‘GSMA’ เปิดรายงาน!!! เอเชียแปซิฟิก ปักธงเร่ง 5G ทั่วภูมิภาค

‘GSMA’ เปิดรายงาน!!! เอเชียแปซิฟิก ปักธงเร่ง 5G ทั่วภูมิภาค

GSMA เผย เอเชียแปซิฟิกเตรียมเร่งเครื่องขยายเครือข่าย 5G ทั่วภูมิภาค ขณะที่ช่องว่างการใช้งานยังเป็นประเด็นสำคัญ แม้เครือข่ายบรอดแบนด์ผ่านมือถือจะครอบคลุมกว่า 96% ของประชากรในภูมิภาค แต่ช่องว่างใช้งานในหมู่ประชาชนยังใหญ่ที่สุดในโลก  

รายงานล่าสุด “Mobile Economy Asia Pacific 2022 report” โดย “สมาคมจีเอสเอ็ม” หรือ “จีเอสเอ็มเอ (GSMA)” เผยว่า ประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเตรียมเร่งเครื่องขยายเครือข่าย 5จี อย่างเต็มรูปแบบข้อมูลการใช้งาน อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือของผู้คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่า 96% ของประชากรในภูมิภาคสามารถเข้าถึงเครือข่ายบรอดแบนด์ผ่านมือถือได้อย่างครอบคลุม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการลงทุนในการพัฒนาเครือข่าย 3จี, 4จี มาอย่างต่อเนื่อง

ในทิศทางเดียวกันผู้ให้บริการได้มีการลงทุนพัฒนาเครือข่าย 5จี มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทว่ายังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงเรื่องช่องว่างการเข้าถึง จากตัวเลขที่มีเพียง 44% ของประชากรหรือราว 1.23 พันล้านคนเท่านั้นที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบนมือถือ

 

’โมบาย’ ตัวจักรขับเคลื่อนจีดีพี

ข้อมูลระบุว่า ประเทศต่างๆ มองเห็นช่องว่างในการใช้บริการเหล่านี้ โดยเหตุผลหลายประการที่ทำให้ยอดผู้ใช้งานยังมีความไม่ครอบคลุมนั้น เป็นเพราะการขาดทักษะด้านดิจิทัล ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย และความกังวลด้านความปลอดภัยบนเครือข่ายออนไลน์

จูเลียน กอร์แมน ประธานสมาคมจีเอสเอ็ม ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เผยว่า ช่องว่างดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าคุณประโยชน์ของการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชนในสังคมในวงกว้างขึ้นนั้นสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ขณะเดียวกัน ต้องการความร่วมมือและความพยายามจากผู้ถือผลประโยชน์ร่วมจากหลายภาคส่วน ในการทำงานร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่าย และธุรกิจต่างๆ ในอีโคซิสเต็มส์ อาทิ ผู้ผลิตอุปกรณ์มือถือ รวมถึงผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ดิจิทัล ฯลฯ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการใช้งานและก้าวข้ามผ่านช่องว่างดังกล่าว

เทคโนโลยีโมบายรวมถึงการให้บริการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีส่วนช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมาอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถสร้างรายได้มากกว่า 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ของทั้งภูมิภาคในปี 2564 ซึ่งเท่ากับ 7.70 แสนล้านดอลลาร์ของมูลค่าทางเศรษฐกิจ 

โดยทั้งระบบอีโคซิสเต็มยังช่วยก่อให้เกิดการจ้างงานราว 8.8 ล้านอัตราในปี 2564 และยังสามารถส่งเสริมด้านเงินทุนให้กับการทำงานของภาครัฐผ่านการเก็บภาษีได้ประมาณ 8 หมื่นล้านดอลลาร์

ปี 68 ดัน 5จี สู่เครือข่ายหลัก

สำหรับความพยายามในการนำเทคโนโลยี 5จี มาใช้นั้น คาดว่าจะช่วยเร่งให้เกิดการขยายตัวในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันเครือข่าย 5จี สามารถใช้ได้แล้วใน 14 ตลาดทั่วภูมิภาค ขณะที่ตลาดอย่างประเทศอินเดียและเวียดนาม กำลังเริ่มให้บริการดังกล่าวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

จากรายงานของจีเอสเอ็มเอคาดว่าจะมีการเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบ 5จี ได้ถึง 400 ล้านการเชื่อมต่อภายในปี 2568 หรือเท่ากับ 14% ของการเชื่อมต่อทั้งหมด ซึ่งมีหลายประเทศในภูมิภาคที่รุดหน้าไปมากในการให้บริการเครือข่ายนี้

เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ คาดว่าจะมีการใช้การเชื่อมต่อผ่านระบบ 5จี เป็นการเชื่อมต่อหลักถึง 55% ภายในปี 2568

ปูพรมนโยบาย ‘นวัตกรรมดิจิทัล’

ที่น่าสนใจ มีการขับเคลื่อนเทคโนโลยีไปสู่มิติใหม่ๆ บนเมตาเวิร์ส รวมถึงกรณีศึกษาต่างๆ ของการใช้เครือข่าย 5จี ในภูมิภาค

โดยหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ในภูมิภาคเริ่มมีการร่างแผนงานในการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของแพลตฟอร์มนี้มาเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของบริการสาธารณะในส่วนต่างๆ เช่น เกาหลีใต้ประกาศแผนการที่จะใช้งบประมาณถึง 186.7 ล้านดอลลาร์เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มของเมตาเวิร์ส ขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มนี้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ

ทุกวันนี้บรรดาผู้กำหนดนโยบายในประเทศต่างๆ มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเติบโตและการใช้นวัตกรรม โดยการสร้างกฎระเบียบที่มีความยืดหยุ่นในการรองรับการใช้งานของระบบเครือข่ายการสื่อสารต่างๆ 

โดยเริ่มได้เห็นถึงประเด็นด้านคุณประโยชน์ของการปฏิรูปด้านกฎระเบียบข้อบังคับในภูมิภาค ประเด็นด้านการนำเทคโนโลยี 5จี มาประยุกต์ใช้ในแต่ละประเทศ รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แผนยุทธศาสตร์สู่การเป็น “Digital Nation” ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกยุคหลังโรคระบาด