สหรัฐออกกฎเข้ม ห้ามจด ‘ลิขสิทธิ์’ ภาพวาดที่มาจากเอไอ

สหรัฐออกกฎเข้ม ห้ามจด ‘ลิขสิทธิ์’ ภาพวาดที่มาจากเอไอ

สำนักงานลิขสิทธิ์ของสหรัฐ (USCO) ออกกฎ ห้ามศิลปินหรือผู้ใช้งาน ‘จดลิขสิทธิ์’ ภาพวาดที่สร้างขึ้นด้วยเอไอทั้งหมด

ปัจจุบันมีภาพวาดที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเครื่องมือ Generated AI เป็นจำนวนมาก โดยเอไอสร้างภาพได้ส่งผลกระทบเชิงบวกและลบที่ตามมา หนึ่งในนั้นคือ “ลิขสิทธิ์” เมื่อผู้ใช้งานสร้างสรรค์ภาพวาดด้วยเอไอ สังคมตีคำถามไปกลับว่า “ภาพวาดเหล่านั้น ลิขสิทธิ์เป็นของใคร?”

ขณะเดียวกัน ทางสำนักงานลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ หรือ USCO ได้ออกมากล่าวถึงกรณีนี้ว่า รูปภาพใด ๆ ที่สร้างขึ้นด้วยการส่งข้อความ (Prompt) ไปยังเครื่องมือเอไอต่าง ๆ เช่น Midjourney หรือ Stable Diffusion จะไม่สามารถจดลิขสิทธิ์ภายในประเทศได้

เนื่องจากเทคโนโลยีเอไอได้รับการสั่งงานผ่าน Prompt ให้ผลิตทั้งงานเขียน รูปภาพ หรืองานเพลง จะถือว่าเป็นงานที่เกิดจากเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี ไม่ได้เกิดจากผู้สร้างที่เป็นมนุษย์

ซึ่งลิขสิทธิ์ดังกล่าว จะคุ้มครองเฉพาะเนื้อหาที่เป็นผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์เท่านั้น ไม่เพียงแต่ผลงานรูปภาพ แต่ผลงานอื่น ๆ ที่เกิดจากเอไอก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์และการขึ้นทะเบียนผลงานเช่นเดียวกัน

ทาง USCO มองว่าผลงานที่ถูกสร้างโดยเอไอ เป็นผลงานที่ถูกผลิตซ้ำในทางกลไกหรือ Mechanical Reproduction เพราะเอไอได้ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่แล้วจากระบบนิเวศลายเส้นมาประมวลผลให้เกิดขึ้นเป็นรูปใหม่ หรือบางกรณีก็มีความใกล้เคียงกับรูปเดิมของศิลปินที่เป็นมนุษย์ ทำให้เกิดปัญหาคัดลอกผลงานที่ตามมา

อย่างไรก็ตามทาง USCO ยังเปิดกว้างในเรื่องการใช้เอไอเข้ามาช่วยในส่วนต่าง ๆ ของผลงาน ซึ่งจะมีสอบถามเป็นรายกรณี

ยกตัวอย่างเช่น กรณีของของศิลปินชื่อ Kris Kashtanova เปิดเผยผ่านบัญชีอินสตาแกรมส่วนตัวว่า ผลงานหนังสือนิยายประกอบภาพที่มีภาพที่สร้างจากเอไอของเขาได้รับการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ในสหรัฐฯ ในวันที่ 15 กันยายน 2565

หนังสือนิยายมีชื่อว่า Zarya of the Dawn ซึ่ง Kashtanova สร้างภาพประกอบโดยใช้ Midjourney โดยได้ยื่นต่อสำนักงานลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ ว่าใช้เอไอเพื่อช่วยสร้างภาพประกอบ (ไม่ได้สร้างภาพทั้งหมดด้วยเอไอ) เขาเขียนเรื่องราวและสร้างสรรค์การจัดวางรูปแบบหนังสือด้วยตนเอง

แน่นอนว่าหากองค์ประกอบแบบดั้งเดิมของผลงานนั้นถูกสร้างโดยเอไอก็จะถือว่าเป็นผลงานที่ไม่ได้สร้างโดยมนุษย์ และทางสำนักงานก็จะไม่ลงทะเบียนผลงานให้

พร้อมกันนี้ทาง USCO ก็มีกำหนดเป็นเจ้าภาพอภิปรายเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์เพิ่มเติม และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเอไอในหัวข้อต่าง ๆ ภายในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2566 นี้

อ้างอิงข้อมูล: engadget