"สิงคโปร์" ฮับสตาร์ทอัพเอเชีย ฝ่ากระแสเศรษฐกิจโลกชะลอ

"สิงคโปร์" ฮับสตาร์ทอัพเอเชีย ฝ่ากระแสเศรษฐกิจโลกชะลอ

ท่ามกลางความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปัจจุบัน ดูเหมือนว่า “สิงคโปร์” ฮับสตาร์ทอัพแห่งเอเชียได้รับผลกระทบไม่มากนัก โดยยังมีเม็ดเงินระดมทุนเติบโตต่อเนื่อง แม้จำนวนยูนิคอร์นเกิดใหม่ในปีนี้จะน้อยลงก็ตาม

ปัจจุบัน สิงคโปร์ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและสตาร์ทอัพ ซึ่งถูกตั้งฉายาว่า “ซิลิคอนวัลเลย์แห่งเอเชีย” เป็นฐานที่ตั้งของสตาร์ทอัพอุตสาหกรรมต่าง ๆ กว่า 4,000 ราย และมีนักลงทุนในสตาร์ทอัพเหล่านี้กว่า 630 ราย

ข้อมูลจากเอ็นเตอร์ไพรส์ สิงคโปร์ หน่วยงานด้านการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการของรัฐบาลสิงคโปร์ ระบุว่า ระบบนิเวศด้านนวัตกรรมและสตาร์ทอัพของประเทศ กระตุ้นให้เกิดการลงทุนเป็นพันธมิตรและสร้างนวัตกรรมร่วมกัน มูลค่าแตะราว 3.82 แสนล้านบาทในปีที่แล้ว

ระบบนิเวศด้านนวัตกรรมและสตาร์ทอัพของสิงคโปร์ยังคงมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการรักษาบรรยากาศอันคึกคักและฟื้นตัวได้เร็ว ท่ามกลางการระบาดใหญ่ของโควิด-19

เอ็นเตอร์ไพรส์ สิงคโปร์ ระบุว่า กิจกรรมการระดมทุนเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณมาอยู่ที่ 1.47 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 3.82 แสนล้านบาท) ในปี 2564 เติบโตกว่า 45% เมื่อเทียบเป็นรายปีระหว่างปี 2560-2564 ซึ่งถือเป็นสัญญาณของความเชื่อมั่นในบรรยากาศการลงทุนในสตาร์ทอัพสิงคโปร์

\"สิงคโปร์\" ฮับสตาร์ทอัพเอเชีย ฝ่ากระแสเศรษฐกิจโลกชะลอ

ขณะเดียวกัน การทำธุรกิจร่วมลงทุนเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 มีมูลค่าแตะ 8,180 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 2.12 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 54% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

  • เศรษฐกิจโลกซบ ยูนิคอร์นเกิดใหม่ชะงัก

ปีเตอร์ ออง ประธานเอ็นเตอร์ไพรส์ สิงคโปร์กล่าวในงาน SWITCH 2022 งานประชุมใหญ่ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีประจำปีของสิงคโปร์เมื่อเดือน ต.ค.ว่า ยูนิคอร์นเกิดใหม่ของสิงคโปร์ในปีนี้มีจำนวนน้อยเกินไป ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ซึ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและแนวโน้มการระดมทุน

“ปีนี้ สิงคโปร์มีสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ยูนิคอร์น เพียง 4 รายเท่านั้น เทียบกับจำนวน 11 รายในปีที่แล้ว”

สำหรับยูนิคอร์น 4 รายใหม่ของสิงคโปร์ในปีนี้ ประกอบด้วย ไบโอโฟร์มิส (Biofourmis) บริษัทด้านสุขภาพดิจิทัล, โคดา เพย์เมนต์ส (Coda Payments) ผู้ให้บริการโซลูชันดิจิทัล, อินไซเดอร์ (Insider) บริษัทเทคโนโลยีการตลาด และ ลิฟสเปซ (Livspace) บริษัทออกแบบภายในผ่านออนไลน์

“บรรยากาศเศรษฐกิจมหภาคในปัจจุบันดูสิ้นหวังขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้แนวโน้มการระดมทุนและการจดทะเบียนสตาร์ทอัพก็ลดลงตามไปด้วย” อองระบุ

อย่างไรก็ตาม ประธานเอ็นเตอร์ไพรส์ สิงคโปร์ ชี้ว่า ขณะนี้การระดมทุนร่วมลงทุนในสิงคโปร์ยังคงส่งสัญญาณขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยมีการบรรลุข้อตกลงร่วมลงทุนสตาร์ทอัพแล้ว 517 ข้อตกลง มูลค่ารวม 1.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้

  • สตาร์ทอัพอาเซียนในมุมมองสิงคโปร์

ในสิงคโปร์ บรรดาบริษัทร่วมลงทุน หรือเวนเจอร์มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการให้การสนับสนุนทางการเงินสตาร์ทอัพหลายรายจนเติบโตและประสบความสำเร็จ และเวนเจอร์เหล่านี้ก็มีความคิดเห็นที่หลากหลายต่อสตาร์ทอัพในภูมิภาค รวมถึงไทยด้วย

คาร์เมน ยวน หุ้นส่วนทั่วไปจากบริษัทเวอร์เท็กซ์ เวนเจอร์สซึ่งร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพในอินเดียสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย เปิดเผยว่า 90% ของสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) หลายประเทศในภูมิภาคพยายามพัฒนาบุคลากรด้านสตาร์ทอัพของตนอย่างต่อเนื่อง โดยในภาพรวมแต่ละประเทศมีจุดแข็งแตกต่างกันไป

“ในสายตาของสิงคโปร์ เวียดนามมีจุดแข็งด้านบุคลากรโค้ดดิ้ง ส่วนเกมเมอร์เป็นสายอาชีพที่น่าจับตาที่สุด” ยวนกล่าว และว่า “ขณะที่มาเลเซียมีจุดแข็งด้านภาษา ประชากรส่วนใหญ่พูดได้ถึง 4 ภาษา รวมถึงจีนกลางและอังกฤษ ส่วนไทยมีจุดแข็งที่มีบริษัทใหญ่หลายรายและปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ”

ขณะที่ประเด็นที่อาจดูเป็นข้อเสียเปรียบของสตาร์ทอัพไทยคือ “ความทะเยอทะยานในตลาดต่างแดน

ยวนมองว่า จุดที่สตาร์ทอัพไทยควรปรับ คือ ความทะเยอทะยานของผู้ประกอบการไทยยังไม่สูงมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เน้นเจาะตลาดในประเทศที่มีประชากร 66 ล้านคน และไม่ค่อยหวังออกไปตลาดต่างประเทศที่อาจมีความท้าทายมากกว่า

ขณะที่ พอล ซานโตส หุ้นส่วนผู้จัดการจากบริษัทเวฟเมกเกอร์ พาร์ทเนอร์ส ซึ่งร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพทั่วอาเซียน แนะนำว่า ผู้ประกอบการไทยควรคิดให้หนักว่า ตัวเองต้องการแก้เพนพอยต์อะไรในสังคมหรือของผู้บริโภค รวมไปถึงการคิดนอกกรอบก็เป็นสิ่งสำคัญในอุตสาหกรรมนี้

“สิ่งสำคัญที่สุดของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณระดมทุนได้มูลค่ามากแค่ไหน แต่อยู่ที่ว่าธุรกิจของคุณช่วยแก้เพนพอยต์ของผู้บริโภคได้จริงหรือเปล่า นั่นคือมูลค่าที่แท้จริงของสตาร์ทอัพ”

ส่วนปัจจัยท้าทายที่ยังมีความสำคัญอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงการทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายทั้งผู้ประกอบการและนักลงทุนเห็นภาพตรงกันเรื่องการสร้างมูลค่าจากการแก้เพนพอยต์ของผู้บริโภค และด้วยเหตุที่ภูมิภาคนี้มีการระดมทุนกันอย่างมหาศาล ผู้ประกอบการควรบริหารจัดการอย่างรอบคอบด้วยเช่นกัน

“จุดแข็งหลัก ๆ ของสตาร์ทอัพในอาเซียน รวมถึงการประเมินมูลค่าธุรกิจ การสนับสนุนจากภาครัฐ มีแนวโน้มที่การระดมทุนจะฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้” ซานโตสระบุ