‘อาลีบาบา’ ยก ’พลังคลาวด์’ โอกาสใหม่วงการ ‘ค้าปลีก’

‘อาลีบาบา’ ยก ’พลังคลาวด์’ โอกาสใหม่วงการ ‘ค้าปลีก’

อาลีบาบา คลาวด์ วิเคราะห์ว่า แบรนด์ทุกแบรนด์ต่างตระหนักว่า จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างรวดเร็วและในแนวทางที่มีนัยสำคัญ พร้อมๆ กับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานไอทีทั้งหมดขององค์กร

การระบาดของโควิด-19 เป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้แบรนด์ค้าปลีกที่ทำธุรกิจผ่านหน้าร้านเพียงอย่างเดียว ต้องเร่งแผนการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์

ไทเลอร์ ชิว ผู้จัดการประจำประเทศไทย อาลีบาบา คลาวด์ วิเคราะห์ว่า แบรนด์ทุกแบรนด์ต่างตระหนักว่า จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างรวดเร็วและในแนวทางที่มีนัยสำคัญ พร้อมๆ กับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานไอทีทั้งหมดขององค์กร

โดยมีโจทย์สำคัญคือ “เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ทั้งระหว่างและหลังการระบาด” ขณะเดียวกันสามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมคว้าโอกาสใหม่ๆ ที่กำลังจะมีเข้ามา

ทรานส์ฟอร์มด้วยโซลูชันอัจฉริยะ

ไทเลอร์เชื่อว่า ธุรกิจค้าปลีกจะเปิดรับโมเดลการทำธุรกิจผ่านช่องทางดิจิทัลใหม่ๆ และไม่ลังเลที่จะเสาะหาเทคโนโลยีเกิดใหม่ต่างๆ รวมถึงโซลูชันที่ใช้งานบนคลาวด์มาเป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจ

ถ้าพิจารณาจากมุมมองด้านการปฏิบัติงาน ธุรกิจจะได้รับประโยชน์ทั้งในแง่ของการลดค่าใช้จ่าย การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่มีความซับซ้อน มากกว่านั้นมีแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่

“การจะคงความสามารถในการแข่งขันให้ได้นั้น ผู้ค้าปลีกจำเป็นต้องนำโซลูชันอัจฉริยะที่ทำงานบนคลาวด์มาใช้เพื่อสนับสนุนการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลให้มั่นคง”

โดยผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากโซลูชันอัจฉริยะต่างๆ ขยายฟุตพริ้นซ์การดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางที่หลากหลาย, ยกระดับประสบการณ์การมีส่วนร่วมของลูกค้า และใช้ระบบซัพพลายเชนที่ชาญฉลาด

'คลาวด์’ ยกระดับรากฐานดิจิทัล

ข้อมูลชี้ว่า ระหว่างการระบาดของโควิด-19 ผู้ค้าปลีกจำนวนมากค้นพบข้อดีของการใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ และเทคโนโลยีที่ใช้งานบนคลาวด์นั้น มีประโยชน์ต่อธุรกิจและสามารถรองรับจำนวนลูกค้าที่ชอปปิงออนไลน์ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

โดย “โครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ที่ปลอดภัย” เป็นฐานที่แข็งแกร่งที่ช่วยให้ผู้ค้าปลีกสามารถเสนอสินค้า และบริการผ่านออนไลน์ได้อย่างน่าเชื่อถือและไม่ขาดตอน ช่วยให้ผู้ค้าปลีกใช้เทคโนโลยีคลาวด์-เนทีฟต่างๆ ที่สามารถปรับขยายขนาดโครงสร้างพื้นฐานขึ้นลงได้ง่ายตามความต้องการของธุรกิจในเวลาเรียลไทม์ที่ต้องการใช้งานฟีเจอร์ต่างๆ

ขณะที่ ผู้ค้าปลีกที่ใช้รูปแบบการทำธุรกิจที่มีหน้าร้านต้องรับมือกับงานสำคัญต่างๆ ทุกวัน เช่น กระบวนการสั่งซื้อ จัดการเรื่องการชำระเงิน การแบ่งหมวดหมู่สินค้า ข้อมูลสินค้าคงคลัง กระบวนการด้านซัพพลายเชน และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งเมื่อสามารถเปลี่ยนการทำงานทั้งหมดนี้เป็นแบบดิจิทัล และสามารถตรวจทานได้ด้วยการดูผ่านหน้าจอดิจิทัล และเป็นการช่วยให้ฝ่ายบริหารมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจ

ปูทางสู่โลกแห่ง ‘เมตาเวิร์ส’

ทุกวันนี้ นวัตกรรมทางเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการมอบประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมให้กับผู้บริโภคที่สั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ ให้เสมือนเข้ามาเลือกซื้อสินค้าในร้านด้วยตนเอง

ขณะเดียวกันแบรนด์ค้าปลีกทั้งหลายสามารถกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภคและสร้าง “กระแส” ในการชอปปิงได้ ด้วยการใช้คลาวด์คอมพิวติ้ง เทคโนโลยีเอไอ รวมถึงเออาร์และวีอาร์สร้างเวอร์ชวลสเปซสามมิติและตัวแทนทางดิจิทัลโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยับไปสู่โลกของ "เมตาเวิร์ส"

“เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ค้าปลีกที่ต้องการมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าที่เป็นเจนแซด ด้วยลูกค้าเจนนี้จะมีความคาดหวังประสบการณ์ทางออนไลน์แตกต่างกัน ดังนั้นการเตรียมพร้อมเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและสร้างความสำเร็จจะต้องนำเทคโนโลยีด้านค้าปลีกที่ใหม่ล่าสุดมาใช้เท่านั้น”

เพิ่มมิติใหม่ ‘การขาย-การตลาด’

ที่น่าสนใจ คลาวด์ และ แมชีนเลิร์นนิงสามารถช่วยยกระดับการค้นหาสินค้าและบริการ ขณะเดียวกันเพิ่มมิติใหม่ให้กับช่องทาง การปฏิสัมพันธ์ของลูกค้ากับเว็บไซต์ และเพิ่มวิธีการค้นหาสินค้าให้กับลูกค้าเทคโนโลยีต่างๆ ที่สำคัญมอบข้อมูลเชิงลึกที่จำเป็นและให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการช้อปปิงให้ลูกค้า และกระตุ้นให้กลับมาซื้อซ้ำ

นอกจากนี้ โซลูชันอัจฉริยะเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการซัพพลายเชนและสินค้าคงคลัง ช่วยให้ผู้ค้าปลีกมองเห็นความเป็นไปของซัพพลายเชนทั้งระบบ ประหยัดเวลา ทั้งระบบอัตโนมัติยังช่วยให้ตรวจสอบสถานะการสั่งซื้อได้แบบเรียลไทม์

"แม้ขณะนี้การระบาดของโควิด-19 ได้เข้ามาสั่นสะเทือนทุกวงการ แต่ก็เป็นโอกาสที่ผู้ค้าปลีกจะนำเทคโนโลยีอัจฉริยะที่ใช้งานบนคลาวด์มาใช้ปรับการนำเสนอขายสินค้าและบริการ ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ให้ได้ตรงตามความคาดหวังของผู้บริโภค รวมถึงพัฒนารูปแบบการทำธุรกิจใหม่ๆ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล"