ซักเคอร์เบิร์กทุ่ม 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซื้อหุ้น Scale AI ดึงเจ้าพ่อ Data ร่วมทีม

ซักเคอร์เบิร์กทุ่ม 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซื้อหุ้น Scale AI ดึงเจ้าพ่อ Data ร่วมทีม

เมตาเปลี่ยนกลยุทธ์จาก ‘สร้างเอง’ เป็น ‘ซื้อคน’ ด้วยการทุ่ม 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าถือหุ้น Scale AI และดึงตัวผู้ก่อตั้งอย่าง อเล็กซานเดอร์ หวัง เข้าทีม หลังโมเดล Llama 4 ไม่สามารถแข่งขันได้ ซักเคอร์เบิร์กเชื่อว่า นี่คือสงครามที่ต้องมีผู้นำที่เข้าใจทั้งเทคโนโลยีและธุรกิจ

KEY

POINTS

  • โมเดล Llama 4 ของเมตาได้รับการตอบรับไม่ค่อยดี ตามคู่หลังแข่งอย่าง OpenAI, Google และ Microsoft ซักเคอร์เบิร์กจึงปฏิรูปทีมเอไอ มองหาผู้นำภายนอกพลิกสถานการณ์
  • เมตาเจรจาซื้อหุ้น 49% ของ Scale AI ด้วยมูลค่า 14,000 ล้านดอลลาร์ เป้าหมายหลักคือดึงตัว อเล็กซานเดอร์ หวัง ผู้ก่อตั้งเข้าร่วมทีมกับเมตา
  • Scale AI เชี่ยวชาญการจัดระเบียบข้อมูลดิบให้เอไอนำไปเรียนรู้ได้ ให้บริการลูกค้าระดับโลกทุกค่าย รวมถึง OpenAI, Google, Microsoft และเมตา 
  • เมตาเลือกถือหุ้นแทนซื้อกิจการทั้งหมด หลีกเลี่ยงแรงกดดันจากคดีผูกขาดกับ FTC 

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ซีอีโอของเมตา (Meta) เหมือนจะหมดความอดทนกับผลงานด้านเอไอของบริษัท หลังการเปิดตัวโมเดล Llama 4 ที่ได้รับเสียงตอบรับที่ไม่สู้ดีนัก แถมยังตามหลังคู่แข่งอย่าง OpenAI, Google และ Microsoft แบบเห็นได้ชัด

ซักเคอร์เบิร์ก จึงตัดสินใจว่าถึงเวลาต้องลุกขึ้นมาจัดการอย่างจริงจัง เขาเริ่มด้วยการปรับโครงสร้างทีมเอไอภายในบริษัท โดยแบ่ง GenAI ออกเป็น 2 สายงานใหม่ พร้อมทั้งเดินหน้ามองหาผู้ร่วมทีมคนใหม่ที่สามารถเข้ามาช่วยพลิกเกมในสนามเอไอให้กับเมตาได้

นี่คือจุดเริ่มต้นของการทาบทาม “อเล็กซานเดอร์ หวัง” (Alexandr Wang) ผู้ก่อตั้งบริษัท Scale AI

ตามรายงานของ CNBC เมตากำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าลงทุนใน Scale AI เป็นวงเงิน 14,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 510,000 ล้านบาท โดยเป้าหมายสำคัญของดีลนี้ ไม่ใช่แค่การลงทุนในบริษัทเท่านั้น แต่ยังต้องการดึงตัวอเล็กซานเดอร์ หวัง เข้ามาร่วมทีม

ดีลนี้ไม่ใช่การเข้าซื้อกิจการโดยตรง แต่เมตากำลังเจรจาเพื่อขอซื้อหุ้น 49% ของบริษัท Scale AI ซักเคอร์เบิร์กเชื่อมั่นว่า หวัง คือ “CEO ในยุคสงคราม” ที่เข้าใจเทคโนโลยีระดับลึก มีวิสัยทัศน์เชิงธุรกิจเฉียบแหลม ซึ่งจะเข้ามาเติมเต็ม และเร่งจังหวะให้เมตาสามารถไล่ตามคู่แข่งในสนามเอไอได้ทันก่อนจะตกขบวน

Scale AI ผู้เล่นที่เข้าใจข้อมูลระดับลึก

บริษัท Scale AI ก่อตั้งในปี 2016 โดย อเล็กซานเดอร์ หวัง ตอนเขาอายุเพียง 19 ปี หลังลาออกจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) เพื่อมาทำบริษัทเองเต็มตัว 

ภารกิจหลักของ Scale AI คือ การจัดระเบียบข้อมูลดิบ (Data Labeling) ให้กลายเป็นข้อมูลที่เอไอสามารถนำไปเรียนรู้และฝึกฝนได้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากในการสร้างโมเดลเอไอที่ฉลาดและใช้งานได้จริง

ปัจจุบันลูกค้าหลักของ Scale AI ได้แก่ OpenAI, Google, Microsoft รวมถึงเมตาเองก็เป็นหนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ด้วยเช่นกัน

บริษัทเคยถูกประเมินมูลค่ากิจการไว้ที่ 14,000 ล้านดอลลาร์ และมีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในภาคธุรกิจและภาครัฐ โดยล่าสุดได้เซ็นสัญญาร่วมกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐในการพัฒนาเอไอเพื่อความมั่นคงของประเทศ

เมตาเลือกลงทุน แทนการซื้อกิจการ

แม้เมตาจะมีเงินทุนมหาศาลเพียงพอสำหรับการซื้อกิจการ แต่กลับเลือกใช้วิธี “ถือหุ้นบางส่วน” แทนการซื้อกิจการทั้งหมด วิธีนี้เป็นแนวทางเดียวกับที่ Google และ Microsoft เคยใช้เมื่อเข้าไปลงทุนใน Character.AI และ Inflection AI โดยยังคงปล่อยให้บริษัทเหล่านั้นดำเนินธุรกิจได้อย่างอิสระ

เหตุผลสำคัญคือ เมตากำลังเผชิญคดีความกับคณะกรรมการการค้าของสหรัฐ (FTC) ในประเด็นการผูกขาดตลาด การเข้าซื้อบริษัทเอไอรายใหญ่อีกแห่งอาจสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมจากภาครัฐ และทำให้เมตาต้องเผชิญกับการตรวจสอบที่เข้มข้นยิ่งขึ้น

การถือหุ้น 49% จึงเป็นทางออกที่สมดุลที่สุด เพราะนอกจากจะเปิดทางให้ Scale AI ยังคงเป็นอิสระในการดำเนินธุรกิจแล้ว เมตายังได้สิทธิ์เข้าถึงบุคลากร เทคโนโลยี และข้อมูลที่จำเป็นต่อการเร่งพัฒนาโมเดลเอไอของตนเอง

ปัญหาเรื่องเอไอของเมตา

เมตาพัฒนาโมเดล Llama มาหลายเวอร์ชัน แต่เวอร์ชันล่าสุดคือ Llama 4 กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่หวัง นักพัฒนาในวงการมองว่าโมเดลนี้ยัง “แรงไม่พอ” ทั้งในด้านประสิทธิภาพและความสามารถเชิงเทคนิค โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ GPT-4 ของ OpenAI หรือโมเดลจากจีนอย่าง DeepSeek

นอกจากคุณภาพของโมเดลที่ยังไม่โดดเด่นพอ ทีมพัฒนาเอไอภายในเมตายังมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบ่อยครั้ง สะท้อนถึงความไม่มั่นใจในทิศทางที่เป็นอยู่ เสียงสะท้อนเหล่านี้ทำให้ซักเคอร์เบิร์กตัดสินใจ “ล้างไพ่” ใหม่ในทีมเอไอของเมตา ด้วยการ

  1. ปรับลดบทบาทของ FAIR (ทีมวิจัย Fundamental AI Research) ที่เคยเป็นแนวหน้าในงานวิจัยด้านเอไอเชิงลึก 
  2. แตกทีม GenAI ออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ทีมพัฒนา AI Products เพื่อเน้นสร้างผลิตภัณฑ์ใช้งานจริง และทีม AGI Foundations ที่เน้นโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว
  3. ปรับบทบาทผู้บริหารบางราย และดึงบุคลากรจากภายนอกเข้ามาเสริม

สงครามเอไอไม่ได้มีแค่เรื่องโมเดล แต่คือเรื่องของคน

อเล็กซานเดอร์ หวัง เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “นี่คือสงครามเอไอระหว่างสหรัฐกับจีน ถ้าสหรัฐอยากชนะ ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานคอมพิวเตอร์ระดับมหาศาล” 

โดยแนวคิดนี้ใกล้เคียงกับท่าทีของซักเคอร์เบิร์กที่พยายามสร้างความแข็งแกร่งในด้านเอไอให้เมตาทั้งในระดับองค์กร และระดับประเทศ เขาไม่ได้มองแค่การแข่งขันด้านเทคโนโลยี แต่คือความสามารถเชิงยุทธศาสตร์ที่มีบทบาทต่อความมั่นคงในระดับประเทศ

อย่างไรก็ตาม อเล็กซานเดอร์ หวัง ไม่ได้มาแค่ในฐานะผู้บริหาร Scale AI แต่ยังมีความรู้เชิงลึกจากเบื้องหลังวงการเอไอติดตัวมาด้วย โดยเฉพาะเรื่องการสร้างโมเดลแชตบอตอย่าง GPT หรือ Gemini 

วาฮาน เปโตรเซียน (Vahan Petrosyan) ซีอีโอ SuperAnnotate บริษัทเทคโนโลยีที่ให้บริการ Data annotation สำหรับฝึกโมเดลเอไอคล้ายกับ Scale AI กล่าวว่า Scale AI อยู่เบื้องหลังโมเดลเอไอแทบจะทั้งวงการ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของโมเดลที่มีอยู่ในตอนนี้ ดังนั้น การที่เมตาดึงทีมจาก Scale AI เข้ามา ก็เหมือนกับได้ซื้อเอาความรู้รวมของวงการเอไอไปด้วย

ดีลนี้จึงไม่ใช่แค่ “ซื้อเทคโนโลยี” แต่คือการ “ซื้อวิสัยทัศน์และสมอง” เพื่อนำเมตาไปให้ถึงจุดที่ซักเคอร์เบิร์กเชื่อว่าโลกเอไอควรจะไปถึง

อ้างอิง: CNBC และ Bloomberg