ผ่ายุทธศาสตร์ ‘ไทยคม’ ปักธงสู่ 'สเปซ เทค คัมพานี'

ผ่ายุทธศาสตร์ ‘ไทยคม’  ปักธงสู่ 'สเปซ เทค คัมพานี'

“ไทยคม” ดำเนินกิจภายใต้สัญญาสัมปทานมาตลอด 30 ปี ถึงวันที่สิ้นสุดลงเมื่อต้นเดือน ก.ย.2564 หมุดหมายของบริษัทในอนาคต ขอเดินเกมในธุรกิจใหม่ที่ยัง “หมุนรอบตัว” ในสายธุรกิจที่เกี่ยวกับดาวเทียม และขอไม่แข็งแกร่งแค่ในประเทศ หากพร้อมจะแข่งขันอย่างเต็มภาคภูมิในวงโคจรโลก

เดินหน้าแสวงหาน่านน้ำใหม่

ปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ในฐานะซีอีโอไทยคม เข้ารับตำแหน่งนี้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 นับรวม 8 เดือนแล้ว แต่ในฐานะของพนักงานในองค์กรแห่งนี้ ปีนี้เข้าปีที่ 30 และมองว่า ธุรกิจดาวเทียมยังคงมีโอกาสอยู่มากมายในจักรวาลนี้ และไม่ใช่ธุรกิจขาลงหรือเป็น Sunset Business อย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะโอกาสของธุรกิจยังมีรูมให้ขยายตัวอีกมาก

ผลวิจัยหลายแห่งระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า เทรนด์ของการติดต่อสื่อสารในโลกจะเติบโตในทุกๆ รูปแบบ ทั้งผ่านโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ฟิกซ์ไลน์ และแน่นอนว่า การสื่อสารผ่านดาวเทียมยิ่งทวีความต้องการมากขึ้น การให้บริการ “บรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม” จะช่วยเสริมศักยภาพการให้บริการสื่อสารในพื้นที่ห่างไกล และพื้นที่ส่วนที่เครือข่ายการสื่อสารยังไม่เพียงพอ
 

โครงสร้างธุรกิจ “ไทยคม” ได้ปรับเปลี่ยนหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ปัจจุบันไทยคมมีดาวเทียมให้บริการของตัวเองอยู่ 2 ดวง คือ ไทยคม 7 และไทยคม 8 เป็นการให้บริการด้านเทเลคอมภายใต้ C-band ส่วนไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) และไทยคม 6 ปัจจุบัน ส่งมอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และกระทรวงฯ ได้ส่งต่อให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นที เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานต่อ ไทยคมก็ได้ไปเช่าเหมาทรานสปอนเดอร์จากดาวเทียมทั้ง 2 ดวงมาทำตลาดให้ลูกค้าอีกทอดนึง มีลูกค้าสำคัญ คือ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง

“จากที่เราแบกรายจ่ายส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาสัมปทานถึง 22.5% พอเราหลุดจากสัมปทาน เราก็มีรายจ่ายให้ กสทช.เป็นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแค่ 4% ทำให้ไตรมาสที่ 2/2565 เรามีกำไรสุทธิจากธุรกิจหลักพลิกฟื้นจากผลขาดทุน และสำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2565 บริษัทมีผลกำไรสุทธิ จากธุรกิจหลักเป็นจำนวน 338 ล้านบาท พลิกฟื้นจากผลขาดทุนจำนวน 106 ล้านบาทในปีก่อน”

วางเป้าสู่ “สเปซ เทค คัมพานี”

ปฐมภพ บอกว่า ไทยคมเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับดาวเทียมมาตลอด 30 ปี มีทั้งองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในกิจการอวกาศ แนวทางการทำตลาด การหาพันธมิตรทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ดังนั้น ภาพของอนาคตตลาดจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น 

“ไทยคมต้องการขยายสโคปธุรกิจของตัวเอง จากเป็นผู้ให้ดำเนินธุรกิจดาวเทียมไปสู่การเป็น สเปซ เทค คัมปานี ภายใน 5 ปีต่อจากนี้ โดยจะมุ่ง 3 ธุรกิจใหม่มาเสริมกับธุรกิจดาวเทียมหลักที่ให้บริการ”

3 ธุรกิจใหม่ ประกอบด้วย 1.บริการ Software defined satellite ดาวเทียมที่สามารถควบคุมการทำงานได้เรียลไทม์จากภาคพื้นดิน เปลี่ยนองศาความครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ (footprint) เพื่อให้เกิดการใช้งานได้อย่างประสิทธิภาพ 

“ดาวเทียมชนิดนี้จะต่างจากดาวเทียมดวงก่อนๆ ที่ไทยคมผลิตและยิงขึ้นสู่วงโคจร เพราะในอดีตการสร้างดาวเทียมหนึ่งดวงจำเป็นต้องเขียนโปรแกรมการให้บริการองศาความครอบคลุมการใช้งาน ตั้งแต่สร้างดาวเทียม ไม่สามารถแก้ไข ดังนั้น หากดาวเทียมให้บริการในพื้นที่ๆ ไม่มีความต้องการใช้งานมากนัก ก็เท่ากับเป็นความเสี่ยงที่บริษัทต้องแบกรับ” 

2.รุกธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO หรือ Low Earth Orbit) เป็นดาวเทียมที่โคจรอยู่บนความสูงจากพื้นโลกระหว่าง 350 - 2,000 กิโลเมตร เมื่อต้นปีที่ผ่านมาไทยคม ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับบริษัท โกลบอลสตาร์ (Globalstar, Inc.) จาก สหรัฐอเมริกา ร่วมกันพัฒนา และบริหารจัดการสถานีภาคพื้นดินไทยคมในพื้นที่ลาดหลุมแก้ว 

และล่าสุดไทยคมร่วมกับเอ็นที ในการเป็นให้ดำเนินการจัดสร้างสถานีเกตเวย์ในภูมิภาคอาเซียนสำหรับ “One Web” เครือข่ายดาวเทียมบรอดแบนด์จากอังกฤษ มีเป้าหมายให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมครอบคลุมภูมิภาคอาเซียนในปี 2566

3.ธุรกิจนิว สเปซ อีโคโนมี เป็นธุรกิจที่มุ่งหาประโยชน์จากการใช้งานดาวเทียมในอวกาศ เช่น การประมวลผลภาพถ่ายจากดาวเทียม วิเคราะห์ข้อมูลดาต้า อนาไลติกส์จากโดยเทคโนโลยีอวกาศ ทำให้เกิด “บิ๊กดาต้า” ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งไทยคมร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจระยะไกล (Remote Sensing Satellite) มาวิเคราะห์โดยใช้ “เอไอ” เพื่อสร้างข้อมูลและโมเดลของระบบวิเคราะห์และประมวลผลเพื่องานประกันภัยพืชผล

ยิงดาวเทียมใหม่-ลุยประมูล

สำหรับการประมูลวงโคจรดาวเทียมของประเทศไทย ที่จะทำให้อุตสาหกรรมดาวเทียม และกิจการอวกาศเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจเสรีอย่างเต็มตัวนั้น ไทยคม แสดงความจำนงมาตลอดว่า พร้อมเข้าประมูลตามเงื่อนไขที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุ

"ปีที่แล้วก็ได้ยื่นซอง เพื่อขอเข้าร่วมประมูล แต่กสทช.ก็ตัดสินล้มประมูลเพราะมีเพียงไทยคมเพียงรายเดียวที่ยื่น"

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน กสทช.ได้ดำเนินการ ปรับปรุง หลักเกณฑ์ และวิธีอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในลักษณะจัดชุด (Package) แล้วเสร็จ โดยได้ปรับปรุง เรื่องการจัดชุด จากเดิม 4 ชุด เป็น 5 ชุด กำหนดเงื่อนไขแต่ละชุดให้แตกต่างกันตามสภาพของข่ายงานดาวเทียม รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติ ผู้เข้าร่วมประมูลให้มีความชัดเจนในแต่ละชุด เพื่อเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการทั้งรายเดิม และรายใหม่เข้าสู่การแข่งขันได้มากขึ้น

ทั้งนี้ มีไทม์ไลน์เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ร่าง) ประกาศฯ ในเดือน ส.ค.นี้ และ ในเดือน ก.ย.-ต.ค. จะนำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด กสทช.อนุมัติ เพื่อประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เดือนธ.ค.ก็คาดว่า จะเปิดประมูลได้ 

“ไทยคมยินดีที่สำนักงานกสทช.กำหนดกรอบเวลาขึ้นมาใหม่ และเราก็ยืนยันเช่นเดิมว่า พร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลแน่นอน อีกทั้ง กำลังร่างแผนงานยิงดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นสู่วงโคจรด้วย”

ตั้งบียูปลูกเมล็ดพันธุ์ทางไอเดีย

ซีอีโอไทยคม เล่าด้วยว่า ตั้งแต่มานั่งหัวเรือไทยคม ได้ตั้งคณะทำงาน Growth Council ที่มีความคิด มีนวัตกรรมและมองหาโอกาสใหม่ให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับไทยคม ขณะนี้ตั้งทีมมาแล้ว 15 ทีม เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่ไทยคมสามารถเข้าไปต่อยอด หรือจะดำเนินการได้ โดยคณะทำงานนี้ จะแยกจากพนักงานของไทยคมที่มีอยู่ 400 คน เพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัวสูงสุด

“เพราะดาวเทียมกำลังถูกพัฒนาในด้านเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องให้สามารถประยุกต์เข้าได้กับหลายธุรกิจที่เกิดใหม่ แนวโน้มการทำธุรกิจของไทยคม กำลังมองถึงการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งที่ผ่านมารายได้ของไทยคม โดยรวมมาจากต่างประเทศมากกว่า 50%” ซีอีโอ ไทยคม ทิ้งท้าย