ผ่ากลยุทธ์ “เทนเซ็นต์” ดันไทย “ฮับสตรีมมิ่ง” อาเซียน

ผ่ากลยุทธ์ “เทนเซ็นต์” ดันไทย “ฮับสตรีมมิ่ง” อาเซียน

คนไทยนิยมฟังเพลงผ่านสตรีมมิ่งบนสมาร์ทโฟนมากกว่า93% คนฟังจะใช้เวลาอยู่บนจู๊กซ์เฉลี่ยวันละ 90 นาที

ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักร “เทนเซ็นต์” ตีคู่สูสีมากับ “อาลีบาบา” ทั้งคู่ถือเป็นยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตที่ผลัดกันครองบัลลังก์เบอร์1ใน “จีน” เทนเซ็นต์ ก่อตั้งโดยมหาเศรษฐี “โพนี่ หม่า” วางเป้าสร้างบริการตอบโจทย์ทุกกิจกรรมหลักที่ชาวออนไลน์จีนนิยมทั้งแชท ฟังเพลง เล่นเกม ดูวิดีโอ อ่านข่าวสาร ผ่านบริการต่างๆ เช่น วีแชท เทนเซ็นต์มิวสิค เทนเซ็นต์เกม เทนเซ็นต์วีดีโอ และบริการอีกมากมายรวมถึง วีแชท เพย์ ที่ฮิตมากในจีน ส่งผลให้เทนเซ็นต์เป็นเจ้าแห่งบริการดิจิทัลในจีน และต่อยอดธุรกิจจนสามารถขยายวีแชทได้มากกว่า 1,098 ล้านคนทั่วโลก

สำหรับตลาดประเทศไทย ปีนี้ เทนเซ็นต์เลือกปักหมุดในไทยด้วยการเปิดตัวบริการใหม่ๆ ก่อนประเทศอื่น เดินตามแผนเจาะกิจกรรมออนไลน์ของ “คน” เทนเซ็นต์เริ่มเข้ามาทำตลาดในไทย ด้วยการเข้าซื้อ “สนุกดอทคอม” และสร้างคอมมูนิตี้จนสนุกกลายเป็นเว็บในตำนานที่ฆ่าไม่ตาย และยืนหนึ่งในกลุ่มเว็บพอร์ทัลเบอร์ 1 ของไทย

จากนั้นเมื่อ “โอกาส” และจังหวะเวลาเปิด ขณะที่ ข้อมูลที่ชี้ว่า คนไทยใช้เวลาอยู่บนอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 9 ชั่วโมง 11 นาที และใช้เวลา 3 ชั่วโมง 44 นาที ดูทีวีสตรีมมิ่ง และวิดีโอ ขณะที่ผู้ใช้เน็ตถึง 98% ที่ดูวิดีโอออนไลน์ 53% ดูสตรีมมิ่ง เซอร์วิส ทั้งพบว่า ผู้ใช้งาน 60% นิยมดูทีวีออนไลน์ และ 40% ดูหนัง เทนเซ็นต์ ก้าวเข้าสู่ผู้ให้บริการ“สตรีมมิ่ง เอ็นเตอร์เทนเมนท์” เต็มตัว ด้วยบริการเรือธงอย่าง “จู๊กซ์” (JOOX) และรุกเข้าตลาดเกมบนมือถือจนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันกีฬาอีสปอร์ตในไทยภายใต้เกมฮิตชื่อแปลก “พับจี” (PUBG)

กลุ่มธุรกิจเหล่านี้สร้างรายได้ให้เทนเซ็นต์มากกว่า 70-80% สร้างฐานผู้ใช้ในไทยได้มากกว่า 30 ล้านคน

20190910_๑๙๐๙๑๐_0007

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า รายได้ของเทนเซ็นต์ในไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับ 400 ล้านบาท สู่ 700 ล้านบาท และล่าสุดปี 2561 เทนเซ็นต์ ประเทศไทยมีรายได้รวม 1,076 ล้านบาท มีความพร้อมก้าวสู่ “ฮับสตรีมมิ่ง” แห่งอาเซียน เป้าหมายสำคัญของเทนเซ็นต์ต้องการขยายความบันเทิงดิจิทัล เพลง หนัง และเกม ให้ครอบคลุมภูมิภาคนี้

วางเทนเซ็นต์ไทย“ฮับ”อาเซียน

“กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “กฤตธี มโนลีหกุล” ผู้บริหารหนุ่มรุ่นใหม่กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) ถึงทิศทางธุรกิจจากนี้ เขาเผยว่า เป้าหมายของเทนเซ็นต์ ต้องการใช้ “ไทย” เป็นฮับปูทางเพื่อรุกตลาดไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียน ก้าวสู่ เทนเซนต์ เซาท์อีสต์เอเชีย หรือ Tencent SEA ปัจจุบัน จู๊กซ์ เป็นบริการยอดนิยมที่เปิดตัวให้บริการแล้วในเมียนมาร์ รวมถึง อินโดนีเซีย และพร้อมขยายไปยังทั่วภูมิภาค เช่นเดียวกับ สนุกดอทคอม ที่นำร่องไปสร้างความม่วนยังประเทศ สปป.ลาว ภายใต้ชื่อ “ม่วน ดอทคอม” (muan.sanook.com)

“ที่พม่า จู๊กซ์กลายเป็นบริการฟังเพลงสตรีมมิ่งอันดับ 1 ของที่นั่น ส่วนที่อินโดนีเซียก็เติบโตเป็นอย่างดี”

กฤตธี เล่าพร้อมทั้งบอกว่า การเลือกตลาดในอาเซียน และบริการที่จะเข้าไปทำตลาด เน้นว่าประชากรในประเทศนั้นต้อง "อิน" กับการชำระบริการผ่านออนไลน์ ขณะที่ดูว่าบริการไหนน่าจะเหมาะกับคนในประเทศนั้นๆ แต่ละประเทศที่เข้าไปทำตลาดจบริการจะปรับสไตล์ให้เข้ากับท้องถิ่น ปัจจุบัน เทนเซ็นต์ มีสำนักงานอยู่ที่มาเลเซีย และอินโดนีเซียแล้ว ขณะที่มีทีมงานที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติทำงานในเทนเซ็นต์ประเทศไทยเพิ่มขึ้น

"ยกตัวอย่าง เมียนมาร์ มีทีมเอดิเตอร์เมียนมาร์ นั่งทำงานที่เทนเซ็นต์ ประเทศไทย จัดเพลงของจู๊กซ์สำหรับคนเมียนมาร์โดยเฉพาะ ขณะที่อินโดนีเซีย เรามีออฟฟิศที่นั่น และมีโลคัล เอดิเตอร์ นอกจากนี้ เรามี แมชชีน เลิร์นนิ่งที่สามารถรู้ว่าผู้ฟังแต่ละคน ฟังเพลงอะไร เพื่อแนะนำคอนเทนต์ที่ตรงกับความต้องการของเขา”

20190910_๑๙๐๙๑๐_0008

“จู๊กซ์”ขับเคลื่อนรายได้หลัก

สำหรับตลาดไทย จู๊กซ์ คือ หัวหอกและเป็นเบอร์ 1 ของบริการมิวสิค สตรีมมิ่ง ยอดดาวโหลดใกล้ 100 ล้านดาวน์โหลดเข้าไปทุกที (70 ล้านดาวน์โหลด ณ ปัจจุบัน) และเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนรายได้หลัก ปัจจุบันเทนเซ็นต์ในไทยมี 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มนิวส์ และพอร์ทัลที่มีเว็บชูโรง คือ สนุกดอทคอม 2.กลุ่มเอ็นเตอร์เทนท์เม้นท์และมัลติมีเดีย จู๊กซ์อยู่ในกลุ่มธุรกิจนี้ ร่วมกับบริการวีทีวี (WeTV) และเทนเซ็นต์เกม 3.กลุ่มบริการ เช่น เทนเซ็นต์คลาวด์, ท็อปสเปซ ดิจิทัล เอเจนซี่, วีแชทเพย์ และเทนเซนต์ โซเชียลแอด

กฤตธี กล่าวว่า การฟังเพลงผ่านสตรีมมิ่ง กลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์คนไทย และทั่วโลก มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องคนนิยมฟังเพลงผ่านสมาร์ทโฟนมากถึง 75% ตลาดเพลงในไทยถือว่ามีแนวโน้มเติบโตสูงมาก ดูจากยอดสตรีมบนจู๊กซ์ที่มีมากกว่า 3 พันล้านครั้ง มิวสิคคอนเทนท์ใหม่ๆ และเอ็มวี ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดผู้ฟัง และเทนเซ็นต์ต้องการให้ จู๊กซ์ เป็นพื้นที่แห่งความบันเทิงด้านเสียงเพลง เพื่อตอบสนองทุกคนในอุตสาหกรรมเพลง

ขณะที่ จู๊กซ์ ให้ข้อมูลว่า 6.6 พันล้านดอลลาร์ คือ รายได้ของสตรีมมิ่งเมื่อปี 2560 ที่สร้างให้กับอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลก ซึ่งแซงหน้าอุตาหกรรมเพลงในแบบธรรมดาไปแล้ว ขณะที่ รายได้ทั่วโลกจากบริการสตรีมมิ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ปีนี้คาดการณ์ว่า ตัวเลขเหล่านี้จะขยับขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว

นอกจากนี้ คนนิยมฟังเพลงผ่านสตรีมมิ่งบนสมาร์ทโฟนมากขึ้นคิดเป็นตัวเลขมากกว่า 93% คนฟังจะใช้เวลาอยู่บนจู๊กซ์ เฉลี่ยวันละ 90 นาที ซึ่ง 70% ใช้งานระหว่างเดินทางบนรถ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่มี 66% และยังฟังขณะเดินเท้าอีกกว่า 60% กลุ่มคนอายุ 18-34 ปี เป็นกลุ่มที่ฟังมากที่สุด

20190910_๑๙๐๙๑๐_0009_1

กลยุทธ์“โอทูโอ”สร้างแฟนคลับ

ปัจจัยที่ทำให้คนไทยหันมาฟังเพลงผ่านมิวสิกสตรีมมิ่งมากขึ้น เนื่องจากความเร็วของสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันมีแนวโน้มที่ฟังเพลงมากกว่าดาวน์โหลดเก็บไว้เพื่อเป็นเจ้าของ

จู๊กซ์ เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่เติบโตมาก ท่ามกลางโลกของความบันเทิงแบบดั้งเดิมค่อยๆ หดตัวลง และถูกแทนที่ด้วยรูปแบบดิจิทัล ส่งผลให้อุตสาหกรรมเพลง หรือแม้แต่ความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ วิ่งเข้าหาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ตอบโจทย์พฤติกรรมการเสพความบันเทิงในยุคนี้ได้มากกว่า

กฤตธี กล่าวว่า จุดเด่นบริการสตรีมมิ่งของเทนเซ็นต์ มาจากการเปิดกว้างทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ จู๊กซ์ทำงานร่วมกับศิลปินเพื่อสร้างคอนเทนท์ที่ผู้ใช้งานที่ไม่สามารถหาฟังได้ที่อื่น รวมถึงกิจกรรมพิเศษ เช่น งาน JOOX Thailand Music Awards (JTMA) ที่จัดขึ้น 3 ปีติดต่อกัน กลายเป็นงานประกาศรางวัลทางดนตรีที่ใหญ่ที่สุดและสร้างมาตรฐานใหม่ให้อุตสาหกรรมดนตรี

“ปลายปีนี้เราจะมีงาน Thailand Top 100 by JOOXคอนเสิร์ตครั้งยิ่งใหญ่ปลายปีรวบรวมศิลปินที่ได้รับความนิยมทั้งปีไว้ในเวทีเดียวกัน เห็นได้ว่าจุดเด่นของจู๊กซ์คือ การสร้างประสบการณ์แบบโอทูโอ (O2O) หรือออฟไลน์และออนไลน์อย่างแท้จริงให้กับผู้ใช้งานของเรา”

ขณะที่ จู๊กซ์ปีนี้ จะมุ่งบุกตลาดนอกกรุงเทพฯ ด้วย พร้อมทัั้งเสริมแกร่งฟีเจอร์คาราโอเกะที่มีแนวโน้มความนิยมสูงขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาระบบสตรีมมิ่งให้ทำงานอย่างลื่นไหล

ดันวีดีโอสตรีมมิ่ง-คลาวด์

กฤตธี กล่าวต่อว่า นอกจากจู๊กซ์ ปีนี้จะเห็นการผลักดันบริการใหม่ที่เพิ่มเปิดตัวไปอย่าง "วีทีวี" หรือบริการวีดีโอสตรีมมิ่งผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น โดยเน้นผนึกพันธมิตรนำคอนเทนท์คุณภาพมาให้บริการ รวมถึงผู้ผลิตคอนเทนท์ชั้นนำในไทยอย่างช่องวัน31 ค่ายจีดีเอช รวมถึงอินไซท์ เทคโนโลยี

วีทีวี คือหนึ่งในบริการที่เทนเซ็นต์บริษัทแม่ เลือกไทยเป็นที่แรกทำตลาดนอกประเทศจีน ที่นั่นถือเป็นแอพวีดีโอสตรีมมิ่งอันดับ 1 มีแอคทีฟ ยูสเซอร์ในจีนมากถึง 500 ล้านคนต่อเดือน และมีรายได้จากการโฆษณาที่เพิ่มขึ้นถึง 21%

โดยภายในครึ่งปีหลังนี้จะมีคอนเทนท์ใหม่ๆ จากพาร์ทเนอร์มาสร้างความคึกคักบนวีทีวีในตลาดไทยได้อีก และหวังเป็น สตรีมมิ่ง คิลเลอร์ ที่สร้างความนิยมในไทยได้ไม่แพ้ จู๊กซ์

“เราหวังว่าภายในสิ้นปีนี้ วีทีวีจะขึ้นแท่น 1 ใน 3 ของแพลตฟอร์มวีดีโอ สตรีมมิ่งที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด สำหรับวีทีวี เราเริ่มเห็นความสำเร็จในไทยแล้ว ทำให้ขณะนี้ได้นำร่องเปิดให้บริการไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนด้วย เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์" กฤตธี กล่าว

สำหรับบริการ “วีแชท” ที่โดดเด่นมากในประเทศจีน กฤตธี เคยให้สัมภาษณ์ว่า วีแชทอาจจะเข้ามาในตลาดแอพแชทไทยช้าไป ซึ่งเจอกับ "ผู้เล่นหลัก" ที่พัฒนาบริการได้ตอบโจทย์คนไทยมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม วีแชท ปัจจุบันยังอยู่ในตลาดไทย ขณะที่ตัวบริการพัฒนาไปสู่บีทูบีเป็นแพลตฟอร์มมีเดีย สำหรับแบรนด์ไทยที่ต้องการเจาะตลาดคนจีน