‘เอาท์ซิสเต็มส์’ ชู 3 กลยุทธ์ เพิ่มความสำเร็จ ‘แอป อีโคโนมี’

‘เอาท์ซิสเต็มส์’ ชู 3 กลยุทธ์  เพิ่มความสำเร็จ ‘แอป อีโคโนมี’

การที่บริษัทจะสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมและประสบความสำเร็จในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นได้นั้น จำเป็นต้องทำลายโซ่ตรวนต่างๆ ที่ฉุดรั้งบริษัทเอาไว้

ทุกวันนี้องค์กรต่างๆ ได้รับแรงกดดันเพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนสำหรับการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่แปลกใหม่...

เติมศักดิ์ วีรขจรพงษ์ รองประธานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอาท์ซิสเต็มส์ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโมเดิร์นแอปพลิเคชันชั้นนำ เล่าว่า ก่อนหน้านี้เมื่อพูดถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ก็มักจะมุ่งเน้นเรื่องประสบการณ์สำหรับลูกค้าเป็นหลัก

แต่ปัจจุบันประเด็นที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของการทำงานจากที่บ้าน แบบไฮบริด และประสบการณ์สำหรับพนักงานและพาร์ทเนอร์ก็มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จในการดำเนินงานในสภาพแวดล้อมแบบกระจัดกระจาย

การที่บริษัทจะสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมและประสบความสำเร็จในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นได้นั้น จำเป็นต้องทำลายโซ่ตรวนต่างๆ ที่ฉุดรั้งบริษัทเอาไว้

ยกเครื่อง ‘แอปพลิเคชัน’

ไอดีซีคาดการณ์ว่า ภายในปี 2567 แอปพลิเคชันรุ่นเก่าส่วนใหญ่จะได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย โดยประมาณ 65% ของแอปพลิเคชันจะใช้บริการคลาวด์เพื่อขยายฟังก์ชั่นการทำงานหรือทดแทนโค้ดที่ไร้ประสิทธิภาพ

เรื่องนี้การนำเสนอคลาวด์แอปพลิเคชันที่ทันสมัยนับว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการเพิ่มความยืดหยุ่น ความสามารถในการปรับตัว และความคล่องตัว ทั้งยังช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ธุรกิจ 

อย่างไรก็ตาม การสร้างแอปพลิเคชันเหล่านี้อาจเป็นเรื่องยากลำบาก และการนำเสนอคลาวด์แอปที่ทันสมัยก็นับเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะทุกวันนี้องค์กรต้องใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมากไปกับการจัดการหนี้ทางเทคนิค (Technical Debt) ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่มีอยู่

ลาร่า เกรเดน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย ไอดีซี แนะนำถึงแนวทางที่จะช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายที่พบเห็นได้มากที่สุดสำหรับการปรับปรุงแอปพลิเคชันให้ทันสมัย เพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรสู่การเป็นโรงงานผลิตนวัตกรรมด้านซอฟต์แวร์ในยุคดิจิทัล โดยประเด็นเนื้อหาที่สำคัญจากการสัมมนามีดังต่อไปนี้

จุดเริ่มต้นที่จะต้องกล่าวถึงก็คือ เพราะเหตุใดการนำเสนอโมเดิร์นแอปพลิเคชันจึงเป็นเรื่องยาก องค์กรส่วนใหญ่โดยทั่วไปมีลักษณะที่แตกต่างจากบริษัทซอฟต์แวร์ชั้นนำ อย่างเช่น เน็ตฟลิกซ์ หรือ แอ๊ปเปิ้ล กล่าวคือ องค์กรเหล่านี้มักจะต้องเผชิญกับปัญหาท้าทาย 3 ข้อที่ขัดขวางความสามารถในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านซอฟต์แวร์

เลี่ยงไม่พ้น ‘ขาดบุคลากร’

 ที่สำคัญ การขาดแคลนนักพัฒนาที่มีความชำนาญ ข้อมูลจากไอดีซีระบุว่า ในช่วงปี 2564 มีการขาดแคลนนักพัฒนาราว 1.4 ล้านคน ซึ่งเท่ากับอัตราการขาดแคลน 10% เมื่อคำนวณจากจำนวนนักพัฒนาที่เป็นพนักงานประจำในปัจจุบัน และตัวเลขนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 20% ในช่วง 4 ปีข้างหน้า

ทั้งยังมี หนี้ทางเทคนิค โดยเฉลี่ยแล้ว 50% ของแอปพลิเคชันในองค์กรเป็นแอปพลิเคชันรุ่นเก่าที่ล้าสมัย และมีไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่ถูกบูรณาการเข้ากับเครื่องมือพัฒนาที่ทันสมัย

ที่พบได้บ่อย การขาดโครงการนวัตกรรม ตามคำจำกัดความของไอดีซี โครงการนวัตกรรมที่ว่านี้หมายถึงโครงการที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนนั่งร้านที่รองรับการสร้างวัฒนธรรม, เคพีไอ และชุดเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับนักพัฒนา

แม้ว่าโครงการนวัตกรรมจะมีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างแรงจูงใจให้แก่นักพัฒนา แต่ 41% ของบริษัทที่ต้องการสร้างนวัตกรรมดิจิทัลกลับไม่มีโครงการนวัตกรรม

ก้าวสู่ ‘High Innovator’

สำหรับ “3 กลยุทธ์ที่สำคัญ” สำหรับการปรับเปลี่ยนองค์กรให้กลายเป็นโรงงานผลิตนวัตกรรมด้านซอฟต์แวร์ และช่วยให้เอาชนะปัญหาท้าทาพร้อมก้าวสู่การเป็นโรงงานผลิตนวัตกรรมด้านซอฟต์แวร์ประกอบด้วย

1. ขับเคลื่อนกลยุทธ์การจัดซื้อซอฟต์แวร์ที่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม ไอดีซีระบุว่า บริษัทที่ใช้ซอฟต์แวร์ในการปรับปรุงผลประกอบการธุรกิจ หรือกลุ่มที่เรียกว่า “High Innovator” มีแนวโน้มที่จะดำเนินกลยุทธ์การจัดซื้อซอฟต์แวร์ที่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมวางแผนระยะยาว และไม่ได้แก้ไขปัญหาทีละอย่างโดยใช้ซอฟต์แวร์ของผู้ผลิตรายใดรายหนึ่ง

2. ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์ ไม่ใช่ผู้ใช้งานซอฟต์แวร์ ไอดีซีชี้ว่า ภายในปี 2568 ราวหนึ่งในสี่ของบริษัทชั้นนำที่ติดอันดับ Fortune 500 จะปรับเปลี่ยนสู่การเป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์ เพื่อรักษาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน

3. อย่าเริ่มต้นจากกระดาษเปล่า ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องสร้างทุกชิ้นส่วนของซอฟต์แวร์โดยเริ่มต้นจากศูนย์ เพราะสามารถเข้าถึงชุดโค้ดที่เขียนซ้ำๆ กันได้จากตลาดคลาวด์

สิ่งสำคัญคือ การขับเคลื่อนแนวทางในระดับแพลตฟอร์ม เพื่อเสริมศักยภาพให้แก่นักพัฒนาด้วยเครื่องมือ กระบวนการ และความสะดวก

การลงทุนในบุคลากรและการจัดหาเครื่องมือที่ดีกว่าจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่ทีมงานฝ่ายพัฒนา ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน และลดอัตราการลาออกของบุคลากร