เครื่องกันไฟรั่ว 3D

เครื่องกันไฟรั่ว 3D

ม.เทคโนโลยีมหานคร พัฒนาเครื่องตรวจสอบไฟฟ้ารั่ว ลดความเสี่ยงไฟดูด ไฟรั่ว ด้วยฝีมือคนไทย

อันตรายจากไฟดูด ไฟรั่ว เป็นเรื่องที่ใครก็คาดไม่ถึง ครั้นพอเจอกับตัวก็สายไปเสียแล้ว ดร.อมร จิรเสรีอมรกุล และ ดร.อิทธิพัฒน์ รูปคม อาจารย์นักประดิษฐ์ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (มทม.) จึงคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ป้องกันไฟรั่วขึ้นมา

ทีมวิจัยพัฒนาเครื่องกันไฟ 3D ขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุไฟดูด ไฟรั่ว จากที่เห็นเป็นข่าวบ่อยๆ จากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ตู้ทำน้ำเย็น ที่คร่าชีวิตเด็กนักเรียนขณะกดน้ำดื่มแก้กระหาย เนื่องจากการติดตั้งสายดินไม่ได้มาตรฐาน หรือกรณีผู้เสียชีวิตขณะใช้เครื่องทำน้ำอุ่นในห้องน้ำเนื่องจากไม่ได้ติดตั้งสายดินและอุปกรณ์ป้องกันชำรุด อีกทั้งช่วงฤดูฝน หรือน้ำท่วมขังก็ยิ่งเพิ่มอุบัติการณ์เป็นเท่าตัว

เครื่องกันไฟ 3 D สามารถตรวจสอบการมีอยู่ของสายดินและความถูกต้องในการเข้าขั้วสายไฟของเต้ารับได้ ทั้งยังสามารถตรวจสอบกระแสไฟฟ้ารั่วที่ตัวถังอุปกรณ์ไฟฟ้าได้ โดยแจ้งเตือนผู้ใช้งานเมื่อตรวจพบกระแสไฟฟ้ารั่ว พร้อมชุดป้องกันไฟฟ้ารั่วซึ่งแบ่งอุปกรณ์เป็น 2 ส่วน คือ หัวปลั๊กเช็คไฟ และฝาครอบกันไฟรั่ว

หัวปลั๊กเช็คไฟ ทำหน้าที่ทดสอบว่าปลั๊กไฟบ้านมีระบบสายดินหรือไม่ และสายไฟ (L) กับนิวทรัล (N) ต่อในตำแหน่งที่ถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่ วิธีการใช้งานหัวปลั๊กเช็คไฟถ้าหลอดแอลอีดี (LED) แสดงผลเป็นไฟสีแดง หมายความว่า บ้านไม่มีระบบสายดิน หรือสายดินอาจขาดและชำรุด หากแสดงผลเป็นไฟสีฟ้า หมายความว่า บ้านมีระบบสายดินแต่ต่อสาย L และ N สลับกัน

หากแสดงผลเป็นไฟสีเขียว หมายความว่า บ้านมีระบบสายดินและสายต่อถูกต้องตามมาตรฐานฝาครอบกันไฟรั่ว หากตรวจสอบด้วยอุปกรณ์ปลั๊กเช็คไฟแล้วแสดงว่าบ้านท่านมีสายดิน ให้ใช้อุปกรณ์ฝาครอบกันไฟรั่ว ซึ่งจะทำหน้าที่ขยายขีดความสามารถของสายดินในการป้องกันไฟฟ้ารั่วได้ดีกว่าเดิม

นวัตกรรมดังกล่าวได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2556 “ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)