ชิปประหยัดพันธุ์อึด

ชิปประหยัดพันธุ์อึด

เกาะติดเทคโนโลยีแบตเตอรีแห่งอนาคต รองรับการทำงานได้มากกว่า 24 ชั่วโมงของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่

นักเทคโนโลยีไทยเกาะติดเทคโนโลยีแบตเตอรีแห่งอนาคต รองรับการทำงานได้มากกว่า 24 ชั่วโมงของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ ไม่ต้องเสียบชาร์จทุกคืน

อุปกรณ์พกพาได้ นับวันจะเล็กลงจนกลายเป็นอุปกรณ์สวมใส่ได้ (Wearable Electronics) ตัวอย่างเช่น นาฬิกาอัจฉริยะต่างๆ ที่เป็น Smart Watch, แว่นตาที่มีจอแสดงผลข้อมูลอย่าง Google Glass หรือกำไรข้อมือที่ใช้ตรวจจับการออกกำลังกายประจำวันอย่าง Fitbit หรือ Nike Fuel ฯลฯ

อุปกรณ์เหล่านี้นอกจากต้องการแหล่งพลังงานที่เล็กกว่า Smart Phone และทรงพลังพอๆกันแล้ว อุปกรณ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำงานด้วยชิปคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก ที่ถูกออกแบบมาให้สามารถทำงานคำนวณและแสดงผลอย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ยังหลีกหนีไม่ได้ที่จะต้องชาร์จแบตเตอรี่ทุกคืน หรือระหว่างวัน แถมบางครั้งวันละหลายๆ หน ซึ่งทำให้อุปกรณ์สวมใส่เหล่านี้ไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายเท่าที่ควร

ล่าสุดมีบริษัทผู้ผลิตชิปสัญชาติอเมริกาที่ชื่อว่า Ineda Systems ได้ผลิตชิปที่สามารถใช้ช่วยเสริมการทำงานของชิปโปรเซสเซอร์หลัก โดยมันสามารถทำหน้าที่เฉพาะ เช่น ฟังและประมวลผลเสียงคำสั่งหรือทำงานสำหรับแอพลิเคชั่นง่ายๆ ที่ไม่ต้องการพลังในการคำนวณสูงมาก ซึ่งจำทำงานแทนชิปโปรเซสเซอร์หลักในขณะที่ไม่จำเป็นต้องใช้งานหรือพักหน้าจอ ซึ่งได้ออกแบบมาให้เหมาะกับการใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่

ซึ่งมีการสำรวจแล้วว่า ปกติแล้วอุปกรณ์สวมใส่เหล่านี้จะทำงานอย่างเต็มที่เพียงร้อยละ 10 ของเวลาที่เราสวมใส่มันทั้งวัน แต่อีกร้อยละ 90 ของเวลา มันจะอยู่ในโหมดพักหน้าจอหรือใช้งานแอพพลิเคชั่นง่ายๆ ทั่วๆ ไป บริษัท Ineda เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.2010 และได้รับเงินสนับสนุนจากผู้ผลิตชิปมือถือยักษ์ใหญ่ที่สุดอย่าง Qualcomm ได้ออกแบบชิปออกมา 2 แบบ ได้แก่ ชิปที่มี 2 คอร์โปรเซสเซอร์ ชื่อว่า Micro และที่มี 3 คอร์โปรเซสเซอร์ ชื่อว่า Advanced ซึ่งในทั้งสองแบบ โปรเซสเซอร์ตัวที่หนึ่งจะทำงานเป็นหลัก และทำงานตลอดเวลา

เช่น ในกรณีตรวจสอบการเคลื่อนไหว หรือตรวจสอบการสั่งงานด้วยท่าทาง (Gesture Control) หรือเชื่อมต่ออุปกรณ์ด้วยบลูทูธ หรือตรวจสอบการสั่งงานด้วยคำสั่งเสียง เป็นต้น แต่เมื่อมีการเรียกใช้แอพพลิเคชั่นที่ต้องใช้พลังในการคำนวณ โปรเซสเซอร์อีกตัวหรือที่เหลือก็จะทำงานเพื่อเพิ่มเสริมพลังในการคำนวณทันที เช่น แอพพลิเคชั่นเล่นเพลง หรือพิมพ์ด้วยเสียง หรือแอพพลิเคชั่นประเภทตรวจจับสัญญาณการเต้นของหัวใจที่ปรากฏในโทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ หรือการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

แต่ถ้ายังไม่เพียงพอ ชิปโปรเซสเซอร์ตัวหลักของอุปกรณ์ก็จะทำงานเป็นหลักตามปกติ แนวคิดการใช้งานชิปโปรเซสเซอร์แบบตัวหลักและมีชิปเสริมเพื่อประหยัดพลังงานในอุปกรณ์พกพาหรือสวมใส่ขนาดเล็กนี้กำลังเป็นที่สนใจของผู้ผลิตชิปมือถือเจ้าอื่นๆ อย่าง บริษัท ARM ของอังกฤษด้วยเช่นกัน แต่บริษัทผู้ออกแบบโปรแกรมแอพพลิเคชั่นต่างๆ ก็ต้องปรับการเขียนโปรแกรมให้สอดคล้องกับการทำงานของชิปประหยัดพลังงานเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

ถ้าท่านเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเขียนซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์เหล่านี้ ท่านก็ต้องปรับตัวรอรับไว้ได้เลยเช่นกันครับ

บทความโดย * ดร. อดิสร เตือนตรานนท์ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

ที่ปรึกษา สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ