ถอดรหัส ‘อาหารแห่งอนาคต’ เน้นสุขภาพดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ถอดรหัส ‘อาหารแห่งอนาคต’ เน้นสุขภาพดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เทรนด์อาหารแห่งอนาคต สุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี ผู้ประกอบการ SME รายย่อยต้องหันมาจับจุด Ready To Eat, Ready To Cook

ขณะที่ทั้งโลกเผชิญกับสภาวะวิกฤตอย่างโควิด - 19 ธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่ารายใหญ่หรือรายย่อยต่างก็มีรายได้ที่ซบเซาลง บางธุรกิจที่ดำเนินต่อไม่ได้ต้องปิดตัวลง หนึ่งในนั้นคือ ธุรกิจอาหาร สภาพสังคมที่เปลี่ยนไป การดำเนินชีวิตในข้อจำกัด จึงทำให้เกิดงานเสวนาในหัวข้อ “Future Food Business เจาะแนวคิดสร้างธุรกิจแห่งอนาคต” จัดโดยคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 

ดร. วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย อธิบายการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคว่า ตลาดของผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เนื่องจากแต่ละประเทศมีรายได้ที่สูงขึ้น และอีกปัจจัยหนึ่งคือ ผู้บริโภคหันมาตระหนักและให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มอาหารในอนาคต (Future Food) ที่กำลังมา 

59% ของผู้บริโภคให้เหตุผลว่า สุขภาพดีมีผลมาจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของทุกคน 48% ของผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าจากธุรกิจที่ยั่งยืน มีผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 

อาทิ เช่น การไม่ทารุณกรรมสัตว์ในระหว่างการเลี้ยงหรือเพาะพันธุ์ (Animal Health), การจัดการกับอาหาร (Food Waste Management), การรับประทานโปรตีนทางเลือก (Plant Based) ที่มาจากวัตถุดิบอย่างเช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ขนุน ข้าวโพด สาหร่าย เห็ด ผลไม้ พืชผักธัญพืชชนิดต่าง ๆ ทดแทนการใช้โปรตีนสังเคราะห์ ตลอดจนการเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของธัญพืช การใช้หญ้าหวานแทนน้ำตาล รวมถึงเครื่องดื่มผสมวิตามิน และสารอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย ฯลฯ

ถอดรหัส ‘อาหารแห่งอนาคต’ เน้นสุขภาพดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ทางศูนย์กสิกรไทยยังเปิดเผยเพิ่มเติมไว้ว่า ลูกค้าหันมาตัดสินใจซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น หากราคาสูงขึ้นไม่เกิน 20% 

“นิยามคำว่า อาหารอนาคต คือ อาหารที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและดีต่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ” 

ทางด้าน ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ประธานบริษัทซันสวีท (Sun Sweet) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้การทำเกษตรจะเป็นแบบการถนอมอาหารให้สามารถอยู่ได้นานขึ้น แต่ในปัจจุบันเรามองถึงการทำอาหารที่สม่ำเสมอ ยั่งยืน คำนึงคุณภาพสินค้า รสชาติ ราคา และสามารถใช้ระบบเทคโนโลยีวางแผนให้ทำงานได้ทั้งปี 

สิ่งที่ทำให้บริษัทซันสวีทเติบโตทางด้านอาหาร คือ แนวคิดเกี่ยวกับการผลิต อาหารพร้อมทาน (Ready To Eat) และ อาหารพร้อมปรุง (Ready To Cook) ผู้บริโภคสามารถหยิบซื้อได้สะดวก 

โดยเป็นการเอาสิ่งที่มีอยู่รอบตัวเข้าไปในตลาดเพื่อต่อยอด ส่งออก ยกตัวอย่างเช่น ข้าวโพดหวาน ทำเป็นฝักที่ทานง่าย และราคาไม่แพง เพิ่มไอเท็มสินค้าต่าง ๆ เข้ามา เอาวัตถุดิบรอบ ๆ ตัวมาทำ เช่น มันหวาน กล้วยน้ำวา ถั่วลิสงหลายเสือ ฟักทอง เมื่อก่อนไม่สามารถนำเข้าไปขายในร้านสะดวกซื้อได้ แต่ปัจจุบันนั้นทำได้ เพราะได้เอามาแปรรูปและออกแบบให้สามารถหยิบซื้อง่ายขึ้น 

ดร.วิศิษฐ์ ยกตัวอย่างเรื่อง Food Waste ไว้ว่า ปัจจุบันสังคมเราเปลี่ยนไปเยอะ การอยู่อาศัยในบ้านหนึ่งหลังก็เปลี่ยนตาม จากเดิมที่อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ๆ ก็เหลือบ้านละ 2-3 คนต่อหลัง หรืออาจจะอยู่แค่คนเดียวต่อบ้านหนึ่งหลัง คนรุ่นใหม่มีความคิดอยากไม่มีลูกเพราะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย การมีลูกถือเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย 

ดังนั้น การเลือกซื้ออาหารจึงต้องคำนวนถึงปริมาณความต้องการรับประทานให้เกิดประโยชน์สูงสุด กล่าวคือ แต่เดิมเราซื้อกล้วย 1 หวี ราคา 40 บาทก็ทานไม่หมด ทำให้กล้วยเน่าเสีย ต้องทิ้ง ผู้บริโภคจึงนิยมหันมาซื้อกล้วยที่แบ่งขายเป็น 2-3 ลูกตามร้านสะดวกซื้อ ราคาอาจจะแพงกว่าซื้อเป็นหวี แต่ปริมาณของกล้วยที่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้รับประทานหมดและไม่เป็นของเหลือทิ้ง 

“อะไรก็ตามที่ทำออกมาแล้วมันเหมาะกับ 1 คน 2 คน 3 คน สินค้ากลุ่มนี้เป็นเทรนอาหารอนาคตที่กำลังมา และตอบโจทย์สินค้ากลุ่ม BCG (Bio Circular Green Economy)” 

ซึ่งดร.วิศิษฐ์ ได้เสนอสิ่งที่สำคัญกับธุรกิจ SME ธุรกิจสตาร์ทอัพ ในการทำตลาดแข่งกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ไว้ว่า ธุรกิจอาหารเฉพาะบุคคล เช่น กลุ่มเด็ก กลุ่มนักกีฬา กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว และ ธุรกิจอาหารสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ การหันมาจับจุดธุรกิจอาหารเหล่านี้ และคำนึงถึง Ready To Eat, Ready To Cook จะทำให้ธุรกิจรายย่อยเติบโตไปได้มากยิ่งขึ้น