กทค.โยนสตง-คลังเคาะเยียวยาทรูมูฟ-ดีพีซี

กทค.โยนสตง-คลังเคาะเยียวยาทรูมูฟ-ดีพีซี

บอร์ดกทค. โยน“สตง. - คลัง” เคาะตัวเลขเรียกเงินทรูมูฟ-ดีพีซีค่าใช้โครงข่ายช่วงมาตรการเยียวยาตั้งแต่ปี 2556

บอร์ดกทค. โยน“สตง. - คลัง” เคาะตัวเลขเรียกเงินทรูมูฟ-ดีพีซีค่าใช้โครงข่ายช่วงมาตรการเยียวยาตั้งแต่ปี 2556 ระบุขอให้หน่วยงานรัฐลงความเห็นอีกครั้งปิดช่องเอกชนฟ้อง เสนอตัวเลขรายได้ค่าเยียวยาของคณะทำงานฯ - สำนักงาน กสทช. มีมูลค่าห่างกันกว่าหมื่นล้าน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) วานนี้ (21 ก.ย.) ว่า สำนักงาน กสทช.ได้เสนอการพิจารณาตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดิน จากการให้บริการในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ (มาตรการเยียวยา) หลังจากเป็นการนำเสนอผลการตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดิน ตามที่ศึกษาโดยคณะทำงานตรวจสอบเงินนำส่งรายได้ฯ ซึ่งยังไม่หักค่าใช้โครงข่ายที่ต้องชำระให้ บมจ.กสท โทรคมนาคม ที่ บริษัท ทรู มูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด หรือดีพีซี ในเครือบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส)

ทั้งนี้ รายได้ต้องนำส่งทั้งหมดตลอดช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ (ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2556 - 3 ธ.ค. 2558) เปรียบเทียบกับแนวทางที่รับฟังตามเอกสารหลักฐานของผู้ให้บริการ โดยสรุปตัวเลขตามแนวทางของคณะทำงานฯ บริษัท ทรู มูฟ จำกัด มีรายได้จำนวน 20,982.865 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย 6,993.613 ล้านบาท ต้องนำส่งรายได้ 13,989.24 ล้านบาท
บริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด มีรายได้ 1,943.984 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย 1,101.194 ล้านบาท ต้องนำส่งรายได้ 879.204 ล้านบาท รวม 14,868.83 ล้านบาท

ส่วนแนวทางที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอเปรียบเทียบนั้น ทรู มูฟ ต้องนำส่งรายได้ 3,088.42 ล้านบาท และดิจิตอล โฟน ต้องนำส่งรายได้ 879.39 ล้านบาท รวม 3,967.81 ล้านบาท ซึ่งสองแนวทางนี้มียอดแตกต่างกัน 10,901.02 ล้านบาท

นายฐากร กล่าวว่า เนื่องจากความเห็นของคณะทำงานฯ ที่เสนอยังมีจุดอ่อนที่ใช้ในการพิจารณาของบอร์ดกทค. และการคำนวณมีความแตกต่างกับของสำนักงาน กสทช. ที่จะนำไปสู่การฟ้องร้องที่จะเกิดขึ้น คณะทำงานฯ ไม่ได้คำนวณตามมติบอร์ด กทค. ที่มีมติคิดจากรายได้และกรอบรายจ่ายการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 1800 และค่าบริการเชื่อมโยงโครงข่าย (โรมมิ่ง)

ทั้งนี้ คณะทำงานคิดคำนวณไม่นำรายได้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมารวม ทั้งนี้ กทค.มีมติให้นำเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาขอความเห็นอีกครั้ง และนำกลับเข้ามาที่ประชุมบอร์ด กทค.พิจารณาอีกครั้ง

“กรอบแนวคิดที่แตกต่างจากมติ กทค. กรอบรายได้ที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อเงินนำส่งรายได้แผ่นดิน ซึ่งในช่วงที่ 1 มีจำนวนเลขหมายการใช้งาน 15 ล้านเลขหมาย โดยทรูมูฟ มีรายได้ 3,634.188 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายจำนวน 2,564.204 ล้านบาท และเงินส่งเข้ารัฐ 1,063 ล้านบาท และดีพีซี มีรายได้ 1,153.590 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย 525.954 ล้านบาท และมีเงินส่งเข้ารัฐ 627.636 ล้านบาท ช่วงเวลาถัดไปกลับมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่รายได้ขัดแข้งต่อความเป็นจริงเนื่องจากเลขหมายที่ลดลงกลับมีรายได้เพิ่มขึ้น นี่คือจุดอ่อนของการพิจารณา”

อย่างไรก็ตาม สำนักงานได้เสนอกรอบแนวคิดคำนวณตามมติที่ประชุม กทค. ใน 3 ช่วงเวลา ทรูมูฟมีรายได้รวม 9,510.588 ล้านบาท ซึ่งข้อเสนอของสำนักงาน กสทช.สอดคล้องกับมติกทค. ที่หักรายได้ส่งเข้ารัฐตามสัญญาสัมปทาน 30% ราว 7,833.436 ล้านบาท และมีเงินนำส่งเข้ารัฐ 1,507 ล้านบาท ที่เข้าสู่ช่วงมาตราการเยียวยาฯ ในขณะที่ดีพีซี มีรายได้รวม 1,948.355 ล้านบาท มีเงินนำส่งเข้ารัฐ 734.422 ล้านบาท ซึ่งรายได้ที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับมติกทค. โดย ดีพีซี มีจำนวนเลขหมายราว 5 แสนเลขหมาย ซึ่งสำนัก กสทช.ต้องการให้บอร์ด กทค.ได้พิจารณาในประเด็นเรื่องนี้” นายฐากร กล่าว