จับตา ‘เอ็นเอฟที’ พลิกโฉม ไลฟ์สไตล์ใหม่ ‘ผู้บริโภค’

จับตา ‘เอ็นเอฟที’ พลิกโฉม  ไลฟ์สไตล์ใหม่ ‘ผู้บริโภค’

โลกของการเงินดิจิทัลยังคงก้าวไปข้างหน้าไม่หยุด แต่ดูเหมือนปัจจุบันยังคงมีกำแพงขนาดใหญ่ขวางอยู่ รวมไปถึงคำถามที่พบอยู่บ่อยๆ เกี่ยวกับ “มูลค่าที่เป็นจริง” ข้อสงสัยที่ว่า ราคาพวกนี้อิงจากอะไรกันแน่ เพียงแค่อารมณ์ หรือการปั่นราคาเท่านั้น

กิตตินันท์ อนุพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอนนี่แวร์ ทู โก จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้ง Claim Di เปิดมุมมองว่า เอ็นเอฟทีในโลกปัจจุบันกลายเป็นตลาดของนักสะสม ภาพของงานศิลป์ งานวรรณกรรม ฯลฯ 

ถึงแม้จะสร้างมาจากฐานของเทคโนโลยีกับความคิดสร้างสรรค์จนกลายเป็นผลงานเฉพาะตัวที่มีเพียงหนึ่ง สุดท้ายก็กลายเป็นเวทีให้นักปั่นทั้งหลายเข้ามาซื้อเพื่อเก็งกำไร โดยที่ไม่มีเรื่องการใช้งานจริงในหัวแต่อย่างใด

ดังจะเห็นได้จากที่มีภาพลิง ภาพแมว แปลกประหลาดเกิดขึ้นจำนวนมากในตลาด บางส่วนก็ขายลอยๆ บางส่วนก็เอาไปผูกกับเกม หรือโลกเสมือนจริงอื่นๆ

กระทั่งเกิดคำถามที่ว่า หรือว่าข้อจำกัดของโลกการเงินแบบใหม่ที่ไม่ให้ผูกติดกับกฎเกณฑ์ธุรกิจและเงื่อนไขภาครัฐในโลกเดิม ทำให้มุมมองของบล็อกเชนที่วางไว้ง่ายๆ แค่ให้ติดต่อกันได้แบบหนึ่งต่อหนึ่ง ถูกวางเงื่อนไขใหม่จนไม่สามารถนำมาใช้ได้ในโลกความเป็นจริง

'พฤติกรรม’ สู่แผนการตลาด

หลายคนตั้งคำถามว่า ด้วยหลายปัจจัยดังกล่าวทำให้โลกของอ็นเอฟที ถึงทางตัน จนไปไม่ได้ไกลเกินกว่านี้อีกแล้วหรือ? เพราะโดยพื้นฐานแล้วการสร้างเอ็นเอฟที ก็เหมือนกับการสร้างไฟล์ดิจิทัลทั่วไป แต่ที่สร้างมูลค่าก็คือ แต่ละไฟล์ต้องไม่เหมือนกัน มีความแตกต่าง และมีหนึ่งเดียว ถ้าเป็นไฟล์โหลๆ ที่คัดลอกกันได้ ก็จะหมดมูลค่าไป

แล้วนอกจากไฟล์ศิลปะ จะมีอะไรที่มีเพียงหนึ่งเดียว ไม่ซ้ำกัน พอที่จะมีมูลค่านำไปสู่การซื้อขายได้อีก เรื่องนี้พวกเราอาจลืมอะไรกันไปหรือเปล่าว่า มนุษย์ หรือ Human นี่แหละคือยูนีค เป็นหนึ่งเดียวที่ไม่มีการซ้ำกันเลย แต่เราคงขายมนุษย์ไปเป็นทาสในยุคนี้คงไม่ได้ 

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงข้อมูลส่วนตัวของเราถูกนำไปซื้อขายมาเป็นเวลานานแล้ว เพียงแต่เจ้าของข้อมูลไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือได้รับผลประโยชน์แต่อย่างใด พวกเราถูกละเมิดมาอย่างยาวนานเพราะมีคนเก็บข้อมูลของเรา

พวกเขาขายมัน แล้วก็มีคนเอาข้อมูลเหล่านั้นมาสร้างความรำคาญให้เราในรูปแบบต่างๆ หรือไม่ก็เอาข้อมูลเราไปรวมกับข้อมูลคนอื่นแล้ววิเคราะห์จนออกมาเป็นพฤติกรรม ที่เราเรียกมันว่า “พฤติกรรมผู้บริโภค” ซึ่งนำไปสู่การสร้างแผนการตลาดรองรับข้อมูลที่ได้นั่นเอง

เทคโนโลยี = ดาบสองคม

ธุรกิจบางรายได้ข้อมูลแล้วไม่ได้เอาไปทำอะไรมากมาย บางรายเรียกหาข้อมูลจำนวนมากก่อนที่ผู้บริโภคจะไปขอใช้บริการ บางรายก็ใช้ต้นทุนจำนวนมากในการจัดเก็บ บางรายก็ปล่อยปละละเลยข้อมูลเหล่านี้ จนถึงกระทั่งถูกขโมยข้อมูลยังไม่รู้ตัว ฯลฯ

สุดท้ายโลกของข้อมูลส่วนบุคคลในปัจจุบันก็คือ ปล่อยให้ผู้บริการเป็นคนจัดเก็บ ส่วนผู้บริโภคเองไม่มีโอกาสในการเก็บและใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนตัวได้เลย

ถ้าเอ็นเอฟที ไม่ใช่แค่รูปลิง รูปแมว แต่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ทุกคนต่างก็จัดเก็บส่วนตัวเอาไว้ โลกจะเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังเท้าได้เลยทีเดียว

มิติของการเก็บข้อมูลในรูปแบบ เอ็นเอฟที จะเกิดความหลากหลาย เกิดความแตกต่าง ข้อมูลมีการอัพเกรดตลอดเวลา เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้บุคคลธรรมดาทั่วๆ ไป เห็นความสำคัญในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้ด้วยตัวเอง

สำหรับปัจจัยที่จะสร้างเอ็นเอฟที เป็นข้อมูลส่วนบุคคลก็คือ 1. ต้องมีแอปที่ใช้งานง่าย ติดตัวผู้ใช้ตลอดเวลา 2. มีผลประโยชน์หรือแรงจูงใจที่ทำให้ทุกคนยอมเก็บ 3. ระบบอีโคซิสเต็มจนสร้างดีมานด์และซัพพลายขึ้นจริง 4. มีเงินดิจิทัลที่เหมาะสม เป็นเครื่องมือขับเคลื่อน

จริงๆ ทุกอย่างที่ต้องการมีพร้อมอยู่แล้วในตลาดปัจจุบัน เพียงแต่บางคนเห็น หลายคนไม่เห็น เมื่อมาถึงขั้นนี้ ข้อมูลส่วนบุคคลก็จะพัฒนาเป็น Bureau ที่เราคุ้นเคย

ทว่าต่อไปจะกลายเป็นBureauทั้งชีวิตซึ่งทุกคนมีสิทธิ์เลือกได้ว่าเราจะเก็บชีวิตส่วนไหนไม่เก็บชีวิตส่วนไหนแน่นอนเทคโนโลยีเป็นดาบสองคมมีประโยชน์และมีโทษไม่มีอะไรสมบูรณ์ในโลกของความเป็นจริงเพียงแต่ครั้งนี้มอบการตัดสินใจมาไว้ที่เจ้าของทั้งหมด

คาดปีหน้าตลาดยิ่งบูม

หากคาดการณ์ในอนาคตว่า อีกห้าปีต่อจากนี้ ทุกคนจะสร้างเอ็นเอฟที ส่วนตัวขึ้นมาอย่างน้อย 80% คงจะมีอะไรหลายอย่างที่จะถูกดิสรัป หรือถูกลบล้างจากโลกความเป็นจริง ธุรกิจตัวกลางมากมายจะเปลี่ยนรูปโฉมไปเหมือนความตั้งใจของ บล็อกเชนที่จะเปลี่ยนโลกให้เป็น “decentralize”

เหรียญ หรือโทเคน จำนวนมากมายหลายรูปแบบจะเข้ามาเป็นสกุลเงินเพื่อจะใช้แลกเปลี่ยนเอ็นเอฟทีเหล่านี้ และเอ็นเอฟที ของแต่ละคนจะมีมูลค่าไม่เหมือนกัน

คำถามสุดท้าย ใครจะเป็นคนสร้างมันขึ้นมา สร้างขึ้นมาแล้วจะผูกขาดแพลตฟอร์มเหมือนเฟซบุ๊กหรือไม่ แล้วคนไทยมีสิทธิ์สร้างมันขึ้นมาใช้กันเองได้หรือไม่

คำตอบคือเทคโนโลยีตัวนี้สร้างไม่ยาก โอกาสผูกขาดมีไม่มาก ยิ่งไม่ผูกขาดระบบนี้จะยิ่งเติบโต แต่ถ้าผูกขาดระบบก็จะด้อยค่าตัวเองลง ที่สำคัญผู้ประกอบการคนไทยสามารถร่วมมือกันสร้างขึ้นมาใช้กันเองได้แน่นอน และน่าจะเริ่มเห็นใช้กันได้ในปีหน้า

สำหรับบทสรุปเกี่ยวกับเอ็นเอฟที แม้จะเล่าให้ทุกคนฟังหมดไม่ได้ แต่เชื่อแน่ว่าภาพของอนาคตอันใกล้จะตอบคำถามด้วยตัวมันเอง