พบดวงจันทร์ของ "ดาวพฤหัสบดี" เพิ่มอีก 12 ดวง รวมทั้งสิ้น 92 ดวง

พบดวงจันทร์ของ "ดาวพฤหัสบดี" เพิ่มอีก 12 ดวง รวมทั้งสิ้น 92 ดวง

NARIT เผย พบดวงจันทร์ของ "ดาวพฤหัสบดี" เพิ่มอีก 12 ดวง ทำให้ขณะนี้มีดวงจันทร์บริวารรวมทั้งสิ้น 92 ดวง แซงหน้าดาวเสาร์ที่มีดวงจันทร์บริวาร 83 ดวง

วันนี้ (2 ก.พ.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)  เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่เรียบเรียงโดย ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. ระบุว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 2023 Minor Planet Center เผยแพร่ข้อมูลการค้นพบดวงจันทร์ของ "ดาวพฤหัสบดี" เพิ่มอีก 12 ดวง ทำให้ขณะนี้ดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์บริวารรวมทั้งสิ้น 92 ดวง แซงหน้าดาวเสาร์ที่มีดวงจันทร์บริวาร 83 ดวง ทวงตำแหน่งดาวเคราะห์ที่มีจำนวนดวงจันทร์เยอะที่สุดในระบบสุริยะกลับคืนอีกครั้ง

"ดาวพฤหัสบดี" (Jupiter) เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 5 และจัดเป็นดาวเคราะห์แก๊สที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ มีดวงจันทร์ขนาดใหญ่ที่สุดจำนวน 4 ดวง เรียกว่า ดวงจันทร์ของกาลิเลโอ (Galilean Moons) เนื่องจากกาลิเลโอ กาลิเลอี นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี เป็นคนแรกที่ค้นพบดวงจันทร์เหล่านี้ เมื่อปี ค.ศ. 1610 (และเป็นหลักฐานครั้งแรก ๆ ที่ยืนยันว่า โลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล)

ต่อมา เมื่อเทคโนโลยีทางดาราศาสตร์พัฒนามากขึ้น กล้องโทรทรรศน์ที่ใช้ศึกษาวัตถุท้องฟ้าก็มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้นักดาราศาสตร์ค้นพบดวงจันทร์ขนาดเล็กที่อยู่รอบ ๆ ดาวพฤหัสบดีอีกมากมาย ซึ่งการค้นพบในครั้งนี้นำทีมโดย Scott Sheppard นักดาราศาสตร์จาก Carnegie Institute for Science สหรัฐอเมริกา หนึ่งในนักดาราศาสตร์ที่ค้นพบวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะได้เยอะที่สุด สามารถค้นพบดวงจันทร์บริวารขนาดเล็กของดาวพฤหัสบดีได้เพิ่มเติมอีก 12 ดวง

ดวงจันทร์จำนวน 9 ดวงจาก 12 ดวงที่ค้นพบในครั้งนี้ อยู่ในวงโคจรบริเวณไกลสุดของกลุ่มดวงจันทร์ทั้งหมด มีคาบการโคจรรอบดาวพฤหัสบดีมากกว่า 550 วัน มีทิศทางการโคจรแบบ Retrograde ซึ่งเป็นทิศทางตรงกันข้ามกับการหมุนรอบตัวเองของดาวพฤหัสบดี และตรงข้ามกับดวงจันทร์กลุ่มหลัก นักดาราศาสตร์คาดว่ากลุ่มดวงจันทร์เหล่านี้ อาจเกิดจากวัตถุขนาดเล็กในอวกาศ ที่ถูกแรงโน้มถ่วงอันมหาศาลของดาวพฤหัสบดีดึงดูดเอาไว้ให้กลายเป็นดาวบริวาร ส่วนใหญ่เป็นวัตถุขนาดความกว้างไม่เกิน 8 กิโลเมตร

ขณะที่ดวงจันทร์อีก 3 ดวงที่ค้นพบเพิ่มในครั้งนี้ อยู่ในวงโคจรถัดไปจากกลุ่มดวงจันทร์ของกาลิเลโอเล็กน้อย มีทิศทางการโคจรแบบ Prograde หรือทิศทางเดียวกันกับการหมุนรอบตัวเองของดาวพฤหัสบดี ดวงจันทร์กลุ่มนี้คาดว่าจะก่อตัวขึ้นมาพร้อม ๆ กันทั้งหมด และเป็นกลุ่มที่ค้นพบได้ยากกว่า เนื่องจากมีวงโคจรที่ใกล้กับดาวพฤหัสบดี แสงสว่างจากดาวพฤหัสบดีจะกระเจิงออกมาจนบดบังแสงของวัตถุขนาดเล็กเหล่านี้ไปจนหมด ทำให้ดาวบริวารขนาดเล็กส่วนใหญ่จะค้นพบที่ระยะห่างไกลออกมาจากดาวพฤหัสบดีค่อนข้างมาก

ใครที่ติดตามข่าวสารการค้นพบวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะ หรือค้นพบดวงจันทร์ของดาวเคราะห์แก๊สใหม่ ๆ มักจะได้ยินชื่อ Scott Sheppard อยู่เสมอ หากรวมการค้นพบในครั้งนี้ด้วยแล้ว Scott Sheppard มีส่วนร่วมในการค้นพบวัตถุใหม่ในระบบสุริยะแล้วจำนวนมากมาย ได้แก่ ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี 85 ดวง ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ 45 ดวง ดวงจันทร์ของดาวยูเรนัสและเนปจูน 3 ดวง วัตถุจำพวก Minor Planet หรือวัตถุขนาดเล็กที่โคจรรอบดวงอาทิตย์อีกจำนวน 26 ดวง ดาวหางจำนวน 7 ดวง และวัตถุอื่น ๆ รวมแล้วเกือบ 200 วัตถุ นับเป็นหนึ่งในนักดาราศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อวงการดาราศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับระบบสุริยะเป็นอย่างมาก

 

อ้างอิง :
[1] skyandtelescope.org
[2] sites.google.com
[3] wikipedia