‘โซไซตี้ พาส’ มองอีคอมเมิร์ซ เกมธุรกิจบน 'ขุมพลังโซเซียลฯ’

‘โซไซตี้ พาส’ มองอีคอมเมิร์ซ เกมธุรกิจบน 'ขุมพลังโซเซียลฯ’

“ช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา 2 ประเทศที่เติบโตได้โดดเด่นอย่างมากบนสมรภูมิอีคอมเมิร์ซภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือประเทศไทยและฟิลิปปินส์”

เดนนิส เหงียน ผู้ก่อตั้ง ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โซไซตี้ พาส (SoPa) ผู้ให้บริการโซลูชันการตลาดและวิเคราะห์ข้อมูลบนโซเชียลคอมเมิร์ซ กล่าว พร้อมกับเผยว่า มีมุมมองเชิงบวกอย่างมากต่ออุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซและโซเชียลคอมเมิร์ซประเทศไทย ซึ่งนับเป็นตลาดช่วงขาขึ้น และคาดว่าจะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับจีดีพี

สำหรับ 3 เมกะเทรนด์ที่จะมีอิทธิพลต่อการเติบโตของตลาดจากนี้คือ โซเชียลคอมเมิร์ซ ไลฟ์คอมเมิร์ซ/ชอปเปอร์เทนเมนท์ และดิจิทัลเพย์เมนท์

เอคเซนเชอร์ คาดการณ์ไว้ว่า ภาพรวมตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั่วโลก จากปี 2564 ที่มีมูลค่าราว 4.92 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อถึงปี 2568 จะเติบโตอีก 2.5 เท่า มูลค่าแตะ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์

ปัจจุบัน พลังของโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค ทั้งยังทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการขายสินค้าให้กับแบรนด์ต่างๆ ซึ่งทำให้แบรนด์ต่างหันมาโฟกัสการขายสินค้าบนช่องทางดังกล่าวมากขึ้น

ที่น่าสนใจ คนรุ่นใหม่ เช่น กลุ่มมิลเลนเนียลและเจนแซดมีการใช้จ่ายมากกว่า 50% ต่อวันไปกับการบริโภคสื่อหลากหลายรูปแบบ โซเชียลคอมเมิร์ซเป็นแพลตฟอร์มที่เหมาะสมในการเข้าถึงพวกเขาได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เพิ่มความเกี่ยวข้องกับการสร้างระบบรักษาฐานลูกค้าไปพร้อมกัน

ปักธงลงทุนตลาดไทย

สำหรับทิศทางธุรกิจปีนี้ บริษัทเตรียมเดินหน้าต่อยอดธุรกิจในประเทศไทยด้วยสร้างระบบนิเวศที่แข็งแรง ตอบโจทย์การทำการตลาดด้วยข้อมูลและโปรแกรมรอยัลตี้สำหรับภาคธุรกิจบนโลกออนไลน์

โดยมีมุมมองว่า ไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงมาก ดังนั้นมุ่งช่วยพ่อค้าเพิ่มยอดขาย ทำให้ผู้บริโภคมีช่องทางหรือทางเลือกด้านอีคอมเมิร์ซที่มากกว่าเดิม 

แนวทางธุรกิจโฟกัส 2 ส่วนหลักคือ บริการการวิเคราะห์ข้อมูลบนโลกโซเชียล ด้วย “รอยัลตี้แพลตฟอร์ม” ของบริษัท และขยายธุรกิจด้วยการควบรวมกิจการบริษัทเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

สิ้นปีนี้คาดว่าโดยภาพรวมจะมีการซื้อกิจการบริษัทเทคโนโลยีภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 12-15 บริษัท รวมมูลค่ากว่า 50 ล้านดอลลาร์ เฉพาะประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งประเทศที่ใหญ่ที่สุดจะมีการโฟกัสมากขึ้น ด้วยมูลค่าการลงทุนราว 15-20 ล้านดอลลาร์

ส่วนปี 2566 เม็ดเงินที่จะลงทุนเข้ามาในภูมิภาคจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น การพิจารณายังคงเน้นบริษัทที่สามารถสร้างความแข็งแรงให้ฐานธุรกิจ 7 กลุ่มที่บริษัทให้บริการเป็นหลัก ได้แก่ รอยัลตี้, ซอฟต์แวร์ร้านค้า, ไลฟ์สไตล์, อาหารและเครื่องดื่ม, โทรคมนาคม, ดิจิทัล มีเดีย และท่องเที่ยว

หวังขึ้นแท่นผู้นำระดับอาเซียน

เดนนิสบอกว่า บิสิเนสโมเดลของโซไซตี้พาสมุ่งเน้นที่การวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าผ่านแพลตฟอร์มรอยัลตี้และโปรแกรมสะสมคะแนน “Society Points” เมื่อซื้อสินค้ารวมถึงบริการที่อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์และอีคอมเมิร์ซต่างๆ ในเครือพันธมิตร

ปัจจุบัน มีลูกค้าลงทะเบียนกว่า 2.1 ล้านราย ร้านค้าและแบรนด์กว่า 6.7 พันราย ที่ผ่านมา ลงทุนอย่างหนักเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่สามารถตอบโจทย์ตลาด ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดและเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน มองว่าทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส และบริษัทเลือกที่จะระมัดระวังในทุกการตัดสินใจการลงทุน โดยเชื่อว่าตลาดยังคงเติบโตตามการเติบโตของดิจิทัลและจะโตได้มากกว่าเดิมเมื่อผ่านพ้นวิกฤติ

“การดำเนินในไทยเราได้มีการจดทะเบียนบริษัทอย่างถูกต้องในชื่อบริษัททีเอ็มจี ไทยแลนด์ ขณะนี้มีพนักงาน 15 คน และจะเพิ่มเป็นสองเท่าภายในสิ้นปีนี้ ขณะนีไ้ด้รับใบอนุญาติในการทำโฆษณาและการทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งในไทยเรียบร้อยแล้ว”

ปี 2565 ตั้งเป้ารายได้ไว้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านดอลลาร์ สัดส่วนจะมาจากประเทศไทยกว่า 40% ขณะที่ปีต่อไปวางไว้ที่ 25 ล้านดอลลาร์ สัดส่วนไทย 33% เนื่องจากมีรายได้จากประเทศใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา และหวังว่าจะก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำด้านรอยัลตี้โปรแกรมและข้อมูลในภูมิภาคอาเซียน 

“ความสำเร็จของเราจะมาจากระบบนิเวศที่แข็งแรง และการทำงานร่วมกับพันธมิตรชั้นนำที่มีความแข็งแกร่งในตลาด เช่นปีนี้จะมีการทำงานร่วมกับพันธมิตรอย่าง Tiktok และผู้ให้บริการโฆษณารายใหญ่ต่างๆ”