เปิด 3 มุมคิด ‘3 ซีอีโอใหญ่’ ธุรกิจต้อง “ยั่งยืน” พร้อม "ทรานส์ฟอร์ม'

เปิด 3 มุมคิด ‘3 ซีอีโอใหญ่’  ธุรกิจต้อง “ยั่งยืน” พร้อม "ทรานส์ฟอร์ม'

สวัสดิ์ : ความยั่งยืนเป็นโอกาสทางธุรกิจและตัวเร่งการทรานส์ฟอร์ม, ศุภจี : การบริหารองค์กรให้ยั่งยืนต้องเริ่มที่ Purpose ก่อน Profit, บุญญนิตย์ : กฟผ.เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

สถานการณ์ปัจจุบัน วิกฤติโลก เศรษฐกิจที่ผันผวนสูง ถือเป็นโจทย์ยากสำหรับ ซีอีโอ ผู้บริหารองค์กรธุรกิจ นอกจากต้องพยายามนำพาองค์กรก้าวข้ามดิสรัปชัน และผ่านสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนไปให้ได้แล้ว ยังต้องดูแลธุรกิจให้เติบโต ทั้งต้องให้สมดุลกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน 

วันนี้ “ความยั่งยืน และ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม” คือ 2 เรื่องสำคัญ ที่ซีอีโอองค์กรธุรกิจ ยกขึ้นมาเป็น “วาระด่วน” 

กรุงเทพธุรกิจ สัมภาษณ์พิเศษ 2 ซีอีโอ และ 1 ผู้ว่าการฯ แถวหน้าของเมืองไทย "สวัสดิ์ อัศดารณ" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย "ศุภจี สุธรรมพันธุ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม (Group CEO) บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และ "บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร" ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึง Key Success เมื่อธุรกิจต้องบาลานซ์ 2 เรื่องใหญ่ทั้ง ความยั่งยืน และ ดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม

ไอบีเอ็ม มองความยั่งยืนไม่ใช่ “เทรนด์” 

“สวัสดิ์” มองว่า ความยั่งยืนไม่ใช่เทรนด์ ไม่ใช่กลยุทธ์การตลาด แต่อนาคตของธุรกิจและสิ่งแวดล้อมจะเชื่อมโยงกันลึกซึ้ง องค์กรต้องอธิบายต่อลูกค้า ผู้ถือหุ้น นักลงทุน คู่ค้า หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่ รวมถึงพนักงานได้ว่า การดำเนินงานของตนส่งผล กระทบต่อโลกอย่างไร

ข้อมูลจากผลการศึกษาซีอีโอทั่วโลกล่าสุด ย้ำว่า  เรื่องความยั่งยืน คือ ความจำเป็นเร่งด่วนไต่อันดับความสำคัญก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นปัจจัยที่ซีอีโอมองว่าจะมีผลกระทบต่อองค์กรสูงสุดใน 3-5 ปีข้างหน้า เป็นความท้าทายสูงสุดขององค์กร นำหน้าความกังวลด้านกฎระเบียบข้อบังคับ ภัยไซเบอร์ ความพร้อมด้านเทคโนโลยี หรือแม้แต่ปัญหาการหยุดชะงักของซัพพลายเชน

“วันนี้ องค์กรที่ประสบความสำเร็จจะไม่มองเรื่องความยั่งยืนว่าเป็นแค่สิ่งที่ มีก็ดี แต่จะมองเห็นโอกาสในขณะที่องค์กรอื่นมองเห็นต้นทุน ดังนั้น ถึงเวลาที่ซีอีโอจะตัดสินใจเลือกว่าควรผนวกเรื่องความยั่งยืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์หลักองค์กร เป็นตัวเร่งและกำหนดโมเดลธุรกิจใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน เป็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมและสร้างจุดต่างให้องค์กร และเป็นหนึ่งในปัจจัยในการพิจารณาความสำเร็จขององค์กร หรือมองว่า ความยั่งยืนเป็นเพียงเรื่องที่ต้องปฏิบัติเพราะมีกฎข้อบังคับกำหนดไว้ และเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลง”

สำหรับวิธีขับเคลื่อนในแบบ ไอบีเอ็ม จะให้ความสำคัญกับ 3 มิติ ประกอบด้วย  มิติแรก นำเทคโนโลยีเข้าขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน ซีอีโอต้องทำให้ความยั่งยืนเป็นวาระของทั้งองค์กร ขยายความรับผิดชอบไปสู่กลุ่มผู้บริหารและพนักงานในทุกแผนก กำหนดเป้าหมายแบบ 360 องศาให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้าน ESG ขององค์กร มิติที่สอง ต้องมองความยั่งยืนในฐานะหนึ่งในตัวสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และมิติที่สาม ร่วมมือกับอีโคซิสเต็มพันธมิตรเพื่อพากันไปสู่เป้าหมาย 

เป้าหมายสู่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน 

เป็นเรื่องง่ายที่จะตั้งเป้าการลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในอีก 20 หรือ 30 ปีข้างหน้า และมีแนวโน้มว่าเมื่อเวลาผ่านไป ก็คงไม่มีใครจำพันธะสัญญาที่องค์กรให้ไว้ได้ แต่หากซีอีโอมองรอบตัวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในวันนี้ ตั้งแต่ในบอร์ดรูม ในส่วนงานสรรหาทรัพยากรบุคคล หรือแม้แต่ในกลุ่มผู้บริโภค ซีอีโอคงตระหนักได้ทันทีว่าไม่มีเวลามารอถึง 20 หรือ 30 ปีอีกต่อไป และคงไม่มีใครอยากตกขบวนในเส้นทางสู่อนาคตที่ยั่งยืนขึ้นนี้

ไอบีเอ็มได้เริ่มจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมเป็นครั้งแรกเมื่อ 30 ปีที่แล้ว และได้เริ่มตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นครั้งแรกในปี 2543 ก่อนที่จะเป็นผู้ร่วมผลักดันเรื่องดังกล่าวในระดับโลกอย่างต่อเนื่อง

ในปีที่ผ่านมา ไอบีเอ็มได้ประกาศตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2573 ผ่านการดำเนินการในหลายมิติ อาทิ การตั้งเป้าให้คลาวด์ดาต้าเซ็นเตอร์ของไอบีเอ็มใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นสัดส่วน 75% ในปี 2568 และ 90% ในปี 2573 หรือการกำหนดให้ซัพพลายเออร์หลักของไอบีเอ็มต้องมีระบบบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ขณะที่ เมื่อปีที่ผ่านมา ไอบีเอ็ม ยังได้รับพระราชทานตรา Terra Carta จากเจ้าชายแห่งเวลส์ ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำการให้ความสำคัญและความมุ่งมั่นในการสร้างความยั่งยืนอย่างจริงจังและต่อเนื่องของไอบีเอ็ม

อย่างไรก็ตาม ไอบีเอ็ม มองกุญแจแห่งความสำเร็จ ในการขับเคลื่อนความยั่งยืนไปพร้อมกับการทรานส์ฟอร์ม คือ การกำหนดกลยุทธ์ความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน เป็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมและจุดต่างให้องค์กร จากการสำรวจ องค์กรที่สามารถผนวกรวมเรื่องความยั่งยืนและดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันเข้าด้วยกัน มีการเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้นถึง 41% 

“วันนี้เทคโนโลยีไม่ใช่ต้นทุนของการทำธุรกิจอีกต่อไป แต่คือจุดที่สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ช่วยให้ธุรกิจสามารถขยายการเติบโต และสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างได้ องค์กรต้องคิดต่าง และมองความยั่งยืนเป็นโอกาสทางธุรกิจและตัวเร่งการทรานส์ฟอร์ม”

ดุสิตธานีมุ่งยั่งยืนครบทั้งสามมิติ ESG

“ศุภจี" ให้มุมมองในเรื่องของความยั่งยืนแบบฉบับของ “ดุสิตธานี” ว่า การบริหารองค์กรให้ยั่งยืน ต้องเริ่มที่ Purpose ก่อน Profit หรือผลกำไร การเริ่มที่เป้าประสงค์หรือเจตนารมย์ทำให้องค์กรสามารถมองภาพใหญ่เกินกว่าตัวเอง มองไปถึงสิ่งแวดล้อม ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง สังคม รวมถึงบรรษัทภิบาล และนั่นคือจุดที่สร้างความยั่งยืนให้องค์กร

ดุสิตธานี คือ องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วย Purpose เมื่อ 70 กว่าปีที่แล้ว การเริ่มที่ Purpose มองถึงคุณค่าที่ต้องการสร้างให้เกิดขึ้น ทำให้แนวคิดความยั่งยืนผสานอยู่ในดีเอ็นเอของดุสิตธานีตั้งแต่เริ่มต้น และเป็นสิ่งที่กำหนดรูปแบบการบริการ การออกแบบห้องพัก และแนวทางการทำธุรกิจ

วันนี้ ดุสิตธานี กำลังเดินทางสู่ก้าวย่างใหม่ภายใต้ชื่อ Dusit Central Park แต่ Purpose ยังคงเดิมต้องการเป็น ‘ความภูมิใจของคนไทย’ ต้องการสร้างโรงแรมแห่งอนาคต ที่ยังมีแก่นแท้ของการบริการและประสบการณ์แบบ Dusit Gracious Hospitality  รักษามรดกและศิลปะที่ทรงคุณค่าจากอาคารเก่า เอกลักษณ์การบริการและความใส่ใจในแบบฉบับดุสิตธานี มาผสานเข้ากับเทคโนโลยีก้าวล้ำทั้งหมดทั้งมวลยังคงอยู่ใต้ Purpose ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ความยั่งยืน ก็คือ ความเป็นตัวตนของดุสิตธานี

“ความยั่งยืนต้องเริ่มที่ Purpose ขององค์กร คุณค่าที่เราต้องการสร้างให้ลูกค้าและสังคม ถ้าเอาตัวเงินนำ ตั้งต้นที่การทำผลกำไร ธุรกิจอาจไปได้ดีในช่วงแรกๆ ในระยะสั้น แต่อาจไม่ใช่การทำธุรกิจที่ยั่งยืน”

ส่วนวิธีขับเคลื่อนองค์กรเพื่อไปสู่ความยั่งยืน ต้องมีครบทั้งสามมิติ ESG คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เช่น ในมุมสิ่งแวดล้อม รู้ว่าต้องลดการปล่อยคาร์บอน ลดการใช้พลังงาน แต่ลูกค้าโรงแรมก็ต้องการความสบาย จะทำอย่างไรให้ลูกค้ามีส่วนร่วม ดุสิตธานี ออกแบบกระบวนการ Customer Engagement ใหม่ ใช้เทคโนโลยีมาเสริม เช่น เมนูอิเล็กทรอนิกส์ อัพเดทเมนูใหม่ได้ตลอด และใส่ข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมได้ ลูกค้าสามารถดูส่วนประกอบและสารอาหารได้ รู้แหล่งที่มาของอาหาร

ในมุมสังคม ดุสิตธานี ผลักดันเรื่อง Farm to Table อย่างจริงจัง เป็นความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสังคมทำอย่างไรให้ชุมชนได้ประโยชน์ ส่วนประกอบทุกอย่างซื้อตรงจากชาวบ้าน ปลูกผักออร์แกนิคมันยากกว่า แพงกว่า แถมหน้าตาผักอาจไม่สวยเท่าที่ใช้ยาฆ่าแมลง แต่ลูกค้าได้ประโยชน์ ชาวบ้านได้เต็มๆ 

“สุดท้ายเรื่องของบรรษัทภิบาล กฎข้อบังคับเราต้องทำ ทุกองค์กรต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว เวลาเราจะทำอะไร เราจะคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ทำอย่างไรจึงจะให้ทุกฝ่ายต้องได้สิ่งที่ต้องการ และบรรลุเป้าหมายของบริษัทฯ ในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น” 

ขอยกตัวอย่างในกรณีของ การตัดสินใจทุบโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ทิ้ง เพื่อสร้างใหม่เป็นโครงการมิกซ์ยูสมูลค่ากว่า 46,000 ล้านที่มีชื่อว่า ดุสิตเซ็นทรัลพาร์ค ซึ่งเป็นโครงการที่มีมูลค่ามากกว่าขนาดของบริษัทหลายเท่าตัว ด้วยโจทย์ใหญ่ที่ว่า ต้องไม่เพิ่มทุน ต้องไม่สร้างภาระหนี้เกินตัว ต้องหารายได้ใหม่มาทดแทน

ในขณะที่รายได้จากการปิดโรงแรมที่เป็นแหล่งรายได้หลักจะหายไป และที่สำคัญคือ ต้องรักษาและอนุรักษ์ความเป็นตำนานของโรงแรมดุสิตธานีเอาไว้การสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่จะทำให้ชื่อ ดุสิตธานี ไม่ใช่เพียงแค่โรงแรม แต่จะเป็นชื่อที่มีความหมายและยังมีมนต์ขลัง เป็นที่เชิดหน้าชูตาให้ประเทศไทย ตามเจตนารมย์ของ ท่านผู้ก่อตั้งและทายาทด้วย

"ที่ผ่านมา เราแก้ปัญหาการไม่เพิ่มทุนไม่สร้างภาระหนี้ที่เกินตัว ด้วยการหาพันธมิตรที่มีแนวคิดเดียวกัน อย่าง กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา มาร่วมลงทุนกับเราในโครงการนี้ นอกจากจะไม่ต้องควักทุนคนเดียวแล้ว เรายังได้ความเชี่ยวชาญของพันธมิตรมาช่วยเสริมในจุดที่เราไม่ถนัดอีกด้วย นอกจากนั้น อีกโจทย์ที่สำคัญคือ ทำอย่างไรจะหารายได้ใหม่มาทดแทนในช่วงที่เราต้องปิดโรงแรม และที่เพิ่มเติมคือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถเก็บงาน รักษาคนไว้อีกด้วย"

ขณะที่ ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ของ ดุสิตธานี ภายใต้โจทย์ ความยั่งยืน และ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นนั้น มี 3 ส่วนด้วยกัน คือ การร่วมมือกัน (Collaboration) นวัตกรรม (Innovation) และการสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่น (Contribution)

"ในเรื่องของความร่วมมือ แทนที่จะทำเองทั้งหมด เราอาจจะไม่เชี่ยวชาญ เราทำร่วมกับคนอื่น แล้วเติบโตไปด้วยกัน อย่างที่สองคือนวัตกรรม นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นของใหม่ แต่เป็นการนำเสนอของเดิมในรูปแบบใหม่ก็ได้ สุดท้ายคือการสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นหรือ Contribution ทุกครั้งที่จะทำอะไรต้องคิดถึงคนอื่น คิดถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง"

อย่างไรก็ตาม ดุสิตธานี ยังมองว่า เทคโนโลยีคือส่วนสำคัญ ช่วงโควิดที่ผ่านมาได้ทำ Tech Transformation เพราะโควิดช่วยกระตุ้นให้ทุกคนปรับไลฟ์สไตล์ให้เข้ากับโลกในยุคดิจิทัลมากขึ้น เช่น ในส่วนของพนักงาน ก็ปรับมาใช้การทำงานแบบออนไลน์ 100% หรือตอนนี้กลับมาอยู่ในโหมดของไฮบริดเข้าออฟฟิศเป็นบางวัน ซึ่งสามารถทำแบบนีได้เพราะได้ลงทุนไปกับระบบต่างๆ ไปมากพอควร

6 เมกะเทรนด์ ที่ดุสิตธานี มอง

เมื่อถาม ถึง เมกะเทรนด์ ที่จะเกิดขึ้น ในโลกธุรกิจยุคใหม่ "ศุภจี" ไล่เรียงให้ฟังว่า :

เทรนด์แรกคือ Demographic Change วันนี้การแพทย์และวิทยาศาสตร์พัฒนาขึ้น คนอายุยืนขึ้น อยู่นานขึ้น แต่จำนวนเด็กเกิดใหม่กลับน้อยลง ยกตัวอย่างประเทศไทยเองก็เป็นสังคมผู้สูงวัย เรื่องของ Demographic จะมีผลต่อการกำหนดเทรนด์โลก

เทรนด์ที่สองคือเรื่อง Wellness วันนี้คนไม่ได้ให้ความสำคัญกับเฉพาะการกิน แต่ยังให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิต และการดูแลสุขภาพกายและใจแบบองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นการดูแลป้องกัน การชะลอวัย การดูแลเรื่องความงาม สุขภาพ การออกกำลังกายและจิตใจ ไปจนถึงการพักผ่อนและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

เทรนด์ที่สามคือ Geopolitical เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนขั้วอำนาจจากตะวันตกไปตะวันออก การเติบโตของฝั่งเอเชีย บริบทโลกเปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น เราเริ่มได้ยินเรื่อง Petrodollars จะเป็นอย่างไรหากเริ่มมีการใช้เงินหยวนเป็นสื่อกลางในการซื้อขายน้ำมัน จะกระทบ Global Currency แค่ไหน เรื่อง Geopolitical คือสิ่งที่เราต้องจับตา

เทรนด์ที่สี่คือ Urbanization การเติบโตของเมืองรองจะมีส่วนในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ทั้งในมุมเศรษฐกิจ การใช้ชีวิต ฯลฯ วันนี้เราก็ได้เริ่มเห็น Urban Office แล้ว ที่บริษัทเช่าพื้นที่ให้พนักงานที่ไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ เข้ามาทำงานเป็นครั้งคราว

เทรนด์ที่ห้าคือ Sustainability เรื่องนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน หลายคนอาจคิดว่าไม่เกี่ยวกับตัวเอง แต่เรื่องนี้จะเปลี่ยนโลก ผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ธุรกิจก็ต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน

เทรนด์สุดท้ายคือ Technology เป็นสิ่งที่จะสนับสนุนทุกเทรนด์ที่กล่าวมา เป็นตัวกำหนดความได้เปรียบของธุรกิจ อย่างเราพูดถึงการทำงานจากที่ไหนก็ได้ วันนี้กรุงเทพฯ ได้รับการจัดอันดับจาก Holidu เสิร์ชเอ็นจินขนาดใหญ่ของอังกฤษให้เป็น Best Place for Workation เพราะค่าครองชีพไม่แพง มีเอกลักษณ์ และมีระบบ WIFI ที่ดี ซึ่งนี่ตอกย้ำว่าเทคโนโลยีก็จะเป็นกุญแจสำคัญ

"ด้วยเทรนด์ต่างๆเหล่านี้ ถือว่าทุกธุรกิจคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะต้องปรับตัว และควรมองถึงการปรับตัวที่ยั่งยืนด้วย" ศุภจี ทิ้งท้าย 

กฟผ. ปรับรูปแบบตอบโจทย์โลกอนาคต 

"บุญญนิตย์" ผู้ว่าฯ กฟผ. บอกว่า ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน ทั้งกระบวนการผลิตพลังงานไฟฟ้า และภารกิจเพื่อสังคม ชุมชน เนื่องจากวงการด้านเทคโนโลยีพลังงาน มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จำเป็นต้องพร้อมรองรับทั้งในแง่เทคโนโลยี การบริหารสินทรัพย์ และบุคลากร ตลอดจนมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

 กฟผ.ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงาน (EGAT Transformation) เพื่อรองรับการดำเนินงานในปัจจุบันและอนาคตไปสู่เป้าหมายความยั่งยืน สิ่งสำคัญคือ มายด์เซ็ทของทุกคนในองค์กร ต้องขยับไปพร้อมกัน รวมทั้งค่านิยม SPEED (Synergy, Proactive Approach, Empathy, Entrepreneurship, Digitalization) เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนภายในที่แข็งแรงและมีส่วนร่วมกันอย่างแท้จริง 

การพัฒนาอย่างยั่งยืนของ กฟผ. สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านที่ 5 การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UNSDGs) 9 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 7, 13, 8, 9, 11, 12, 15, 6 และ 2 ดังนี้ คือ เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จากเดิมที่ใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงหลัก มีน้ำและลมเป็นเชื้อเพลิงรอง กฟผ. ได้เพิ่มสัดส่วน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ด้วยโครงการโรงไฟฟ้าพลัังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro Floating Solar Hybrid Projects) ในเขื่อนของ กฟผ. จำนวน 9 แห่ง กำลังผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ พร้อมเน้นใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ลดการเกิดของเสียและนำกลับมาใช้ใหม่ อนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศ ส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน 

ทั้งไม่ลืมพัฒนานวัตกรรม และธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานอย่างครบวงจร (Energy Solutions Provider) ได้แก่ ธุรกิจ EGAT EV Business Solutions ปัจจุบัน กฟผ. ขยายสถานี EleX by EGAT ทั้งแบบชาร์จธรรมดาและชาร์จเร็ว พร้อมสถานีพันธมิตรในเครือข่าย EleXA แล้ว จำนวน 52 สถานีครอบคลุมทุกภูมิภาค และตั้งเป้าขยายสถานีให้ได้รวมกว่า 120 สถานีภายในสิ้นปี 2565 เพื่อสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เป็นต้น 

สำหรับ กฟผ.ตั้งเป้าสู่ EGAT Carbon Neutrality ภายในปี 2593 ด้วยการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ภายใต้การเติบโตร่วมกันของสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม สู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ “Triple S” ประกอบด้วย S – Sources Transformation จัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด S – Sink Co-creation ดูดซับเก็บกักคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม S – Support Measures Mechanism กลไกสนับสนุนโครงการชดเชย เลี่ยงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม