จำนวน 3 คน ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ไม่เกินระดับปริญญาตรี ส่งใบสมัครมายังโครงการฯ ภายในวันที่ 19 มีนาคม 2563 สำหรับระบบเกมผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะต้องสร้างโปรแกรมขึ้นมา เพื่อควบคุมหุ่นยนต์แอสโตรบี ในระบบ Simulation โดยใช้ Android Application ที่เขียนด้วยภาษา JAVA ให้เคลื่อนที่จากจุดเริ่มต้น ไปยังพื้นที่ที่กำหนด โดยจะต้องเคลื่อนเข้าไปอ่าน QR Code ตามจุดที่กำหนด และเคลื่อนไปยิงเลเซอร์ที่เป้าหมายสุดท้าย ซึ่งคะแนนการแข่งขันจะคำนวณจากความแม่นในการยิงเลเซอร์สู่เป้าหมายของหุ่นยนต์แอสโตรบี และเวลาที่ใช้ในการปฎิบัติภารกิจ ซึ่งทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันสามารถเข้าไปทดลอง Run Code ที่เขียนขึ้นมาได้ที่ Server ของการแข่งขัน https://jaxa.krpc.jp สำหรับกำหนดการแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทย จะจัดขึ้นในวันที่ 28 พ.ค.2563

158254922325

นายโรเบอร์โต้ คาร์ลิโน่ วิศวกร NASA Ames Research Center กล่าวเสริมว่า สำหรับหุ่นยนต์ที่ใช้ในการแข่งขันในครั้งนี้ คือหุ่นยนต์แอสโตรบี (Astrobee) คือหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศที่ใช้งานอยู่จริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ คอยสนับสนุนและช่วยเหลือการทำงานของนักบินอวกาศ พัฒนาโดย NASA Ames Research Center ซึ่งเป็นหน่วยงานของนาซาที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาเทคโนโลยีระบบคอมพิวเตอร์ขั้นสูง และเทคโนโลยีที่ใช้กับยานอวกาศ

158254944476

นายโอะโนะ อะสึชิ ผู้อำนวยการ JAXA Bangkok Office กล่าวว่า โครงการความร่วมมือครั้งใหม่จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญของทีมชนะเลิศตัวแทนประเทศไทย ที่จะได้เดินทางไป Tsukuba Space Center ประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์แอสโตรบีของจริง ร่วมกับเพื่อนเยาวชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยมีนักบินอวกาศที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ เป็นผู้ควบคุมการแข่งขัน และมีการถ่ายทอดสดลงมายังพื้นโลกอีกด้วย

ผู้สนใจติดตามข้อมูลและสมัครเข้าร่วม โครงการแข่งขัน Space Flying Robot Programming Challenge 2020” ได้ที่เว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/jaxa-thailand หรือแฟนเพจ JAXA Thailand