"Merry Christmas" สไตล์ชาวดาราศาสตร์ ด้วย "เนบิวลา" ต้นคริสต์มาสแห่งเอกภพ

"Merry Christmas" สไตล์ชาวดาราศาสตร์ ด้วย "เนบิวลา" ต้นคริสต์มาสแห่งเอกภพ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผย "Merry Christmas" สุขสันต์วันคริสต์มาส สไตล์ชาวดาราศาสตร์ ด้วย "เนบิวลา" ต้นคริสต์มาสแห่งเอกภพ

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2565 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ บทความที่เรียบเรียง โดยธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. ระบุว่า Merry Christmas สุขสันต์วันคริสต์มาส สไตล์ชาวดาราศาสตร์ ด้วย "เนบิวลา" ต้นคริสต์มาสแห่งเอกภพ

NGC 2264 เป็นชื่อเรียกของรวม ๆ ของวัตถุในภาพ ประกอบด้วย เนบิวลาเรืองแสง (Emission Nebula) และกระจุกดาวเปิด (Open Cluster) อยู่ห่างจากโลกประมาณ 2,600 ปีแสง บริเวณ กลุ่มดาวยูนิคอร์น (Monoceros)

 

แสงสีแดงในภาพเกิดจากไฮโดรเจนในอวกาศดูดซับพลังงานจากดาวฤกษ์รอบๆ แล้วปลดปล่อยแสงออกมาในช่วงคลื่นเฉพาะ เรียกว่า “ไฮโดรเจนแอลฟา” ในช่วงคลื่นแสงสีแดง เนบิวลานี้จึงมีสีแดงสว่างโดดเด่น เรียกเนบิวลาประเภทนี้ว่า “เนบิวลาเรืองแสง” บริเวณด้านล่างมีกลุ่มแก๊สรูปร่างคล้ายกรวย มีชื่อว่า “เนบิวลากรวย (Cone Nebula)”

จุดเด่นของ NGC 2264 คือ บริเวณกลางภาพมีดาวฤกษ์เกาะกลุ่มกันอย่างหลวม ๆ เรียกว่า “กระจุกดาวเปิด” มีดาวสว่างสีฟ้าและสีขาวเรียงตัวกันเป็นรูปร่างคล้ายต้นคริสต์มาส จึงมีชื่อเรียกว่า “กระจุกดาวต้นคริสต์มาส (Christmas Tree Cluster)” ซึ่งในภาพนี้เป็นต้นคริสต์มาสที่กลับหัวอยู่ มีดาวสว่างเด่นบนเนบิวลากรวยเป็นยอดของต้นคริสต์มาส

นอกจากนี้ เหนือกลุ่มแก๊สสีฟ้าด้านบนของภาพมีกลุ่มแก๊สสีแดงที่รูปร่างแปลกประหลาดกว่าโดยรอบ จึงมีชื่อเล่นว่า “เนบิวลาขนสุนัขจิ้งจอก (Fox Fur Nebula)”

ภาพ : ตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์/ กีรติ คำคงอยู่
TRT-SBO/ CDK17/ FLI16803

\"Merry Christmas\" สไตล์ชาวดาราศาสตร์ ด้วย \"เนบิวลา\" ต้นคริสต์มาสแห่งเอกภพ