Space-for-Earth สู่อุตสาหกรรมอนาคต | ต้องหทัย กุวานนท์

Space-for-Earth สู่อุตสาหกรรมอนาคต | ต้องหทัย กุวานนท์

อุตสาหกรรมอวกาศโลกเติบโตขึ้นกว่า 70% เมื่อเทียบกับทศวรรษที่ผ่านมา และถูกคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าธุรกิจแซงหน้าอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ที่กุมชะตาเศรษฐกิจโลกอย่างอุตสาหกรรมน้ำมันได้ภายในปี 2050

นั่นหมายถึงว่า มูลค่ามวลรวมของอุตสาหกรรมอวกาศที่กำลังเติบโตท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอย อาจจะมีโอกาสพุ่งเกิน 3 ล้านล้านดอลลาร์ หรือมีสัดส่วนกว่า 4% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก (GDP)

เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมดั้งเดิมไปสู่การลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ศักยภาพในการจัดเก็บและวิเคราะห์ชุดข้อมูลจำนวนมาก กำลังเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้เกิดอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  

Space-for-Earth สู่อุตสาหกรรมอนาคต | ต้องหทัย กุวานนท์

(ภาพถ่ายโดย Pixabay)

อุตสาหกรรมอวกาศถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมใหม่กำลังเป็นที่จับตามองของนักลงทุน ในปีที่ผ่านมาเงินลงทุนใน Space Tech สตาร์ทอัพเติบโตขึ้นกว่า 50% และมีสัดส่วนประมาณ 3% ของเงินลงทุนทั้งหมดจาก VC โครงสร้างของอุตสาหกรรมอวกาศมีหลายอย่างที่ใกล้เคียงกับอุตสาหกรรมน้ำมัน 

ในขณะที่ธุรกิจต้นน้ำยังเป็นเกมธุรกิจขององค์กรขนาดใหญ่ เช่น การสำรวจ และขุดเจาะน้ำมัน การสำรวจอวกาศ และการแสวงหาทรัพยากรจากอวกาศ ธุรกิจปลายน้ำคือ โอกาสที่ผู้ประกอบการรายเล็กจะเข้ามามีบทบาทในการนำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรมมาสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและการใช้งานของผู้บริโภค

สัดส่วนธุรกิจปลายน้ำของอุตสาหกรรมน้ำมันและอุตสาหกรรมอวกาศมีการเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญกว่า 90% ของมูลค่าธุรกิจอวกาศในโลกเป็นรายได้ที่มาจากธุรกิจ “Space-for-earth” นั่นคือ ผลิตภัณฑ์และบริการจากอวกาศเพื่อการใช้งานบนโลก

เช่น การสื่อสารโทรคมนาคมและโครงข่ายอินเตอร์เน็ต การใช้ข้อมูลเพื่อความมั่นคงทางทหาร การสำรวจโลกและการใช้ข้อมูลดาวเทียมเพื่อการใช้งานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่นการเดินเรือ ขนส่ง การเกษตร และ การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

Space-for-Earth สู่อุตสาหกรรมอนาคต | ต้องหทัย กุวานนท์

(ภาพถ่ายโดย SpaceX)

ข้อมูลจากการวิเคราะห์ของ McKinsey ล่าสุดระบุว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวอวกาศมีมูลค่ากว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์ ธุรกิจการผลิตดาวเทียมมีมูลค่ากว่าสี่หมื่นล้านดอลลาร์ ในขณะที่ธุรกิจการนำเอาข้อมูลจากดาวเทียมไปใช้งานมีมูลค่าสูงถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นล้านดอลลาร์ ความสำคัญของการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมกำลังมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในทุกอุตสาหกรรม 

การใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมไม่ได้ตอบโจทย์เพียงแค่การติดตาม ตรวจสอบ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ยังสามารถเข้าไปแก้ปัญหาที่เป็นวิกฤติของโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (climate change) อีกทั้งยังเป็นคำตอบของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลายด้าน

เช่น การบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ การเพิ่มศักยภาพในการป้องกันประเทศ การบริหารจัดการน้ำรวมถึงการพยากรณ์ผลผลิตทางการเกษตร การนำข้อมูลจากห้วงอวกาศมาใช้ได้นำไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ที่ไม่ได้จำกัดวงของผู้เล่นอยู่ที่องค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น แต่โอกาสกำลังเปิดกว้างให้สตาร์ทอัพที่มีวิสัยทัศน์ในการมองปัญหาของแต่ละอุตสาหกรรมและทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศเพื่อพัฒนาโซลูชั่นที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาของภาคอุตสาหกรรม 

อุตสาหกรรมอวกาศมีอะไรมากกว่าการสร้างจรวดหรือดาวเทียม การแข่งขันในยุคต่อไปอาจไม่ได้เป็นการแข่งขันเรื่องเงินลงทุนเพื่อพัฒนาฮาร์ดแวร์ หรือการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุด แต่เป็นการแข่งขันเพื่อแย่งชิง “Insights” ของภาคอุตสาหกรรม และนำเอาเทคโนโลยีอวกาศมาประยุกต์ใช้เพื่อทำให้เกิดโซลูชั่นที่จะสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ

 

คอลัมน์ Business Transform: Corporate Future
ต้องหทัย กุวานนท์ 
หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์ Startup Mentor  
บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการบริหารนวัตกรรม