‘ซิสโก้’ ชี้ปัจจัยสำเร็จ 'ไฮบริด เวิร์ค' เทคโนฯ พร้อม ‘ซิเคียวริตี้’ หนุน

‘ซิสโก้’ ชี้ปัจจัยสำเร็จ 'ไฮบริด เวิร์ค' เทคโนฯ พร้อม ‘ซิเคียวริตี้’ หนุน

หัวใจสำคัญของ ไฮบริด เวิร์ค คือ เทคโนโลยีเจ๋งๆ ที่จะเข้ามาผสานเพื่อให้เกิดการทำงานแบบใหม่ ยืดหยุ่น ขณะที่ ระบบซิเคียวริตี้ต้องแน่นพอ

ซิสโก้ เปิดผลวิจัย การทำงานแบบไฮบริด (Hybrid Work) ช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิต ประสิทธิภาพพนักงานในไทย หากยังมีอีกหลายส่วนที่ต้องทำและสนับสนุน เพื่อให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่มมากขึ้น ขณะที่ หัวใจสำคัญของ ไฮบริดเวิร์คคือ เทคโนโลยีเจ๋งๆ ที่จะเข้ามาผสานเพื่อให้เกิดการทำงานแบบใหม่ ยืดหยุ่น ขณะที่ ระบบซิเคียวริตี้ต้องแน่นพอ 

“ทวีวัฒน์ จันทรเสโน” กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทย กล่าวว่า การทำงานแบบไฮบริด ช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพนักงานในไทย รวมไปถึงสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต และประสิทธิภาพในการทำงาน 

ซิสโก้ เปิดผลศึกษา เกี่ยวกับความพร้อมของพนักงาน สำหรับการทำงานแบบไฮบริด พบว่า พนักงานในไทย 7 ใน 10 คน หรือราว 70% เชื่อว่า คุณภาพการทำงานดีขึ้น และพนักงานในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน รู้สึกว่า ประสิทธิภาพการทำงานของตนเองปรับปรุงดีขึ้น ที่สำคัญ คือ 82% รู้สึกว่า สามารถทำงานจากที่บ้านตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จเท่ากับการทำงานในออฟฟิศ 

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความคิดเห็นของพนักงาน 28,000 คน ใน 27 ประเทศ รวมถึงผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 1,050 คนในไทย พบว่า มีพนักงานในไทยเพียง 37% เท่านั้นที่คิดว่าบริษัทของตน ‘มีความพร้อมอย่างมาก’ สำหรับการทำงานแบบไฮบริดในอนาคต
 

“ช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ปัจจัยสำคัญสำหรับการทำงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่อีกต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับผลงานที่เราทำออกมา ในโลกวิถีใหม่ของการทำงานแบบไฮบริด ทั้งนายจ้างและลูกจ้างขององค์กรต่างๆ ในไทยได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในหลายๆ ด้าน เช่น พนักงานมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการดำเนินงานโดยรวมขององค์กร" 

ไฮบริด เวิร์ค ปรับสมดุลงาน-ใช้ชีวิต

ทวีวัฒน์ บอกว่า การทำงานแบบไฮบริดเป็นมากกว่า การรองรับการกลับเข้าทำงานในออฟฟิศอย่างปลอดภัย หมายความว่า ผู้บริหารจำเป็นต้องบ่มเพาะวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อประโยชน์แก่ทุกคน และให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของประสบการณ์ การมีส่วนร่วม และคุณภาพชีวิตของพนักงาน ทั้งยังจะต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย และระบบรักษาความปลอดภัยหรือระบบซิเคียวริตี้ให้ทันสมัย

การศึกษาของซิสโก้ มุ่งตรวจสอบผลกระทบการทำงานแบบไฮบริดต่อคุณภาพชีวิตใน 5 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ อารมณ์ การเงิน จิตใจ ร่างกาย และสังคม ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ระบุว่า การทำงานแบบไฮบริดและการทำงานจากที่บ้านช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของตนในหลากหลายแง่มุม

เช่น การทำงานจากที่บ้านช่วยปรับปรุงสมดุลระหว่างการทำงาน และการใช้ชีวิตสำหรับพนักงาน 83% ในประเทศไทย ขณะที่  ผลศึกษาชี้ว่า "ความไว้ใจ" และ "ความโปร่งใส" คือ กุญแจสู่ความสำเร็จสำหรับการทำงานแบบไฮบริดในอนาคต โดย 69% ของพนักงานในไทยที่ต้องการให้มีรูปแบบทำงานแบบผสมผสานระหว่างการทำงานที่บ้านและที่ออฟฟิศ เชื่อว่าการทำงานในอนาคตจะเป็นรูปแบบไฮบริด

เทคโนโลยี-ซิเคียวริตี้ ต้องหนุน

“อานุพัม เตรฮาน” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบุคลากรและชุมชนของซิสโก้ ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ย้ำว่า ความไว้ใจกลายเป็นองค์ประกอบหลักสำหรับการทำงานแบบไฮบริดในโลกวิถีใหม่ ควบคู่กับการบริหารงานอย่างยืดหยุ่น

ขณะที่ “เทคโนโลยี” ยังคงมีความสำคัญเช่นกัน สำหรับการรองรับบุคลากรที่มีความหลากหลายมากขึ้น และทำงานอยู่ตามที่ต่างๆ ในอนาคต ผู้ตอบแบบสอบถาม 3 ใน 4 เชื่อว่า ปัญหาเชื่อมต่อที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นอุปสรรคที่จำกัดกรอบอาชีพการงานสำหรับพนักงานที่ทำงานจากที่บ้าน ด้วยเหตุนี้ 89% จึงกล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายมีความสำคัญอย่างมากสำหรับประสบการณ์การทำงานจากที่บ้านอย่างไร้รอยต่อ แต่ราว 22% ระบุว่า บริษัทของตนยังคงต้องการโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายที่เหมาะสม ขณะที่ ผู้ตอบแบบสอบถามในไทย 8 ใน 10 คนเชื่อว่า ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ สำคัญมากสำหรับการทำงานแบบไฮบริดอย่างปลอดภัย

“ฮวน ฮวด คู” ผู้อำนวยการฝ่ายไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ซิสโก้ ภูมิภาคอาเซียน ระบุว่า เทคโนโลยีคือเครื่องมือสำคัญที่จะรองรับการขยายตัวของสถานที่ทำงานแบบไฮบริด ต้องอยู่บนพื้นฐานระบบรักษาความปลอดภัยแบบครบวงจร

ทุกวันนี้มีช่องทางการโจมตีเพิ่มมากขึ้น เพราะมีผู้ใช้ และอุปกรณ์จำนวนมากเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันขององค์กร ด้วยเหตุนี้องค์กรจึงต้องยกระดับการรักษาความปลอดภัยและการเฝ้าระวัง ควบคู่ไปกับการรองรับการเข้าถึงที่ปลอดภัย และการปกป้องเครือข่ายอย่างครอบคลุม ตั้งแต่อุปกรณ์ปลายทางไปจนถึงระบบคลาวด์

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์