‘OpenAI’ เผยลิสต์ อาชีพเสี่ยงตกงาน จากการมาถึงของ ‘GPT’

‘OpenAI’ เผยลิสต์ อาชีพเสี่ยงตกงาน จากการมาถึงของ ‘GPT’

งานวิจัยใหม่โดย “OpenAI” ประเมินผลกระทบถึงอาชีพต่าง ๆ ที่อาจได้ผลกระทบจากการใช้โมเดลภาษาขนาดใหญ่ หรือ LLM (Large Language Model) คาด ล่าม และ นักแปล กระทบหนักสุด

OpenAI” ห้องปฏิบัติการวิจัยปัญญาประดิษฐ์จากสหรัฐ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ออกรายงานฉบับล่าสุดในหัวข้อเกี่ยวกับ ศักยภาพของโมเดลภาษาขนาดใหญ่ หรือ LLM (Large Language Model) ส่งผลกระทบอย่างไรต่อตลาดแรงงาน เพื่อประเมินความสามารถในการทำงานของโปรแกรม GPT (Generative Pre-trained Transformer) ที่อาจใช้ทดแทนสายงานต่าง ๆ 

“การวิจัยของเราทำหน้าที่ประเมินสิ่งที่เป็นไปได้ทางเทคนิคในขณะนี้ โดยไม่คำนึงถึงศักยภาพของ LLM ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป” คณะผู้จัดทำระบุไว้ในงานวิจัย

การวิจัยในครั้งนี้ ใช้ GPT ในการรวบรวมข้อมูลด้านอาชีพจากสำนักงานสถิติแรงงานแห่งสหรัฐอเมริกาทั้งหมด 1,016 อาชีพ และนำรวมเข้ากับเกณฑ์การประเมินของนักวิจัย โดยหาว่ามีงานใดบ้างที่ GPT และโปรแกรมที่ขับเคลื่อนด้วย GPT สามารถย่นระยะในการทำงานของมนุษย์ได้มากกว่า 50% 

นั่นหมายความว่า ยิ่งเปอร์เซ็นต์การทำงานของ GPT รวดเร็วกว่าเวลาที่มนุษย์ทำออกมาสูงมากเท่าใด โอกาสเสี่ยงที่งานเหล่านั้นจะถูก GPT แย่งงานไปก็มากขึ้นเท่านั้น แม้ในตอนนี้จะเป็นเพียงแค่ทฤษฎีอยู่ก็ตาม

  • อาชีพไหน เสี่ยงมาก-เสี่ยงน้อย-ยังไม่เสี่ยง

จากรายงานพบว่า 19% ของงานทั้งหมดในสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากการมาของ GPT และ LLM โดยเฉพาะมากกว่า 50% ในนั้นเป็นกลุ่มอาชีพที่ต้องใช้ทักษะด้านการเขียนโปรแกรมและภาษา

ขณะที่งานด้านวิทยาศาสตร์และงานที่ต้องใช้ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์เป็นหลักจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า ส่วนงานที่ใช้ทักษะเฉพาะ เช่น นักกีฬา ช่างซ่อม คนทำอาหาร จะยังไม่ได้รับผลกระทบจาก GPT และ LLM 

อาชีพกลุ่มล่าม และ นักแปลภาษาป็นหนึ่งในกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการตกงานมากที่สุด โดยมีความเสี่ยง 76.5% ที่ถูกคุกคามโดย GPT และ ซอฟต์แวร์ที่ใช้ GPT สามารถคุกคามอาชีพนี้ได้ถึง 82.4% 

ทั้งนี้คณะผู้จัดทำอธิบายว่าในทางปฏิบัติแล้ว อาจจะไม่ได้หมายความว่างานล่ามและแปลภาษาจะกลายเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด แต่เป็นเพียงการประเมินว่า GPT และซอฟต์แวร์ที่ขับเคลื่อนด้วย GPT สามารถช่วยพนักงานประหยัดเวลาได้มากในการทำงานเกือบทั้งหมด

แน่นอนว่าการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในวงการภาษาศาสตร์นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด มาร์โค ทรอมเบตตี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ translated ผู้ให้บริการแปลภาษา ใช้ Time-to-Edit ช่วยจับการแปลที่มีรูปประโยคแปลก ๆ ไม่ลื่นไหลและปรับปรุงการแปลให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ในงานวิจัยดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงปัจจัยที่ทำให้ GPT และซอฟต์แวร์ที่ใช้ GPT จะถูกใช้ในกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ อย่างแพร่หลายหรือไม่ ประกอบไปด้วย ต้นทุนและความยืดหยุ่นของเทคโนโลยี ความชอบของพนักงานและบริษัท แรงจูงใจ และระดับความเชื่อมั่นในแรงงานมนุษย์กับงาน ซึ่งกลุ่มอาชีพที่ถึงอย่างไรก็ต้องใช้ GPT และซอฟต์แวร์ที่ขับเคลื่อนระบบด้วย GPT แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ 100% ได้แก่ นักคณิตศาสตร์ นักภาษี นักบัญชีและผู้ตรวจสอบบัญชี

วิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ส่งผลกระทบโดยตรงกับหลากหลายอาชีพ แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง เทคโนโลยีเหล่านี้ก็สามารถช่วยให้แรงงานมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มมากขึ้น รวมถึงช่วยลดความผิดพลาดในการทำงานให้น้อยลงได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเหล่า GPT และ LLM ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หลายคนอาจร้อน ๆ หนาว ๆ กังวลว่าจะถูกแย่งงานไป หากวันนั้นเกิดขึ้นจริง เหล่าผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายจำเป็นที่จะต้องกำหนดบทบาทและหน้าที่ของ AI ให้ชัดเจนว่าควรจะเป็นเพียงแค่ “ตัวช่วย” ของแรงงานมนุษย์ หรือสามารถมา “แทนที่” แรงงานได้เลย


ที่มา: arXivSlator