เปิด '2ปม' ใหญ่ บีบดีล 'ทรูควบดีแทค' สะดุด!! - วงในเผย บอร์ด กสทช. หนักใจ!!

เปิด '2ปม' ใหญ่ บีบดีล 'ทรูควบดีแทค' สะดุด!! - วงในเผย บอร์ด กสทช. หนักใจ!!

บอร์ด กสทช.หนักใจ หลังโฟกัสกรุ๊ป ดีลทรูดีแทค รอบแรก ระบุ ยังมีประเด็นต้องหาความเห็นให้ครบทุกมิติอีกมาก เปิด 2 เงื่อนไข บีบดีลสะดุด ยกเคสต่างประเทศ หากควบรวมต้องเรียกคืนคลื่น เสา มาประมูลใหม่ ขีดเส้นค่าบริการต้องไม่สูงเกิน วงในเผยบอร์ดกสทช หยั่งเสียงดีลอาจโมฆะ!!

บอร์ด กสทช.เรียกประชุมบอร์ดนัดสอง หลังโฟกัสกรุ๊ป รอบแรก ดีลทรูควบดีแทค  กลุ่มธุรกิจ-อุตฯ ที่เกี่ยวข้องจบลง ระบุ ยังมีประเด็นต้องหาความเห็นให้ครบทุกมิติอีกมาก พร้อมจัดอีก 2 กลุ่มที่เหลืออีก 2 สัปดาห์ถัดไป เปิด 2 มาตรการ บีบดีลสะดุด ยกเคสต่างประเทศ หากควบรวมต้องเรียกคืนคลื่น เสาประมูลใหม่  ขีดเส้นค่าบริการต้องไม่สูงเกินกำหนด วงใน เผยรายงานหนังสือขอควบรวมจากทรู-ดีแทค ระบุค่าใช้บริการอาจเพิ่มขึ้นช่วงแรกไม่เกิน 10% ขัดแย้งผลวิจัยนักเรียนทุน กสทช.ที่เผยว่า ค่าโทรฯ มีสิทธิพุ่งทะลุ 20-30% การแข่งขันด้านราคาสิ้นสุดลงแน่นอน หยั่งเสียงในบอร์ดกสทช. มีสิทธิให้ควบรวมเป็นโมฆะ เหตุส่งผลต่อผู้ใช้งานในประเทศชัดเจน

เส้นทางการควบรวมกิจการระหว่างสองค่ายมือถือเบอร์ 2 และ 3 ในตลาด คือ ทรู และ ดีแทค แม้ไทม์ไลน์กำหนดว่า จะเริ่มได้เห็นความชัดเจนช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ ด้วยขั้นตอนหลายอย่างผ่านที่ประชุมผู้ถือหุ้นไปแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ สัญญาณจาก กสทช.เริ่มออกมาให้เห็นต่อเนื่อง ในการตรวจสอบดีลควบรวมทุกมิติ จนเกิดการโฟกัส กรุ๊ปรอบแรกไปเมื่อ 2 วันก่อน สิ่งที่ต้องจับตาต่อจากนี้ คือ โฟกัส กรุ๊ปที่เหลือจะออกหน้าไหน และปลายทางสุดท้ายของดีลนี้ จะจบลงที่ศาลอย่างที่หลายคนคาดการณ์หรือไม่ 
 

ผู้สื่อข่าวรายงาน วานนี้ (10 พ.ค.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ในครั้งที่ 2 มีวาระรับทราบ การรายงานความคืบหน้าหลังจากการจัดรับฟังความเห็นสาธารณะในวงจำกัด (โฟกัส กรุ๊ป) ครั้งแรกจบลงไป ตามที่ได้เห็นชอบให้จัดประชุมโฟกัส กรุ๊ป เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง กลุ่มนักวิชาการ และกลุ่มผู้บริโภค และประชาชนทั่วไป

นอกจากนี้ ยังมีการรายงานความคืบหน้า แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษา และวิเคราะห์ดีลทรูควบดีแทค จำนวน 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการฯ ด้านกฎหมาย คณะอนุกรรมการฯ ด้านคุ้มครองผู้บริโภค และสิทธิพลเมือง คณะอนุกรรมการฯ ด้านเทคโนโลยี และคณะอนุกรรมการฯ ด้านเศรษฐศาสตร์ นอกจากการตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ เพื่อศึกษา และวิเคราะห์ผลกระทบแล้ว 
 

นายศุภัช ศุภชลาศัย กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวในการประชุมโฟกัส กรุ๊ป ต่อกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1 กลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไปแล้วว่า หลังจากโฟกัส กรุ๊ปครั้งที่ 1 ผ่านไป ในอีก 2 สัปดาห์ จะจัดในกลุ่มนักวิชาการ และอีก 2 สัปดาห์ต่อจากนั้น จะโฟกัส กรุ๊ป กลุ่มผู้บริโภค และประชาชนทั่วไปด้วย

รายงานลับชี้ "ค่าบริการ" แพงขึ้น

แหล่งข่าววงการ โทรคมนาคม กล่าวว่า ในที่ประชุมนอกจากรับทราบรายงานความคืบหน้าดังกล่าวแล้ว ยังมีการรับเรื่องจาก สำนักงาน กสทช.ที่ส่งผลการวิจัย และผลการศึกษา ที่ได้มอบหมายให้ที่ปรึกษาอิสระ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และฝ่ายวิชาการของ กสทช. เอง สรุปความเห็นต่อการควบรวม เพราะตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย คือ หลังทรูและดีแทค ยื่นเอกสารขอดำเนินธุรกิจควบรวมมาอย่างเป็นทางการต่อบอร์ดเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมาแล้ว และสำนักงาน กสทช.รับหน้าที่รวบรวมเอกสารถึงวันที่ 17 มี.ค. 2565 และจะสิ้นสุด 60 ในวันที่ 16 พ.ค.นี้ แต่เนื่องด้วยเป็นวันหยุดราชการ ดังนั้น จึงต้องรีบรายงานต่อบอร์ดดังกล่าว

ทั้งนี้ เบื้องต้นผลการศึกษาที่เอาของ ที่ปรึกษาทางการเงินทรูและดีแทคมารายงาน พบว่า ช่วงแรกที่มีการควบรวมกิจการ จะมีภาระค่าใช้จ่ายในการเอาดีแทคออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และนำไปรวมธุรกิจในชื่อใหม่ ตอนนี้ยังคงให้ชื่อเป็นบริษัท New Co. แล้วนำกลับเข้ามาในตลาดฯ อีกครั้ง การทำแบรนด์ดิ้ง แผนการตลาด ทำโปรโมชั่นจูงใจให้ลูกค้าอยู่ต่อในระยะแรก จำเป็นต้องลดราคาลง แต่ในระยะยาวค่าบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 10% 

ส่วนแผนการศึกษาของนักเรียนทุนของ กสทช.และฝ่ายวิชาการเอง ระบุชัดว่า หากผู้เล่นในตลาดโทรคมนาคมเหลือเพียงรายใหญ่เพียง 2 รายคือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และบริษัทใหม่ที่เกิดหลังจากควบรวมแล้วจะทำให้ค่าใช้บริการแพงขึ้นทันที 20-30% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวทำให้บอร์ด กสทช. ขณะนี้ มีเสียงส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับดีลควบรวมที่เกิดขึ้น

“ด้วยความท้าทายของบอร์ดเองที่ก็อยากทำให้ผลงานชิ้นแรกที่กำลังถูกสังคมจับตามองออกมาดี และไม่เกิดข้อครหาใด จึงทำให้ดีลนี้ค่อนข้างมีน้ำหนักไปที่กสทช.มีอำนาจสั่ง ”ไม่อนุญาต“ ให้เกิดการควบรวม แต่หากในท้ายที่สุดแล้วยินยอม ก็จำเป็นจะต้องเขียนกำหนดมาตรการเยียวอุตสาหกรรมและผู้บริโภคอย่างเข้มข้น ซึ่งอาจจะเป็นโมฆะหลังจากหยั่งเสียงในบอร์ด เพราะบอร์ดก็หนักใจที่ดีลนี้หลายฝ่ายจับตาดู” แหล่งข่าว กล่าว

ยกรธน.ตัวแปรตัดสินใจ

แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า กสทช. มีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาสั่ง “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” การควบรวมธุรกิจของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 27 (11) และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 ที่บัญญัติไว้ว่า การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคมมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจํากัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม

ได้แก่ (2) การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน โดยกรณีนี้ ทรูและดีแทคได้มีการยื่นรายงานการควบรวมตามข้อ 5 (1) ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งตามข้อ 9 ของประกาศดังกล่าวยังระบุว่า การรายงานตามข้อ 5 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 กสทช. มีอำนาจในการสั่งห้ามการควบรวมนี้ได้ หากเข้าข่ายเป็นการผูกขาด ลดหรือจำกัดการแช่งขัน

ส่วนผลกระทบต่อการแข่งขันตามหลักเศรษฐศาสตร์ เมื่อผู้ให้บริการรายใหญ่เหลือเพียง 2 ราย ธรรมชาติของตลาดที่มีผู้เล่นน้อยราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดโทรคมนาคมซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานครอบคลุมประชากรทั้งประเทศแล้วในขณะนี้ การแข่งขันย่อมน้อยลง ซึ่งจากเดิมมี 3 ราย ต่างมีการแข่งขันอย่างเข้มข้น ทำให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกที่หลากหลาย ดังนั้นเมื่อเหลือ 2 รายก็ย่อมมีแนวโน้มที่อัตราหรือจำนวนค่าใช้บริการอาจเพิ่มขึ้นหรือคงเดิม ไม่ลดลงหรือหลากหลายเหมือนกับในช่วงระยะเวลาที่มี 3 รายแข่งกัน

เปิดสองมาตรการเยียวยา

แหล่งข่าว ระบุอีกว่า หากในท้ายที่สุดการควบรวมยังคงดำเนินไป และบอร์ดอนุญาตให้เกิดการควบรวม สิ่งที่บอร์ดกสทช.ทำได้ คือ ออกมาตรการเยียวยา เพื่อกำหนดเป็นเงื่อนไขในการควบรวมธุรกิจ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ข้อ ได้แก่

1.เชิงโครงสร้าง หากทรูและดีแทครวมกัน จะทำให้มีคลื่นความถี่ราว 1500 เมกะเฮิรตซ์ มีเสา สถานีฐาน มากกว่า 80,000-100,000 ต้น หากยึดเอากรณีตัวอย่างในต่างประเทศที่เกิดการควบรวมธุรกิจเช่นนี้ ผู้ที่ขอควบรวม จำเป็นต้องขายสินทรัพย์ของตัวเองที่มีอยู่ออก หรือนำมาประมูลใหม่ เพื่อให้การแข่งขันที่เหลืออยู่ในตลาด ไม่เกิดการเสียเปรียบไปมากกว่าที่เป็นอยู่ หรือรัฐอาจนำมาให้บริการเชิงสาธารณะ

2.เชิงพฤติกรรม หากทรูและดีแทครวมกัน จะให้มียอดผู้ใช้งานมากเกินกว่า 50 ล้านราย และเกิดกว่า 80% ของจำนวนประชากรที่ใช้งานจริงในประเทศ จำเป็นต้องออกประกาศกำหนดการควบคุมราคาให้บริการขั้นสูง เพื่อไม่ให้มีค่าบริการเกินกว่าอัตราที่กสทช.กำหนด และจะต้องมีอายุของค่าบริการที่นานกว่ารอบบิลปกติด้วย

เสียงจากตัวจริงที่หายไป

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานอนุกรรมการเพื่อวิเคราะห์การควบรวมมธุรกิจฯ ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง และอดีตกสทช. กล่าวว่า กสทช. คงได้นำความคิดเห็นทั้งหมดไปประมวลอย่างรอบคอบเพื่อประกอบการตัดสินใจ แต่คำถามที่สำคัญที่มีการถามในเวทีการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งไม่ได้เกิดจากการคาดการณ์ว่า ฝ่ายใดจะได้ประโยชน์ ฝ่ายใดจะเสียประโยชน์ แต่เป็นคำถามที่อยากให้ผู้ขอรวมธุรกิจตอบให้ชัดเจน ซึ่งหากมีความชัดเจนย่อมจะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจของทุกฝ่าย คือคำถามจากผู้แสดงความคิดเห็นที่สังกัดหอการค้าไทย

เป็นคำถามเกี่ยวกับผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบที่จะเกิดขึ้นในกลุ่มต่างๆ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ผลกระทบที่จะเกิดกับผู้บริโภค กับพนักงานหรือคู่ค้ารวมถึงทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบัน และผลกระทบที่จะเกิดกับสังคมโดยรวม

ซึ่งหากผู้ขอควบรวมคือทรูและดีแทคมีเจตนาที่จะให้ผู้บริโภค พนักงาน คู่ค้า และสังคมได้รับประโยชน์สูงสุด ก็สามารถแสดงทิศทางของเป้าหมายและการดำเนินการเพื่อตอบโจทย์เหล่านี้ รวมถึงความพยายามในการลดผลกระทบเชิงลบด้วย เมื่อมีความชัดเจนแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคำขอรวมธุรกิจไปในตัวว่าจะได้รับการสนับสนุนหรือไม่

อย่างไรก็ดี ในเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา เสียงที่หายไปคือเสียงจากภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่เป็นลูกค้า คือธุรกิจหรืออุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ภาคการผลิต ภาคการเกษตร ที่จะต้องใช้โครงข่าย 5จี หรือใช้โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่อื่นๆ ในการประกอบการในอนาคต เพราะหากการรวมธุรกิจทำให้การแข่งขันลดลงอย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดภาระต้นทุนที่สูงขึ้นต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นลูกค้า ท้ายที่สุดภาระย่อมตกไปสู่ผู้บริโภคผลผลิตเหล่านั้น การแสดงความชัดเจนจากผู้ขอรวมธุรกิจจึงเป็นจุดสำคัญควบคู่ไปกับการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ

เอกสารว่อน โฟกัสกรุ๊ป หนุนควบรวม 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโฟกัส กรุ๊ปครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมประมาณ 150 คน มีรายชื่อของตัวแทนคู่ค้าและสมาคมต่างๆที่เกี่ยวข้องขอแสดงความเห็นนับ 20 คน

โดยส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าเห็นด้วยกับการควบรวมของทรูและดีแทคที่กำลังจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันในวันเดียวกัน มีเอกสารส่งเผยแพร่ โดยไม่เปิดเผยแหล่งที่มาอย่างชัดเจน ระบุใจความสำคัญของโฟกัส กรุ๊ป อ้างว่า ส่วนใหญ่ มองการควบรวมส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมและประเทศไทย มีเพียง เอไอเอส และเอ็นที เท่านั้นที่ออกมาคัดค้าน

ในเอกสาร ระบุว่า มีมุมมองจากคู่ค้าต้องการให้ควบรวม เพื่อให้บริษัทเกิดความทัดเทียมในการแข่งขัน สามารถสร้างงานที่มั่นคงให้กับผู้ประกอบการรายย่อยตลอดห่วงโซ่คุณค่าได้ เป็นต้น 

ขณะที่ เอไอเอส ส่งผู้บริหาร ขึ้นแสดงความคิดเห็นเพียงรายเดียว ระบุว่า เมื่อทั้ง 2 รายควบรวมกันจะเป็นการถือครองคลื่นความถี่ที่เกินกว่าหลักเกณฑ์กำหนดไว้ของรายอื่นได้ โดยไม่ต้องเข้าประมูลด้วยตนเอง ซึ่งหาก กสทช. ยินยอมให้ทั้ง 2 รายควบรวมกัน กสทช. กสทช. ก็ควรมีการเยียวยาความเสียหายให้แก่เอไอเอสด้วย

ดังนั้น การแสดงความเห็นของ เอไอเอสในครั้งนี้ไม่ใช่การคัดค้านการควบรวม แต่เนื่องจากการควบรวมครั้งนี้ จะก่อให้เกิดผลกระทบไม่ใช่แค่เอไอเอสแต่จะกระทบทั้งอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมของผู้บริโภคดังนั้น บริษัทจึงต้องการความชัดเจนของกระบวนการทำงานของ กสทช.ในการพิจารณาการควบรวมอย่างโปร่งใส เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและข้อกฎหมายที่กำกับดูแล เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อทุกด้านอย่างรอบคอบที่สุด