รู้จัก "Mastodon" โซเชียลมีเดียมาแรง ทางเลือกใหม่ "ทวิตเตี้ยน"

รู้จัก "Mastodon" โซเชียลมีเดียมาแรง ทางเลือกใหม่ "ทวิตเตี้ยน"

ทำความรู้จัก “Mastodon” โซเชียลมีเดียที่กำลังมาแรง เนื่องจากผู้ใช้งานทวิตเตอร์ หรือที่เรียกว่า “ทวิตเตี้ยน” หันไปสมัครใช้งานกันมากขึ้น หลังจากความวุ่นวายและการปรับนโยบายของทวิตเตอร์ โดยสามารถใช้ได้ฟรีและไม่มีโฆษณา แต่อาจใช้ยากไปบ้าง

ท่ามกลางความวุ่นวายที่ไม่จบไม่สิ้นของ “ทวิตเตอร์” (Twitter) โซเชียลมีเดียตัวท็อปที่ถูก “อีลอน มัสก์” นักธุรกิจเทคชื่อดังและมหาเศรษฐีรวยที่สุดในโลก เทคโอเวอร์ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ หรือ “ทวิตเตี้ยน” บางส่วนตัดสินใจย้ายไปยัง “Mastodon” โซเชียลมีเดียที่กำลังมาแรง

Mastodon อาจจะไม่ได้เป็นชื่อที่คุ้นหูคนทั่วไปเท่าไร แม้ว่าแพลตฟอร์มนี้จะเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2559 แล้วก็ตาม แต่ตอนนี้เริ่มเป็นที่พูดถึงและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเหล่าทวิตเตี้ยนเบื่อหน่ายปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังรุมเร้าทวิตเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการเลิกจ้างพนักงาน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบบริการจนเกิดประเด็นถกเถียง ตลอดจนการเปลี่ยนแนวทางกลั่นกรองเนื้อหาและทวีตที่แสดงความเกลียดชัง จนต้องหาแพลตฟอร์มอื่นไว้ใช้สำรอง

 

  • แพลตฟอร์มที่น่าจับตามอง

แม้ว่าตอนนี้ Mastodon จะไม่ได้มีความคล่องตัว เน้นการสนทนาและอัปเดตข้อมูลข่าวสารรวดเร็วเท่ากับทวิตเตอร์ แต่ Mastodon ถือว่ามีลักษณะที่คล้ายกับทวิตเตอร์อยู่ โดยมีไทม์ไลน์ของการอัปเดตสั้น ๆ ที่จัดเรียงตามลำดับเวลา มากกว่าที่จะใช้การประมวลผลของอัลกอริทึม อีกทั้งอนุญาตให้ผู้ใช้เข้าร่วมเซิร์ฟเวอร์ต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดยบุคคลหรือกลุ่มคนต่าง ๆ แทนที่จะถูกควบคุมโดยส่วนกลางเหมือนกับโซเชียลมีเดียใหญ่รายอื่น ๆ เช่น ทวิตเตอร์, อินสตาแกรม หรือ เฟซบุ๊ก

นอกจากนี้ Mastodon ยังมีฟีเจอร์และหน้าตาของอินเทอร์เฟซของแอปพลิเคชันที่คล้ายกับทวิตเตอร์ โดยเฉพาะในระบบ iOS ทำให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ที่ไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก คุณสามารถติดตามผู้อื่นได้ โพสต์ข้อความที่มีความยาว 500 ตัวอักษร อัปโหลดภาพหรือคลิปวิดีโอ ตลอดจนกดถูกใจและรีโพสต์ (คล้ายปุ่มแชร์ในเฟซบุ๊กหรือรีทวีตในทวิตเตอร์) โพสต์ของผู้อื่นได้ด้วย

Mastodon ได้รับการพัฒนาโดยองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ดำเนินการโดย ยูเจน รอชโก นักพัฒนาซอฟต์แวร์วัย 29 ปี โดยได้รับการสนับสนุนผ่านการระดมทุน ทำให้สามารถใช้งานฟรีและไม่มีโฆษณามากวนใจ

เดิมที รอชโกสร้าง Mastodon มาเพื่อเป็นงานอดิเรกมากกว่าจะเปิดให้คนทั่วไปใช้ สำหรับชื่อ Mastodon นั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากชื่อวงดนตรีเฮฟวีเมทัลที่ตัวเองชื่นชอบ โดยเขาให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ตั้งแต่ที่มัสก์เข้าซื้อทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 27 ต.ค. Mastodon มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นราว 230,000 ราย และเพิ่มขึ้นเรื่อยมาจนขณะนี้มีผู้ใช้งานกว่า 655,000 รายต่อเดือน 

“เห็นได้ชัดว่า Mastodon ไม่ได้มีผู้ใช้งานเท่าทวิตเตอร์ แต่นี่ก็เป็นการเติบโตมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา” รอชโกระบุ โดยเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ประกาศว่ามีผู้ใช้งานที่สร้างรายได้จากแพลตฟอร์มเกือบ 238 ล้านบัญชีต่อวัน 

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากผลงานของผมได้รับคำชื่นชมและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ผมทำงานหนักเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีวิธีการทำโซเชียลมีเดียที่ดีกว่า บริษัทเชิงพาณิชย์อย่าง ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก ทำอยู่” รอชโกให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Time

  • การใช้งานรูปแบบใหม่

เนื่องด้วย Mastodon ประกอบด้วยหลากหลายเซิร์ฟเวอร์ ทำให้แต่ละเซิร์ฟเวอร์มีกฎการดูแลของตนเอง แต่บางแห่งก็ไม่มี ขณะที่บางแห่งเลือกที่จะไม่ลิงก์ไปยังเซิร์ฟเวอร์อื่น ๆ ส่งผลให้การดูแลและควบคุมเนื้อหานั้นแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ดูแลเซิร์ฟเวอร์ โดยแพลตฟอร์มไม่สามารถทำอะไรได้ แม้กระทั่งปฏิบัติตามมาตรฐานการควบคุมเนื้อหาขั้นพื้นฐาน ทำให้มีเนื้อหาแสดงความเกลียดชังจำนวนมาก 

อย่างไรก็ตาม จุดนี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่หากแพลตฟอร์มนี้เติบโตต่อไป โดยไม่ได้รับการแก้ไข

มีรายงานเกี่ยวกับบุคคลที่ตกเป็นเป้าของเนื้อหาแสดงความเกลียดชังจาก Mastodon จากการสำรวจของสำนักข่าว BBC และ CNN พบว่ามีเนื้อหาการแสดงความเกลียดชังกลุ่ม LGBTQ+ แม้ว่าผู้ใช้งานจากเซิร์ฟเวอร์อื่นสามารถรวมตัวกันเพื่อบล็อกหรือลบข้อความเหล่านั้นได้ก็ตาม

ทั้งนี้ รอชโกเปิดเผยกับนิตยสาร Time ว่า “Mastodon จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นในการจัดการกับเนื้อหาที่ไม่ต้องการ ทั้งที่ฝั่งผู้ใช้และฝั่งโอเปอเรเตอร์ไว้เรียบร้อยแล้ว” ซึ่งเป็นมาตรการกระจายอำนาจให้แก่ผู้ใช้งาน ไม่ใช่เพียงแต่การตัดสินใจจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับทางผู้ใช้งานและผู้ควบคุมเซิร์ฟเวอร์แล้วว่าจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร

อีกทั้งบัญชีผู้ใช้งาน Mastodon นั้นใช้เซิร์ฟเวอร์จำนวนมากในการควบคุม ทำให้ผู้ใช้กระจายไปตามผู้คนและกลุ่มต่าง ๆ ไปทั่วทุกที่ และผู้ใช้จะต้องเข้าร่วมเซิร์ฟเวอร์เฉพาะเพื่อลงชื่อสมัครใช้ บางเซิร์ฟเวอร์เปิดให้ทุกคน หรือบางเซิร์ฟเวอร์ต้องได้รับคำเชิญ โดยเซิร์ฟเวอร์มีมากมายให้เลือกตามประเทศ เมือง หรือความสนใจ เช่น สหราชอาณาจักร โซเชียล เทคโนโลยี เกม และอื่น ๆ

ขณะที่ การค้นหาบุคคลอื่น ผู้ใช้งานจำเป็นจะต้องรู้ว่าเขาเหล่านั้นสมัครผ่านเซิร์ฟเวอร์อะไร ถ้าหากอยู่บนเซิร์ฟเวอร์เดียวกัน ผู้ใช้สามารถค้นหาได้ทันที แต่ถ้าสมัครกันคนละเซิร์ฟเวอร์ผู้ใช้จำเป็นที่จะต้องรู้ว่าเขาสมัครด้วยเซิร์ฟเวอร์อะไร รวมถึงยังไม่มีการแนะนำผู้ติดตามที่คุณอาจสนใจ เหมือนกับทวิตเตอร์อีกด้วย นี่จึงทำให้ผู้ใช้หาคนที่รู้จักได้ยากขึ้น และเป็นอีกหนึ่งความยุ่งยากที่ไม่เคยเจอมาก่อนในแพลตฟอร์มอื่น

นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ Mastodon เท่านั้น และแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพในการไปต่อได้ ขณะเดียวกันก็มีอีกหนึ่งโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มที่น่าจับตามอง คือ “BlueSky” ของ “แจ็ค ดอร์ซี” ผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์ที่อยู่ในขั้นตอนการพัฒนา 

ไม่ว่าทั้ง 2 แพลตฟอร์มนี้จะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้แก่โซเชียลมีเดียเจ้าตลาดอย่างเฟซบุ๊ก หรือ ทวิตเตอร์ ได้หรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ คือผู้ใช้ย่อมได้รับประโยชน์จากการแข่งขันการพัฒนาแพลตฟอร์มอย่างแน่นอน


ที่มา: BBCCNNTIME