‘เจดีฟู้ด’จับเทรนด์ยุคโควิด วิจัยพัฒนาอาหารสุขภาพโต

‘เจดีฟู้ด’จับเทรนด์ยุคโควิด วิจัยพัฒนาอาหารสุขภาพโต

ธุรกิจอาหารมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปีและด้วย“จุดเด่น”ที่มีนวัตกรรมธุรกิจอาหารเป็นของตัวเองหุ้นไอพีโอน้องใหม่ บริษัท เจดีฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ JDF ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสและอาหารแปรรูป ผลิตและจำหน่ายสินค้าทั้งในและต่างประเทศ

กำลังเตรียมเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 150 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 2.60 บาท มูลค่าตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสม คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) เท่ากับ 25.78 เท่าคาดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 7 เม.ย.2565

       ปัจจุบันบริษัทมีคู่ค้าประมาณ 300 ราย และมีสูตรอาหารที่ผลิตให้กับลูกค้ามากกว่า 2,000 รายการ ด้านสินค้าประกอบไปด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ “ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส” ซึ่งจำหน่ายไปสู่อุตสาหกรรมอาหาร เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว ธุรกิจ Food Chain “ผลิตภัณฑ์มะพร้าวอบกรอบ”ส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างผลิต (OEM) เน้นจำหน่ายในตลาดต่างประเทศเป็นหลัก

และ “ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของบริษัท” ปัจจุบันมี4 แบรนด์ ประกอบด้วย แบรนด์ "กินดี" ผลิตเครื่องปรุงรสที่เป็นรสชาติอาหารไทย, แบรนด์ "Crispconut" ผลิตและจำหน่ายสินค้ามะพร้าวอบกรอบ, แบรนด์ "OK" คิดค้นสูตรและผลิตผงปรุงรส และไส้เบเกอรี่ และแบรนด์ใหม่ล่าสุดอย่าง "Good Eats" ตอบโจทย์ทางเลือกคนรักสุขภาพ

          “รัตนา เอี้ยประเสริฐศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจดีฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ JDFให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าการระดมทุนในครั้งนี้ ! เพื่อนำเงินไปสร้างการเติบโตในอนาคต ตามแผนธุรกิจ 3-5 ปี (2565-2569) สะท้อนผ่านเป้าหมายนำเงินระดมทุนเพื่อขยายช่องทางไปยังตลาดต่างประเทศอย่าง CLMV และยังวางแผนจัดตั้งห้องแล็บ หรือ สำนักงานขายในต่างประเทศ รวมไปถึงจะใช้เงินเพื่อลงทุนในการวิจัยและพัฒนา และมีการจัดซื้อเครื่องจักรใหม่เข้ามา เพื่อรองรับการขยายฐานผลิตและยอดขายที่เพิ่มขึ้น

            ทั้งนี้ ในปี 2563 บริษัทมีการย้ายโรงงานได้เพิ่มกำลังการผลิตที่เพียงพอ และทันสมัยทั้ง 3ไลน์การผลิต ไม่ว่าจะเป็นไลน์เครื่องปรุงรสที่ปัจจุบันสามารถผลิตได้ 9,000 ตันต่อปี, ไลน์มะพร้าวอบกรอบที่ผลิตได้ 630 ตันต่อปี และไลน์ของเหลวที่ใช้เป็นซอสหรือไส้ขนมก็สามารถผลิตได้มากถึง 2,200 ตันต่อปี ส่วนเรื่องการควบคุมต้นทุนวัตถุดิบ ด้วยความที่ JDF ทำธุรกิจมานาน ก็มีการพูดคุยกับคู่ค้าอย่างต่อเนื่องว่าวัตถุดิบตัวไหนมีแนวโน้มจะขึ้นราคาก็ทำให้สามารถควบคุมและจัดการราคาสินค้าได้

           สำหรับ“ตลาดในบ้าน”บริษัทคาดว่าจะขยายตลาดไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ซอส ไส้กรอก เนื้อแปรรูป อาหารทะเล และแป้งทอดกรอบ เป็นต้น ซึ่งมีตลาดค่อนข้างใหญ่และโตขึ้นทุกปี สะท้อนว่าเรื่องของ Food Technology ไม่มีทางหยุด และยังมีประเด็นที่เมืองไทยกำลังเข้าสู่สู่สังคมผู้สูงอายุ อาหารการกินก็ควรจะเปลี่ยนไปในรูปแบบที่เหมาะกับกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ต้องมีรสชาติอร่อยด้วย ซึ่งบริษัทก็จะนำเงินระดมทุนไปวิจัยและพัฒนาตรงนี้

          ทั้งนี้ บริษัทยังคงมองเห็นแนวโน้มการเติบโตในตลาดอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มตลาดเครื่องปรุงรสจะมีการเติบโตขึ้นเฉลี่ย 4.16% ต่อปี และคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 6.1 หมื่นล้านบาทภายในปี 2568 ยกตัวอย่างตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แม้จะเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อปีก่อนก็ยังสามารถเติบโตได้ 12% และอีก 5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดถึง 2.5 หมื่นล้านบาท

           ส่วนตลาดขนมขบเคี้ยว หรือ ธุรกิจ Food Chain ก็ยังคงเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งลูกค้าแต่ละเจ้าก็จะไม่หยุดนิ่ง เดินหน้าออกผลิตภัณฑ์รสชาติใหม่ ๆ ทุกปี และ JDF ก็จะไปซัพพอร์ตในการพัฒนาสูตรอาหารให้กับลูกค้า ดังนั้นถ้าหากลูกค้าโต เราก็จะโตไปด้วย

          ทั้งนี้ สัดส่วนลูกค้าในปัจจุบันแบ่งเป็นกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ 7% เช่น สหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ ไต้หวัน เกาหลีใต้ เป็นต้น ส่วนที่เหลืออีกอีก 93% เป็นลูกค้าในประเทศ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร 77% กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร 11% และกลุ่มลูกค้าทั่วไปอีก 5%

         "หัวใจสำคัญของ JDF ในการดำเนินธุรกิจ คือทีมงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งทางบริษัทมีประสบการณ์มามากกว่า 20 ปีในวงการผงปรุงรสเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และบริษัทยังมีบริการ One Stop Service ทำงานร่วมกับลูกค้าทุกขั้นตอนตั้งแต่การพูดคุยถึงความต้องการ การวางแผนงาน การวิจัยและพัฒนา เพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการมากขึ้น"

          พร้อมกันนั้น บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาและวิจัยนวัตกรรมทางอาหารในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ สินค้าผักและผลไม้อบแห้งรองรับตลาดขนมขบเคี้ยวสาย Healthy Food ที่ใช้เทคโนโลยีการอบ 100% และ อาหารโปรตีนจากพืช (Plant base) รวมถึงต่อยอดกลุ่มสินค้าอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่เป็นแบรนด์ของบริษัท เป็นต้น

            ท้ายสุด “รัตนา”บอกไว้ว่า เราเล็งเห็นถึงทิศทางการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ดังนั้น บริษัทได้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกับลูกค้าเพื่อตอกย้ำความแข็งแกร่งในด้านการผลิตที่ทันสมัย มาตรฐานระดับสากลตลอดจนความสำเร็จ