จุดเปลี่ยน ‘โทรคมไทย’ บนความท้าทาย ยุค 5จี

จุดเปลี่ยน ‘โทรคมไทย’ บนความท้าทาย ยุค 5จี

โครงสร้างพื้นฐานและการดำเนินงานมีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จ

การมาถึงของเทคโนโลยี 5จี สร้างความคาดหวังอย่างมากในประเทศต่างๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคาดหวังต่อนวัตกรรมที่มีศักยภาพที่จะเป็นไปได้ต่อเมื่อมี 5จี เข้าสู่ภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม

พิเชฏฐ เกตุรวม ผู้จัดการภูมิภาคอินโดจีน เวอร์ทีฟ กล่าวว่า บริษัทด้านโทรคมนาคม รวมถึงสื่อและเทคโนโลยีต่างต้องการที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เทคโนโลยี 5จี นั้นเอื้อประโยชน์ ช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันจากการเป็นผู้บุกเบิกตลาด

“5จี จะมีพลังมากพอที่จะเข้ามาสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ได้หรือไม่ คำตอบอาจไม่เป็นเช่นนั้น ขณะนี้พบว่าในประเทศไทยบริษัทโทรคมนาคมเริ่มลังเลที่จะลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมาก”

ขณะที่ภาครัฐพยายามสนับสนุนให้ความช่วยเหลือ ด้วยการใช้มาตรา 44 ที่ทำให้ทั้งผู้ให้บริการ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน และมีช่องว่างในการปรับตัวให้เข้ากับเศรษฐกิจดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

  • มองให้ลึกเกินกว่าฉากหน้า

เขากล่าวว่า การที่จะเข้าใจว่าโอกาสของ 5จี อยู่ที่ใด ต้องเข้าใจความท้าทายอันซับซ้อนที่ต้องเผชิญเสียก่อน เนื่องด้วยโทรคมนาคมเป็นวงการที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา แข่งขันสูง รายได้ไม่หวือหวา มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น ได้รับผลกระทบต่อรายได้ต่อหนึ่งผู้ใช้ (ARPU) ด้านผู้บริโภคต้องการใช้ข้อมูลมากขึ้นในราคาคงที่ ขณะเดียวกันบริการโทรคมนาคมหลักเช่นการโทรการส่งข้อความและการโทรผ่านวีดิโอกำลังถูกกัดเซาะโดยผู้เล่นโอทีทีเช่นเฟซบุ๊ค,ไลน์ ฯลฯ

"ทุกวันนี้การพังทลายของบริการไม่ได้เป็นเพียงจุดเดียวที่บริษัทโทรคมนาคมกำลังถูกคุกคามจากผู้เล่นโอทีที โดยเฉพาะจากกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีอย่างเฟซบุ๊ค, อะเมซอน, เน็ตฟลิกซ์ กูเกิล หรือ กลุ่ม “FANGs” ตามที่รู้จักกันโดยทั่วไป"

บริษัทเหล่านี้ ได้สร้างบริการที่เป็นนวัตกรรมใหม่อย่างกว้างขวาง โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่มีอยู่ เมื่อพูดถึงเนื้อหาวีดิโอ การชอปปิง หรือการสื่อสารแบบดั้งเดิมแล้ว ผู้เล่นรุ่นใหม่เหล่านี้เป็นเจ้าของส่วนลูกค้าสัมพันธ์ ซึ่งลดบริษัทโทรคมนาคมให้เหลือเพียงกระบวนการทางสินค้าที่มีกำไรต่ำเท่านั้น

  • ลงทุนยกระดับ ’5จี-ไอโอที’

พิเชฏฐ ชี้ว่า เมื่อคำนึงถึงปัจจัยเบื้องต้นนี้ ธุรกิจโทรคมนาคมต้องการความเข้าใจที่ชัดเจนว่านวัตกรรม 5จี สามารถช่วยพวกเขาฟื้นฟูความมั่งคั่งได้อย่างไร ด้วยการอัพเกรดเครือข่ายเพื่อใช้ความสามารถ 5จี อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่ทั้งนี้เรื่องนี้นับเป็นงานที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง จึงต้องมีตัวอย่างทางธุรกิจที่ชัดเจนในการลงทุน

อย่างไรก็ดี เป็นครั้งแรกและครั้งสำคัญที่สุดสำหรับ 5จี ที่จะทำให้อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) ถูกใช้งานเพิ่มขึ้น ซึ่งสำหรับบริษัทโทรคมนาคมแล้วย่อมหมายถึงโอกาสในการเติมเต็มเครือข่าย ซึ่งมีการพิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยจำนวนลูกค้ารายใหม่ที่น้อยลงมาก ทว่าเมื่อผู้บริโภคต่างเชื่อมโยงอุปกรณ์ล้ำๆ หลายตัวกับเครือข่าย ศักยภาพในการเติบโตจะยิ่งใหญ่เป็นปรากฎการณ์

เขากล่าวว่า เพื่อใช้ประโยชน์จากโอกาส 5จี โครงสร้างพื้นฐานและการดำเนินงานจะมีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จ องค์ประกอบทั้งหมดของเครือข่ายจะต้องดำเนินการอย่างดีที่สุดและทันสมัยที่สุดเพื่อให้สามารถรองรับ 5จี ในอนาคต ขณะเดียวกันมีการเติบโตและผลกำไรภายใต้ต้นทุนการดำเนินงานที่สมเหตุสมผล

  • เสริมแกร่งเครือข่ายเพิ่มโอกาส

ในการที่ 5จี จะทำกำไรและคุ้มค่าจะต้องมีการปรับปรุงและการปรับแต่งวิธีการจัดการเครือข่ายรวมถึงดาต้าเซ็นเตอร์ มีการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย บริษัทโทรคมนาคมจะต้องคำนึงถึงอีกครึ่งหนึ่งของชิ้นส่วนที่หายไปซึ่งก็คือการจัดการต้นทุน

โดยทั่วไปแล้วพลังงานเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงสุดสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวก และค่าใช้จ่ายนั้นสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากความหนาแน่นของไซต์ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับปริมาณข้อมูลเพิ่มเติมที่สร้างโดย 5จี

ดังนั้นการลงทุนรูปแบบ “Energy Saving as a Service (EsaaS)” จะเป็นตัวเลือกใหม่ที่ควรพิจารณา เนื่องจากสามารถล็อคการประหยัดพลังงานในหลายๆ ไซต์ ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน พร้อมสร้างความมั่นใจด้านการตรวจสอบ บำรุงรักษา และการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

“เบื้องหลังความคาดหวังต่อ 5จี มุมหนึ่งได้นำเสนอโอกาสที่ชัดเจน และมีความสำคัญด้านกลยุทธ์สำหรับบริษัทโทรคมนาคม ซึ่งพยายามที่จะกำหนดบทบาทของตนเองในตลาดที่มีผู้เล่นหนาแน่น”

ผู้บริหารเวอร์ทีฟระบุว่า การเอาชนะความท้าทายด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการปฏิบัติการนั้นสำคัญพอๆ กับการใช้ประโยชน์จากโอกาส 5จี ทั้งสองส่วนจะต้องจับมือเดินหน้าไปพร้อมกัน หากบริษัทโทรคมในไทยต้องการปลดล็อค สร้างรายได้ใหม่เพิ่มขึ้น