จุฬาฯ ชู “ปะการัง 3 มิติ” ฟื้นฟูทะเลไทย สวรรค์แห่งใหม่ของนักดำน้ำ

จุฬาฯ ชู “ปะการัง 3 มิติ” ฟื้นฟูทะเลไทย สวรรค์แห่งใหม่ของนักดำน้ำ

นวัตปะการังหรือปะการังสามมิติ ผลงานจากทีมวิจัย คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ (NIAWARDS) ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความสวยงามใกล้เคียงกับธรรมชาติ ช่วยฟื้นฟูแนวปะการัง ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมทางทะเล

ปะการัง” ดอกไม้แห่งท้องทะเลที่มีเสน่ห์และความสวยงามแปลกตา แนวปะการังยังเป็นแหล่งอยู่อาศัยของสัตว์น้ำและปลาตัวเล็กตัวน้อย ที่สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ท้องทะเลอีกด้วย แต่ที่ผ่านมาแนวปะการังได้ถูกทำลายลงไปอย่างมาก ทั้งจากการจับสัตว์น้ำตามแนวชายฝั่ง การลากอวนในแนวปะการัง การทอดสมอเรือ รวมถึงการพัฒนาท้องถิ่นตามแนวชายฝั่ง 

จากปัญหาที่เกิดขึ้นได้นำไปสู่การคิดค้น “นวัตปะการัง” หรือ Innovareef เป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแนวคิดและวิถีการอนุรักษ์ท้องทะเลของไทยและของโลกให้เป็นไปอย่างสมดุล กลมกลืน ยั่งยืน 

จุฬาฯ ชู “ปะการัง 3 มิติ” ฟื้นฟูทะเลไทย สวรรค์แห่งใหม่ของนักดำน้ำ

นอกจากนี้ ปะการังเทียมในอดีตนั้น มักสร้างมลภาวะทางสายตา และส่วนใหญ่ไม่ได้ผล ด้วยเหตุนี้ รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและสัตว์น้ำเพื่อการอนุรักษ์ (OAAC) คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จึงได้คิดค้นปะการังเทียมที่มีความสวยงามเหมือนจริงใกล้เคียงกับธรรมชาติ ลดแรงต้านของน้ำขึ้นลงได้ดี ช่วยให้ตัวอ่อนปะการังลงเกาะได้ดี เป็นถิ่นที่อยู่สำหรับสัตว์ทะเลสายพันธุ์ต่าง ๆ และช่วยเร่งฟื้นฟูแนวปะการัง

และ นวัตปะการัง (Innovareef) ของทีมจุฬาฯ ได้คว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ (NIAWARDS) ประจำปี 2563 ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ

โดยนวัตกรรมปะการังมีข้อได้เปรียบมากกว่าปะการังเทียมทั่วไป ดังนี้

  • บนตัวนวัตปะการังมีการพ่นเคลือบสารอาหารจำพวกแคลเซียมและฟอสเฟตที่ปะการังตามธรรมชาติใช้ในการเติบโต ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่า ต่ัวอ่อนปะการังที่มาเกาะบนนวัตปะการังโตเร็วกว่าปะการังตามธรรมชาติ เฉลี่ยละ 3-4 เซนติเมตรต่อปี
  • เลียนแบบลักษณะตามธรรมชาติของปะการัง รองรับการลงเกาะของตัวอ่อนปะการังได้ดี ทั้งยังเหมาะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล
  • ลดแรงต้านกระแสน้ำ ออกแบบโดยใช้เทคโนโลยีไฮโดรไดนามิก
  • สถานีอัจฉริยะเพื่อตรวจวัดสภาวะโลกร้อน โดยติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางทะเล เช่น อุณหภูมิของน้ำ การไหลของกระแสน้ำ วัดความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) เป็นต้น
  • การออกแบบระดับรางวัล ใช้ซีเมนต์ที่มีค่าความเป็นกรดด่างใกล้เคียงน้ำทะเล ออกแบบตามแนวคิดเลโก้ คือการทำเป็นบล็อกถอดประกอบชิ้นส่วนได้ เพื่อความสะดวกในการขนย้ายนวัตปะการัง รวมแล้วค่าใช้จ่ายในการผลิตอยู่ที่ราว 26,000 บาทต่อนวัตปะการังหนึ่งตัวเท่านั้น

จุฬาฯ ชู “ปะการัง 3 มิติ” ฟื้นฟูทะเลไทย สวรรค์แห่งใหม่ของนักดำน้ำ

นวัตปะการังยังถูกออกแบบให้สามารถถอดประกอบและปรับแต่งโครงสร้างได้ตามความต้องการ เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานตามวัตถุประสงค์ในแต่ละพื้นที่ด้วยขนาดชิ้นส่วนประกอบที่เล็ก นํ้าหนักเบา ทําให้สามารถยกเคลื่อนย้ายได้ง่าย

ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งทั้งทางบกและทางนํ้า รวมทั้งค่าติดตั้งตํ่ากว่าปะการังเทียมรูปแบบเดิม นําไปสู่โอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของคนในชุมชนที่ดีขึ้นและทางเลือกสําหรับ CSR ขององค์กรที่ดีกว่าในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล

ทั้งนี้ แนวนวัตปะการังสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้ ทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เพิ่งเริ่มหัดดำน้ำใหม่ ๆ นักดำน้ำสน็อกเกิล และผู้ที่ต้องการเดินใต้ทะเล เพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศชาติ ช่วยฟื้นฟูแนวปะการัง ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมทางทะเล

ทางทีมวิจัยมีแผนที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงอีก โดยจะออกแบบให้มีลักษณะเฉพาะเจาะจงเหมาะสมกับสัตว์น้ำแต่ละชนิดในละแวกนั้น นอกจากนี้ ทีมวิจัยกำลังวิจัยต่อยอดร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในการออกแบบนวัตปะการังที่ผสานนาโนเทคโนโลยี เพื่อให้ปกป้องปะการังจากสภาวะโลกร้อนได้