"โฟกัส กรุ๊ป"ลับ ลวงพราง? เมื่อกสทช. (เลือก) รับฟังความเห็นแบบปิด!

"โฟกัส กรุ๊ป"ลับ ลวงพราง? เมื่อกสทช. (เลือก) รับฟังความเห็นแบบปิด!

ท้ายที่สุดแล้วยังไม่มีความชัดเจนว่า โฟกัส กรุ๊ปในครั้ง 2 ซึ่งเป็นรอบ "นักวิชาการ" สำหรับดีลควบรวม ทรู-ดีแทค จะจัดขึ้นหรือไม่ หรือจัดแต่ทำแบบลับๆเพื่อป้องกันความเห็นรั่วไหลและได้เสียงจริงตัวจริงจากนักวิชาการไม่เอียงข้างจะกำหนดเมื่อไรกันแน่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้กรรมการกสทช. โดยรองศาสตราจารย์ ศุภัช ศุภชลาศัยกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์) แถลงข่าวว่า หลังจากที่บอร์ดกสทช.มีมติให้จัดรับฟังความเห็นแบบวงจำกัด(โฟกัส กรุ๊ป) เกี่ยวกับการควบรวมธุรกิจของบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่นกับบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) จำนวน 3 ครั้ง 

โดยในครั้งที่ 1 รอบภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้จัดเสร็จไปแล้วเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2565 ซึ่งความตั้งใจของบอร์ดกสทช.ต้องการจะจัดโฟกัส กรุ๊ปให้ครบ 3 ครั้งตามที่มีมติไปเมื่อ27 เม.ย. 2565 นั้น ในรอบที่ 2 คือในส่วนของนักวิชาการ จะจัดขึ้นอีกครั้งใน 2 สัปดาห์ต่อจากครั้งที่ 1 จบลง และในครั้งที่ 3 รอบของกลุ่มผู้บริโภคจะจัดขึ้นอีกในสัปดาห์ต่อไป เมื่อรวบรวมความเห็นของผู้มี่เกี่ยวข้องในทุกมิติก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดกสทช.
 

แต่ดูเหมือนว่าไทม์ไลน์อาจไม่เป็นตามนั้น เพราะทันทีที่โฟกัส กรุ๊ปครั้งแรกจบลง เสียงบ่นพึมพำพร้อมกับการตั้งข้อสงสัยจากหลายฝ่ายถาโถมเข้ามายังกสทช.เนื่องจากว่า การรับฟังความเห็นที่ผ่านมา ดูเหมือนกับว่าไม่ใช่เสียงของผู้มีส่วนได้เสียจริงๆ คนที่มาร่วม ในวงโฟกัส กรุ๊ปคล้ายกับมีการเกณฑ์ "หน้าม้า" ไม่ใช่ตัวจริงเสียงจริงในแวดวงโทรคมนาคม

เป็นเหตุให้บอร์ดกสทช.หนักใจและทำให้การโฟกัส กรุ๊ปในครั้ง 2 ในรอบนักวิชาการดูเหมือนเข้าสู่แดนสนธยาเพราะเมื่อถามไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในสำนักงานกสทช.เองหรือบอร์ดกสทช.เอง กลับได้คำตอบมาเพียงว่าไม่รู้ว่ามีการจัดหรือยัง เพราะกำหนดเดิมคือจะต้องจัดโฟกัส กรุ๊ปไปเมื่อวานนี้ (20 พ.ค.)
 

แหล่งข่าวจากกสทช.กล่าวเพียงสั้นๆว่า อย่างที่เห็นในรอบแรกเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2565 มีใครก็ไม่รู้ลงชื่อแสดงความเห็นกันเป็น10 คน 20 คน แต่คนเหล่านั้นมีบทพูดหรือสคริปที่เหมือนกันๆเราไม่อยากได้อย่างนั้นแล้ว ดังนั้นในรอบนี้ที่เป็นนักวิชาการนั้น กสทช.มองในส่วนที่เป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ซึ่งจะมีการเชิญมาให้ข้อมูล3-5คน จะเป็นคำนวณโดยสูตรทางคณิตศาสตร์ถึงต้นทุนค่าบริการ การประกอบธุรกิจ และมีการโมเดลการควบรวมของต่างประเทศมาฉายภาพให้เห็น จึงคิดกันว่าไม่จำเป็นต้องเป็นการรับฟังโดยมีคนมีภายนอกเพราะมันเป็นเรื่องการคิดคำนวณตัวเลขทางเทคนิค ซึ่งคิดว่าจะจัดในวันจันทร์นี้ (23 พ.ค.) แค่เชิญนักวิชาการมาให้ข้อมูลเท่านั้น

ด้านนายประวิตร ลี่สถาพรวงศา อดีตบอร์ดกสทช.และปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการเพื่อวิเคราะห์การรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง กล่าวว่า ไม่ทราบเลยว่าการจัดโฟกัส กรุ๊ปครั้ง 2 จะมีวันใด แต่ในส่วนของด้านคุ้มครองผู้บริโภคได้กำหนดวันแล้วเป็นวันที่ 26 พ.ค.นี้

ซึ่งจะเปิดกว้างให้มีการลงชื่อเพื่อแสดงความเห็นในภาคประชาชนและนักวิชาการด้านโทรคมนาคมด้วย โดยเมื่อเสร็จแล้วก็จะนำรายงานสรุปข้อเสนอแนะต่างๆในส่วนของผู้บริโภคเสนอต่อสำนักงานกสทช.ต่อไป โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พ.ค. หรือไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนมิ.ย.นี้