เริ่มใหม่ได้เสมอ! ไขข้อสงสัย ทำไม "อุปกรณ์ไอที" มีปัญหา ปิด-เปิดใหม่แล้วหาย

เริ่มใหม่ได้เสมอ! ไขข้อสงสัย ทำไม "อุปกรณ์ไอที" มีปัญหา ปิด-เปิดใหม่แล้วหาย

ไม่ใช่มายากลหรืออิทธิปาฏิหาริย์ แต่อาการอ๊องๆ ของ "อุปกรณ์ไอที" ที่มักจะหายไปเป็นปลิดทิ้งเวลาปิดแล้วเปิดเครื่องใหม่ มีคำอธิบาย

เคยได้ยินกันไหมว่าเวลาสมาร์ทโฟน, แล็ปท็อป, แท็บเล็ต และอุปกรณ์ไอทีอื่นๆ มีอาการค้างบ้าง หน่วงบ้าง อืดบ้าง เอ๋อบ้าง จะแก้ด้วยเทคนิคอะไรก็ไม่หาย แต่พอใช้วิธีสูงสุดสู่สามัญอย่างการปิดเครื่องแล้วเปิดใหม่ ปรากฏว่ากลับมาดีขึ้น

KT Review กรุงเทพธุรกิจไอที จะมาไขความลับของ วิธีการแก้ปัญหาอุปกรณ์ไอทีสุดล้ำแสนธรรมดาด้วยการให้น้องๆ “พักก่อน” จริงๆ แล้วทำไมได้ผลชะงัดนัก

Device ก็เหมือนร่างกายมนุษย์

การทำงานหนัก ออกกำลังกายหนัก หรือแม้แต่แค่ใช้ชีวิตไปวันๆ ร่างกายของคนเราก็ยังเหนื่อยล้าจนต้องการการพักผ่อน แล้วอุปกรณ์ไอทีที่ต้องรันตัวเองตลอดเวลาถ้าแบตไม่หมดก็ต้องพร้อมใช้งาน พอถึงจุดหนึ่งที่ถูกใช้งานจนถึงขีดจำกัดหรือเกิดปัญหาบางอย่างขึ้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะออกอาการงอแง

อาการของอุปกรณ์ไอทีที่มักจะพบเจอมีตั้งแต่ ค้าง, ช้า, หน่วง, ไม่ทำงาน, เชื่อมต่อไม่ได้ หรือดับๆ ติดๆ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นจากความผิดพลาดได้ทั้งตัวฮาร์ดแวร์ไปจนถึงซอฟต์แวร์

ปิด-เปิดใหม่ ทำไมหาย

ทางกายภาพการกดปุ่มปิดและเปิดใหม่ดูจะง่ายดาย แต่ในทางเทคนิคนี่คือการ รีบูต (Reboot) หรือการเริ่มระบบใหม่อีกครั้ง เพื่อให้ระบบต่างๆ ได้ Boot System ใหม่ เพราะอาจเกิดความผิดพลาดในระบบ แล้วการรีบูตจะช่วยลบความผิดพลาดแล้วเริ่มระบบใหม่อย่างปกติ

หลายคนคุ้นกับคำว่า รีสตาร์ท (Restart) ซึ่งการรีบูตกับรีสตาร์ท ถึงจะเขียนไม่เหมือนกันแต่มีความหมายทำนองเดียวกัน เพราะผลลัพธ์ทั้งสองอย่างคือช่วยเคลียร์การทำงานทั้งหมดก่อนเริ่มทำงานใหม่เหมือนกัน

แต่สำหรับการปิดเครื่องปกติอย่างการชัตดาวน์ (Shutdown) แล้วเปิดเครื่องใหม่ จะให้ผลที่แตกต่างจากสองวิธีข้างต้นอยู่พอสมควร เพราะการชัตดาวน์เป็นเพียงการปิดเครื่อง ทว่ารีบูตกับรีสตาร์ทเพิ่มเรื่องการจัดกระบวนทั้งหมดในเครื่อง, เคลียร์แรม, เคลียร์แคช (Cache) เพื่อเริ่มต้นทำงานใหม่ จึงแก้ปัญหาให้อุปกรณ์ไอทีได้มีประสิทธิภาพมากกว่า หมายความถ้าต้องการแก้ปัญหาควรรีบูตกับรีสตาร์ท

รีบูตมีทั้งสถานเบาและสถานหนัก

สำหรับคอมพิวเตอร์ การรีบูตแบบเบาๆ หรือที่เรียกกันว่า Soft Reboot หรือ Warm Reboot ด้วยการกดปุ่มคำสั่งลัด เช่นในระบบ Windows กด Alt + Ctrl + Delete หรือเลือก Restart ได้เมื่อเครื่องมีปัญหา ส่วนการรีบูตขั้นหนัก หรือ Hard Reboot หรือ Cold Reboot จะใช้ในกรณีที่เลือกฟังก์ชันต่างๆ ตามปกติไม่ได้ เครื่องมีอาการค้าง โดยเป็นวิธีการที่หลายคนคงเคยทำ คือ กดปุ่ม Power ค้างจนเครื่องดับไป แล้วรอสักพักเครื่องจะกลับมาเปิดอีกครั้งเอง นั่นหมายความเครื่องได้รีบูตแล้ว

กระบวนการระหว่างที่เครื่องดับไปหลังจากกดปุ่ม Power ค้างไว้ ระบบทุกอย่างจะถูกบังคับให้หยุดทำงาน ตัดไปทั้งหมดออกจากเครื่อง แล้วค่อยกลับมาจัดการระบบต่างๆ ใหม่อีกครั้ง

ต่อจากนี้ไปจะได้รู้ว่า "ปิดแล้วเปิดใหม่" ไม่ใช่แค่การพักเครื่องแล้วทุกอย่างกลับมาดี แต่บางอย่างต้องอาศัยกระบวนการทางเทคนิคเข้ามาแก้ไขถึงต้นตอของปัญหาด้วย