“Plant-based” สมรภูมิใหม่ธุรกิจ FMCG | ต้องหทัย กุวานนท์

“Plant-based” สมรภูมิใหม่ธุรกิจ FMCG | ต้องหทัย กุวานนท์

ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจคอนซูเมอร์อย่าง ยูนิลีเวอร์ เนสท์เล่ และ เคลล็อกส์ กำลังรุกหนักกับยุทธศาสตร์การปั้นธุรกิจ “โปรตีนทางเลือก” เพื่อยึดครองพื้นที่ความเป็นผู้นำในตลาด

ล่าสุด ยูนิลีเวอร์ประกาศว่าจะสร้างยอดขายจากสินค้า ที่มีส่วนประกอบของจากโปรตีนจากพืชให้ได้ถึง หนึ่งพันล้านยูโรภายในปี 2027 และเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ปิดดีลการลงทุนกว่า 120 ล้านดอลลาร์กับ บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพระดับโลก Genomatica เพื่อร่วมกันพัฒนาและขยายตลาดผลิตภัณฑ์สกินแคร์และทำความสะอาด ที่ใช้ส่วนประกอบทางเลือกทดแทนการใช้น้ำมันปาล์ม เพื่อมุ่งลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์

ส่วน เคลล็อกส์ยักษ์ใหญ่ด้านอาหารอายุกว่า 116 ปี ก็เพิ่งประกาศว่าจะแยกธุรกิจขนมขบเคี้ยว ซีเรียล และอาหารจากพืช (Plant-based) ออกจากกัน โดยธุรกิจ Plant-based ที่มีรายได้กว่า 340 ล้านดอลลาร์จะถูกแยกออกมาเพื่อพัฒนาตลาดอาหารสำหรับอนาคต และมีอิสระในการระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจ

ฝั่งเนสท์เล่ ประกาศว่าจะร่วมลงทุนกว่าสี่พันล้านดอลลาร์ กับ Sundial Foods สตาร์ตอัปในซานฟรานซิสโกเพื่อทำให้ชิกเกนวิงส์จากพืชของ Sundial มีรสชาติอร่อยเหมือนเนื้อสัตว์และทดแทนเนื้อสัตว์ได้จริง นอกจากสามบริษัทยักษ์ใหญ่นี้แล้ว

ปีที่ผ่านมา เป๊ปซี่ โคและ ไฮนซ์ ก็ได้ก่อตั้งบริษัทร่วมทุนกับสตาร์ตอัป เพื่อขยายพอร์ตโฟลิโอของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ใช้ส่วนประกอบของโปรตีนทางจากพืช

ความเคลื่อนไหวขององค์กรยักษ์ใหญ่กลุ่ม FMCG ส่งสัญญาณชัดเจนว่า อุตสาหกรรมโปรตีนจากพืช กำลังจะกลายเป็นสมรภูมิเดือดที่ผู้เล่นรายใหญ่ทุกคนต้องลงมาเล่น แนวโน้มที่เห็นชัดเจนขึ้นคือองค์กรใหญ่เลือกที่จะลงทุนแบบหว่านและถือสัดส่วนหุ้นที่น้อย

 เป้าหมายหลักคือการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่หลากหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการควานหา เดอะวินเนอร์ที่จะทำให้โปรตีนทางเลือกตอบโจทย์เรื่อง รสชาติ-คุณสมบัติ-เนื้อสัมผัส ที่ใกล้เคียงโปรตีนจากสัตว์ให้ได้มากที่สุด

“Plant-based” สมรภูมิใหม่ธุรกิจ FMCG | ต้องหทัย กุวานนท์

ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ เม็ดเงินลงทุนในธุรกิจ Plant-based มีสัดส่วนลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับจุดสูงสุดกว่า ห้าพันล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์มองว่า เม็ดเงินลงทุนที่ลดลงเป็นสัญญาณของการปรับฐานระยะสั้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกเท่านั้น เพราะเมื่อประเมินจากจำนวนดีลและกลยุทธ์การลงทุนขององค์กรขนาดใหญ่ อนาคตการแข่งขันของธุรกิจนี้น่าจะดุเดือดยิ่งขึ้นไปอีก

“อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร” เป็นอุตสาหกรรมที่มีสำคัญต่อเศรษฐกิจและ GDP ของโลกในอันดับต้น ๆ และก็เป็นอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดคาร์บอน 1 ใน 4 ของคาร์บอนทั้งหมดที่ถูกปล่อยสู่โลก 

รายงานวิจัยล่าสุดของ Boston Consulting Group ระบุว่าทุกเม็ดเงินลงทุนที่ลงไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก จะส่งผลต่อการลดก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น 7 เท่ามากกว่าการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์อาคารสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม และ 11 เท่ามากกว่าการพัฒนารถยนต์ที่ปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

เมื่อวิกฤติโลกร้อนทำให้องค์กรยักษ์ใหญ่กำลังถูกกดดันภายใต้สปอตไลท์ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหา หรือจะเป็นกลไกในการแก้ปัญหาให้กับโลก วาระเร่งด่วนของทุกองค์กรคือการเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรม

 แน่นอนว่าการลงทุนในวันนี้คือ เกมการแข่งขันที่มีอนาคตธุรกิจเป็นเดิมพัน!