‘อินฟอร์’ มองเส้นทาง ‘ดิจิทัล’ วิถีใหม่บนความเปลี่ยนแปลง

‘อินฟอร์’ มองเส้นทาง ‘ดิจิทัล’  วิถีใหม่บนความเปลี่ยนแปลง

หลายปีที่ผ่านมา การพูดคุยเกี่ยวกับกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลได้กลายเป็นหัวข้อหลักในการประชุมผู้บริหาร เพื่อขับเคลื่อนวิธีการทำงานที่ทันสมัย รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ และเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการสำหรับลูกค้า

ฟาบิโอ ทิวิติ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินฟอร์ อาเชียน-อินเดีย เปิดมุมมองว่า ประเด็นที่องค์กรธุรกิจโฟกัสอย่างมากหนีไม่พ้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเร่งให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลจำนวนมากมาปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน

เนื่องจากธุรกิจต่างๆ ต้องเผชิญกับความจำเป็นเร่งด่วนในการเปิดรับรูปแบบการทำงานจากทุกสถานที่ จัดการกับความต้องการที่ผันผวน เกิดการตระหนักถึงคุณประโยชน์ของเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ ทั้งมีการลงทุนที่สมเหตุสมผลมากขึ้น ด้านผู้บริหารที่สนับสนุนก็เพิ่มจำนวนขึ้นด้วย

'คำจำกัดความ’ ต้องชัด

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลก็ยังคงมีข้อบกพร่องอยู่ มีการตั้งข้อสังเกตว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคำจำกัดความที่ผิดพลาด?  ซึ่งสำหรับความหมายด้านดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงมักอยู่ในรูปแบบของโครงการเดียว เช่น ซอฟต์แวร์ระบบวางแผนทรัพยากรขององค์กร (ERP) แบบใหม่ หรือกลุ่มโครงการต่อเนื่องเพื่อสร้างโปรแกรมที่ครอบคลุมมากขึ้น มุ่งเน้นที่การปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลการเป็นวิธีสำคัญในการปรับปรุงให้ทันสมัย เร่งการตัดสินใจ รวมถึงการใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับทั้งในด้านประสบการณ์และประสิทธิภาพทางเงิน แต่หากการเปลี่ยนแปลงนี้สิ้นสุดลงหลังการใช้งานจริงของเทคโนโลยีที่รองรับ ข้อดีต่างๆ ก็จะลดลงไปตามเวลาที่ผันผ่านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ต้องลงลึกระดับ ‘ดีเอ็นเอ’

สำหรับการรักษาสภาพแวดล้อมทางดิจิทัลที่แท้จริง หมายถึงความสามารถในการฟื้นคืนเป็นปกติ ปรับขนาด และยืดหยุ่นได้เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมลดความเสี่ยง และความไม่แน่นอนของตลาด โดยการเปลี่ยนแปลงเพียงครั้งเดียวย่อมไม่สามารถทำได้

ทั้งนี้ เพื่อรองรับกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลง ต้องสร้างวิธีการใหม่ให้อยู่ใน “ดีเอ็นเอ” ของธุรกิจ และพร้อมที่จะนำทรัพยากรที่มีอยู่ไปใช้ในเรื่องใหม่ๆ หรือความท้าทายต่างๆ ที่ใช้การกดปุ่มเพียงแค่คลิกเดียว

“การสร้างวัฒนธรรมดิจิทัลที่จำเป็นต่อการเติบโตในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่จำต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การเปลี่ยนจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งานไปเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน จะต้องใช้แนวทางในการบริหารจัดการบุคคลที่มีความสามารถ มีทักษะ การลงทุนเฉพาะด้าน ตลอดจนวิสัยทัศน์ที่เหมาะสม ซึ่งไม่เพียงแค่ในระยะสั้นเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงในระยะยาวด้วย"

การเปลี่ยนแปลงไม่สิ้นสุด

โดยทั่วไป โครงการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่เคยเห็นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จะเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องสำหรับองค์กรส่วนใหญ่ แต่สำหรับบริษัทที่เชี่ยวชาญและมองการณ์ไกลกำลังสร้างแนวทางในการพัฒนา ตรวจสอบ และลงทุนในกระบวนการ แนวทางปฏิบัติ ตลอดจนระบบต่างๆ ซึ่งทำให้แน่ใจว่าความสามารถที่มีอยู่จะได้รับการอัปเดตอย่างต่อเนื่อง

สะท้อนถึงความต้องการและความแตกต่างที่เปลี่ยนแปลงไปของธุรกิจนั้นๆ เมื่อเติบโตขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นไปของตลาดปัจจุบันที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถเปลี่ยนทิศทางกลยุทธ์ของบริษัทได้ตามความจำเป็น

ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดได้ส่งผลกระทบระยะยาวต่อองค์กรธุรกิจต่างๆ โดยผลสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ชี้ให้เห็นถึงการยอมรับว่า อุตสาหกรรมการผลิตจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิมก่อนเกิดการแพร่ระบาดอีกต่อไป

ที่น่าสนใจพบด้วยว่า ธุรกิจ 95% มีความกังวลเกี่ยวกับซัพพลายเชนของตนในปัจจุบัน อีก 91% ได้เพิ่มการลงทุนในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลด้วยวิธีการตอบสนอง และคาดหวังถึงอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

ประเด็นที่สำคัญจำต้อง “อยู่หัวแถวเข้าไว้” เพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน และเพื่อให้ก้าวล้ำไปข้างหน้า จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมในการเปลี่ยนแปลงเป็นอันดับแรก

“องค์กรจะสร้างรูปแบบการทำงานที่เน้นความคล่องตัว ความเร็ว การปรับขนาด และความยืดหยุ่น ผ่านสภาพท้าทายที่เป็นอยู่เพื่อทบทวนและปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้า ประเมินทั้งรูปแบบการดำเนินงานและข้อมูลที่มีอยู่เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน ผู้ชนะด้านดิจิทัลที่แท้จริงคือผู้ที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง”