NIA ส่ง ‘Inno4Farmers’ ยกระดับสตาร์ทอัพสายเกษตรด้วยเทคโนฯ เชิงลึก

NIA ส่ง ‘Inno4Farmers’ ยกระดับสตาร์ทอัพสายเกษตรด้วยเทคโนฯ เชิงลึก

NIA เปิดตัวโครงการ “Inno4Farmers 2022” เร่งสร้างสตาร์ทอัพสายเกษตร ตั้งเป้าวิสาหกิจ 100 รายต้องใช้เทคโนโลยีเชิงลึกให้ได้ภายในปี 2567 สมัครเข้าร่วมโครงการฟรีถึง 15 พ.ค. นี้

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กล่าวว่า NIA ริเริ่มการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าจะสร้างสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกให้ได้อย่างน้อย 100 ราย ภายในระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2565 - 2567) 

ซึ่งสตาร์ทอัพด้านการเกษตร เป็นหนึ่งในสาขาเป้าหมายที่สำคัญ เนื่องจากมีความเกี่ยวเนื่องกับประชากรมากกว่าร้อยละ 30 ของประเทศ แต่กลับมีสัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP เพียงร้อยละ 10 และมีอัตราการเติบโตช้า 

ทาง NIA ได้รับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เริ่มดำเนินการสำรวจสมุดปกขาว พูดถึงการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเบื้องต้น เป็นเล่มแรกในประเทศไทย มีกลุ่มตัวอย่าง 41 ราย ส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะเริ่มต้นทำธุรกิจสตาร์ทอัพ และส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบริเวณกรุงเทพมหานคร 

NIA ส่ง ‘Inno4Farmers’ ยกระดับสตาร์ทอัพสายเกษตรด้วยเทคโนฯ เชิงลึก

แสดงให้เห็นว่า วิสาหกิจในประเทศไทยจะต้องได้รับการผลักดัน ร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มจำนวนของสตาร์ทอัพให้เติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงควรเร่งผลักดันสตาร์ทอัพสายนี้ให้สามารถนำเทคโนโลยีเชิงลึกจากงานวิจัยและพัฒนาขั้นสูงมาแก้ปัญหาด้านการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อันดับแรกจะเริ่มจากพัฒนาทักษะและความรู้การสร้างนวัตกรรมการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ สำหรับเตรียมความพร้อมการเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้านการเกษตรรายใหม่ เชื่อมต่อกับกระบวนการบ่มเพาะและเร่งสร้างสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตอบโจทย์ความต้องการของตลาด

ตลอดจนส่งเสริมให้สตาร์ทอัพสามารถนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดและสามารถระดมทุน เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตและการขยายธุรกิจได้ในระดับภูมิภาค

การบ่มเพาะวิสาหกิจเบื้องต้นให้เป็นนักรบเศรษฐกิจใหม่  

การบ่มเพาะเป็นกิจกรรมที่จะทำให้สตาร์ทอัพเข้าใจโจทย์ของภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น พร้อมกับการพัฒนาทั้งเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจให้แข็งแกร่ง รวมถึงได้ประสบการณ์ในการร่วมมือกับหน่วยงานและบริษัทขนาดใหญ่ NIA จึงได้ดำเนินการจัดโครงการ Inno4Farmers ขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกและรูปแบบธุรกิจด้านการเกษตรของสตาร์ทอัพที่ร่วมโครงการให้สามารถแข่งขันและขยายธุรกิจให้เติบโต 

ส่วนของปีนี้จะเปิดรับสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกที่มีพื้นฐานจากการวิจัยและพัฒนาเชิงลึก  ต้องการกระบวนการประยุกต์ใช้งานขั้นสูงที่ยากต่อการลอกเลียนแบบ เช่น ปัญญาประดิษฐ์และการวิเคราะห์ข้อมูล เทคโนโลยีชีวภาพ บล็อกเชน เซ็นซอร์และไอโอที หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีเชิงลึกอื่น ๆ ที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาของภาคการเกษตร 

นอกจากความรู้ที่สตาร์ทอัพจะได้รับในระหว่างการเข้าร่วมโครงการแล้ว ยังจะได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในภาคการเกษตรและเทคโนโลยี รวมถึงได้ทำงานร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเรียนรู้และเข้าใจโจทย์ของภาคการเกษตรได้อย่างลึกซึ้ง สามารถนำไปต่อยอดความร่วมมือสู่การขยายธุรกิจได้จริง 

สุดท้าย ยังมีโอกาสเชื่อมต่อกับนักลงทุนหรือผู้ที่ต้องการเทคโนโลยีจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่พร้อมจะผลักดันให้เกิดการเติบโตอย่างเป็นรูปธรรม

 

การเติบโตของสตาร์ทอัพเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกและการต่อยอดทางธุรกิจ

พรสีห์ ตรีวิศวเวทย์ CEO Inari ระดับยูนิคอร์นจากสหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จเรื่องการนำเทคโนโลยีในการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตมาปรับใช้ โดยได้สร้างแพลตฟอร์มอย่าง The SEEDesign แก้ปัญหาเรื่องอาหารของโลกตั้งแต่ระบบเริ่มต้น ในที่นี้คือตัวเมล็ดพันธุ์ (Seed) โดยจะเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ วิเคราะห์ ไปถึงการแก้ไข เช่น การตัดแต่งพันธุกรรม เป็นต้น 

นอกจากนี้ก็ได้ตอบคำถามเรื่องการเลือกสร้างผลิตภัณฑ์ของธุรกิจสตาร์ทอัพไว้ว่า สตาร์ทอัพจะต้องชัดเจนเรื่องการผลิตสินค้า เกิดขึ้นเมื่อไร ควบคู่ไปกับการสำรวจตลาดและการนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้กับวัตถุดิบทางการเกษตรที่ได้คัดสรร 

ส่วนทางด้านของตริน พงษ์เภตรา กรรมการบริษัททักษิณปาล์ม เผยว่า แม้ไทยจะเป็นประเทศที่มีผลผลิตทางการเกษตรเยอะ หากแต่ปัจจุบันนั้นประชาชนที่สามารถทำงานด้านเกษตรกรรมได้มีจำนวนลดลง ดังนั้น โจทย์ที่ยากสำหรับผู้ประกอบการทางเกษตรหลัก ๆ คือ แรงงาน การลดต้นทุนการผลิต การสำรวจพื้นที่ การบริหารจัดการผลผลิต เป็นต้น การเข้ามาของเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดัน ต่อยอด รวมไปถึงช่วยแรงงานให้สามารถทำงานในระยะเวลาที่น้อยลงแต่ได้ผลผลิตที่มาขึ้น 

สอดคล้องกับทัศนะของกฤตธัช สาทรานนท์ CEO บริษัทโนวี่ (NOVY) ผลิตโดรนทางการเกษตร ที่พัฒนาอากาศยานไร้คนขับช่วยเหลือชาวเกษตรกร ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับเกษตรกรรมจะช่วยผลักดันธุรกิจสตาร์ทอัพเกษตรมากยิ่งขึ้น 

“โครงการ Inno4Farmers ทำให้สตาร์ทอัพทางเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพเกษตรได้เข้าไปพูดคุยและช่วยกันพัฒนาธุรกิจ ทำให้สามารถเข้าใจปัญหา และเห็นวิธีการแก้ไข เพื่อนำไปพัฒนา ต่อยอด Inno4Farmers จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ทำให้ทุกสตาร์ทอัพมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และทำงานร่วมกัน” กฤตธัช กล่าว     

โครงการ Inno4Farmers 2022 เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้จนถึง 15 พฤษภาคม 2565 ทาง inno4farmers และสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมจาก Facebook : Inno4Farmers หรือโทร. 0813729163