'อธิปไตยบนไซเบอร์' บทพิสูจน์ใหม่โลกซิเคียวริตี้

'อธิปไตยบนไซเบอร์' บทพิสูจน์ใหม่โลกซิเคียวริตี้

ไซเบอร์ซิเคียวริตี้เป็นวาระระดับชาติไม่ต่างกับการแก้ปัญหาภัยธรรมชาติ

การรักษาความมั่นคงปลอดภัยบนโลกไซเบอร์เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ ไม่อาจหลีกเลี่ยง

ผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ “ปริญญา หอมเอนก” ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวว่า แนวทางการลงทุนด้านซิเคียวริตี้ให้เกิดประสิทธิผล สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านยุคดิจิทัลจำต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ จากเดิมมุ่งลงทุนระบบเพื่อการป้องกัน (Cyber Security) ต้องเปลี่ยนไปเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ เสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยจากภัยคุกคาม (Cyber Resilience)

โดยเทรนด์ซิเคียวริตี้ที่น่าจับตามองประกอบด้วย การจู่โจมที่พุ่งเป้าไปที่ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) ระบบภายในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงอินฟราสตรักเจอร์ที่สำคัญของประเทศ

ขณะเดียวกัน ข้อมูลส่วนบุคคลมีความเสี่ยงที่จะรั่วไหลได้มากขึ้นทั้งบนโมบาย คลาวด์ และโซเชียลมีเดียต่างๆ ขณะนี้ด้วยระบบและการให้บริการด้านไอทียุคใหม่เปลี่ยนไปอยู่บนคลาวด์ ต่อไปมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องล็อกอินเข้าระบบโดยใช้วิธีเข้ารหัสแบบ 2 ชั้น เพื่อเสริมความปลอดภัย และต่อไปคลาวด์ซิเคียวริตี้จะกลายเป็นประเด็นระดับท็อปที่องค์กรธุรกิจทุกแห่งต้องให้ความสำคัญ ไม่อาจหลีกเลี่ยงไปได้

นอกจากนี้ ต้องพึงระวังไว้ว่าจากนี้นอกจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) บิ๊กดาต้าจะช่วยเพิ่มโอกาสอย่างมหาศาล อีกทางหนึ่งต้องถูกนำไปใช้โดยอาชญากรเช่นเดียวกัน อีกหนึ่งเทคโนโลยีน่าสนใจคือบล็อกเชน นอกจากเข้ามาเปลี่ยนเกมตลาด พลิกโฉมบริการทางการเงิน ยังจะเพิ่มมิติใหม่ๆ ให้กับวงการซิเคียวริตี้ด้วย

มากกว่าเรื่องเทคนิค

เขากล่าวว่า จากนี้และอนาคตธุรกิจเช่น สถาบันการเงินและระบบการชำระเงินจะต้องพบกับปัญหาความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการรักษาความมั่นคงปลอดภัย

โดยยกระดับความพร้อมในการกำกับดูแลและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย รวมถึงเตรียมความพร้อมทั้งด้าน บุคลากร กระบวนการ และ เทคโนโลยี ซึ่งครอบคลุมใน 7 ด้านตั้งแต่ 1. ธรรมาภิบาล 2.การระบุความเสี่ยง 3. การป้องกันความเสี่ยง 4. การตรวจจับความเสี่ยง

นอกจากนั้น 5. การตอบสนองต่อเหตการณ์ไม่พึงประสงค์ และ การกู้คืนและการฟื้นฟูความเสียหาย 6. การตระหนักถึงสถานการณ์ความเสี่ยง และ 7. การบริหารจัดการความเสี่ยงจากหน่วยงานภายนอก

ต่อคำถามที่ว่าทำไมวันนี้ปัญหาด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ทั้งระดับประชาชน ระดับองค์กร และระดับชาติจึงยังแก้ไม่ตกกันเสียที เรื่องนี้ขอให้มองว่า การแก้ปัญหาที่จะเกิดประสิทธิผลไม่ใช่การแก้ปัญหาทางด้านเทคนิคเพียงอย่างเดียว

หากแต่การแก้ปัญหาทางด้านเทคนิคก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะมองข้ามไม่ได้ สำคัญยังมีมุมมองอีกหลายด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่อง นโยบาย, กลยุทธ์, กฎหมาย,เศรษฐกิจและสังคม, การศึกษาเพื่อการฝึกอบรมบุคลากรในระดับองค์กรและการฝึกอบรมประชาชนคนไทยในระดับชาติ และที่สำคัญจำเป็นต้องมีกรอบนโยบายในการบริหารจัดการในด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โดยเฉพาะ

“ไซเบอร์ซิเคียวริตี้เป็นวาระระดับชาติไม่ต่างกับการแก้ปัญหาภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว หรือน้ำท่วม และเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง ทั้งรัฐบาลและเอกชนต้องร่วมมือกัน”

ป้องอธิปไตยไซเบอร์

เขากล่าวว่า ยุคแห่งข้อมูล ”Data-Driven Economy" ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชน ตลอดจนเศรษฐกิจสังคมของประเทศชาติ ผู้นำประเทศและรัฐบาลจะอยู่เฉยไม่ได้ จำเป็นต้องเร่งกำหนดนโยบายทางไซเบอร์และยุทธศาสตร์ไซเบอร์ เพื่อกำหนดทิศทางให้กับประชาชนในประเทศ ตลอดจนปัจจุบันการ “รุกรานทางความคิด” ต่อประชาชนในประเทศ

นอกจากนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยควรจะรับรู้ปัญหาเรื่อง “อธิปไตยไซเบอร์” และ “การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล” ที่กำลังเผชิญกันอยู่ตลอดเวลาบนสมาร์ทโฟนโดยที่ไม่รู้ตัวหรืออาจไม่ทราบถึงกลเม็ดวิธีการที่แยบยลดังกล่าว

ต้องพึงระวังไว้ว่า การเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ขนาดใหญ่ มีกลไกที่สามารถวิเคราะห์เจาะลึกข้อมูลส่วนบุคคล โดยใช้เทคโนโลยีบิ๊กดาต้าและแมชีนเลิร์นนิ่ง ทำให้ผู้ให้บริการล่วงรู้ถึงพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต การใช้สมาร์ทโฟน การค้นหาข้อมูล การใช้โปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์ แน่นอนว่าทำให้ทราบถึงดิจิทัลไลฟ์สไตล์ของผู้คน รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยได้รับการยินยอมจากเจ้าของเองทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ปัญหาที่ตามมาคือ สูญเสียความเป็นเอกราชทางไซเบอร์ และมีโอกาสพัฒนาไปกระทบถึงความมั่นคงของชาติ

รัฐบาลในทุกประเทศควรตะหนักถึงผลกระทบดังกล่าวและควรรีบทำการให้ความรู้ประชาชนให้มี "ทักษะความเข้าใจ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy)" และ “ภูมิคุ้มกันทางดิจิทัล” ที่ดี เพื่อที่จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อการตลาดแบบไฮเทคที่นับวันจะส่งผลรุนแรงโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

พร้อมกับแนะว่า ทางออกของปัญหา เบื้องต้นระดับบุคคลให้พยายามควบคุมการใช้งานของตนเอง เริ่มจากการจับเวลา วัดสถิติการใช้งานสมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวันแต่ละวันด้วยโมบายแอพพลิเคชั่นที่สามารถหาดาวน์โหลดได้ทั่วไปในสโตร์ต่างๆ ทุกระบบปฏิบัติการ จากนั้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้งานเพื่อให้มีเวลาอยู่กับมนุษย์ด้วยกัน อยู่กับคนในครอบครัว คนที่รัก และคนที่เขารักเรามากขึ้น

“โปรแกรมโซเซียลเน็ตเวิร์คต่างๆ ถูกนำเสนออย่างมีนัยยะและตั้งใจให้เราเห็นโดยมีผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจแอบแฝงอยู่ เราจึงควร “รู้เท่าทัน” เป็น “ผู้กำหนด” ว่าอยากจะเห็น หรือ ไม่อยากเห็นด้วยตัวของเราเอง ถึงเวลาแล้วที่ต้องเรียก “อธิปไตยไซเบอร์” ของเรากลับมาเสียที”