ดีป้าเผยดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ ดิจิทัลไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้น

ดีป้าเผยดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ ดิจิทัลไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้น

ดีป้า ระบุ แม้ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังไม่อยู่ในระดับเชื่อมั่น เพราะผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ ภาวะสงคราม เงินบาทที่อ่อนค่ารุมเร้า ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ในภาคอุตสาหกรรมยังไม่ดีเท่าที่ควร

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า แถลงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Sentiment Index) ไตรมาส 3 ประจำปี 2565 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Device) กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Service) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecommunication)

โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 48.6 ปรับตัวดีขึ้นจาก 46.0 ในไตรมาส 2 ของปี และปรับขึ้นในเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านผลประกอบการ ปริมาณการผลิต คำสั่งซื้อ การจ้างงาน การลงทุนเพื่อประกอบการ แต่ความเชื่อมั่นฯ ด้านต้นทุนประกอบการ ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง
 

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า อานิสงส์จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายขึ้นตามลำดับส่งผลให้กำลังซื้อของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม นับเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อดัชนีความเชื่อมั่นฯ ไตรมาส 3

แต่ในขณะเดียวกัน ต้นทุนยังคงอยู่ในระดับที่สูง สาเหตุจากราคาน้ำมัน ภาวะสงครามที่ทำให้เกิดปัญหา Supply Shortage ค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้น และเงินบาทที่อ่อนค่าจากการปรับดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกา รวมถึงการปิดประเทศจากนโยบาย Zero-Covid ของจีนส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกในประเทศ และภาพรวมเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย และยังเป็นแหล่ง Supply ที่สำคัญของโลก

นอกจากนี้ การพยายามลดต้นทุนของภาคธุรกิจยังส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ที่ภาคธุรกิจส่วนใหญ่เริ่มหันมาใช้อินฟลูเอนเซอร์เพื่อการโฆษณา หรือทำการตลาดในรูปแบบอื่นแทนการผลิตดิจิทัลคอนเทนต์เพื่อลดต้นทุน
 

หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมจะพบว่า มี 2 อุตสาหกรรมย่อยที่ดัชนีความเชื่อมั่น ปรับตัวขึ้นมาสูงกว่าระดับ 50 ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อยู่ที่ระดับ 53.2 และกลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้าน ดิจิทัล อยู่ที่ระดับ 50.2 ขณะที่อุตสาหกรรมย่อยอื่นยังมีความเชื่อมั่นต่ำกว่าระดับ 50 ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ และอุปกรณ์อัจฉริยะ อยู่ที่ระดับ 46.4 กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อยู่ที่ระดับ 42.9 และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอยู่ที่ระดับ 41.9

“ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยคาดหวังให้ภาครัฐเพิ่มมาตรการส่งเสริมด้านการเงินให้เข้าถึงง่ายและทั่วถึง ส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สำหรับพัฒนานวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันในเวทีโลก สนับสนุนการจับคู่ทางธุรกิจ และเปิดโอกาสในการเข้าถึงตลาดภาครัฐ รวมถึงผ่อนปรนระบบกฎหมายธุรกิจให้เกิดความสะดวกยิ่งขึ้น” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์