กสทช.เร่งสางปม‘ดีลควบทรูดีแทค’ โฟกัสกรุ๊ปผู้มีส่วนได้เสีย'9พ.ค.นี้'

กสทช.เร่งสางปม‘ดีลควบทรูดีแทค’ โฟกัสกรุ๊ปผู้มีส่วนได้เสีย'9พ.ค.นี้'

บอร์ดกสทช.คิกออฟ เดินหน้าสางปมร้อน ประกาศวันโฟกัส กรุ๊ปครั้งที่ 1วันที่ 9 พ.ค.นี้ดึงผู้เกี่ยวข้องร่วมถก พร้อมเปิดช่องประชาชน - ผู้บริโภคส่งคำถามเต็มที่ หลัง ลงมติ 27 เม.ย.กางโรดแมปแนวทางศึกษาการควบรวมธุรกิจระหว่างทรู ดีแทค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ป้ายแดงที่เพิ่งรับโปรดเกล้าฯ ไปเมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา นับเป็นบอร์ดกสทช. ชุดที่ 2 ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 และพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี หลังจากที่ชุดเก่านั่งเก้าอี้รักษาการมายาวนานเกือบ 10 ปี

จับตาเร่งสางปมร้อนดีลแสนล.

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม กล่าวว่า การบริหารงาน แนวทางกำกับดูแลของบอร์ดชุดนี้ถือว่าถูกจับตา เพราะด้วยหน้าที่ภารกิจที่ต้องบริหารจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งด้าน โทรคมนาคม วิทยุ โทรทัศน์ และในอนาคตยัง จัดสรรวงโคจรดาวเทียมในอวกาศด้วย ความท้าทายอยู่ที่การทำงาน ต้องสร้างความสมดุลผลประโยชน์ของชาติ คุ้มครองผู้บริโภค และสนับสนุนภาคธุรกิจให้ดำเนินไปได้อย่างมั่นคงและแข็งแกร่ง 

"ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า กสทช.ชุดนี้ จะต้องบริหาร ความถี่ ซึ่งมีมูลค่านับแสนล้านบาท มาพร้อมกับ Spotlight ที่จะคอยส่องการทำงานของบอร์ดทุกคน" 

สำหรับบอร์ดอีก 2 คนในด้านโทรคมนาคม และด้านกฏหมายนั้น ล่าสุดรายงานข่าว จากวุฒิสภาแจ้งว่า ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ กสทช. ได้แก่ ศาสตราจารย์อภิรัฐ ศิริธราวัตร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ พลตำรวจเอก ณัฐธร เพราะสุนทร จากผู้ยื่นใบสมัครทั้งสิ้น 28 ราย

 โดยขั้นตอนหลังจากนี้ วันที่ 19 พ.ค. จะมีการพิจารณารายงาน เพื่อให้คณะกรรมการสรรหา กสทช.ลงนาม เสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภา โดยให้มีมติตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติความประพฤติและพฤติกรรมของผู้ที่ได้รับความเห็นชอบ ก่อนกลับเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภา ให้มีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อไป

จัดโฟกัส กรุ๊ป ครั้งแรก 9 พ.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนประเด็นของดีลทรูควบดีแทคนั้น ล่าสุด กสทช.ได้ประกาศขอเชิญเข้าร่วมรับฟัง Focus Group ต่อกรณีการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคครั้งที่ 1 สำหรับกลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และประชาชนที่สนใจ ในวันที่ 9 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 - 12.00 น. ณ สำนักงาน กสทช. ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องสามารถลงทะเบียนและเข้าร่วมงาน รวมทั้งแสดงความคิดเห็นได้ที่ สำนักงาน กสทช. ประชาชนทั่วไปสามารถรับชมผ่านช่องทาง Facebook Live ของสำนักงาน กสทช. และเว็บไซต์ กสทช. ซึ่งหากประชาชนต้องการแสดงความเห็นให้แสดงผ่านทางช่อง Chat ใน Facebook Live ได้

นอกจากนั้น หลังจากจบงานการรับฟังความคิดเห็น สำนักงาน กสทช. ยังเปิดรับความคิดเห็นจากทุกท่านผ่านทางอีเมล โดยสามารถส่งความเห็นมาได้ภายในวันที่ 12 พ.ค. 2565สำหรับการรับฟัง Focus Group ครั้งที่ 2 กลุ่มนักวิชาการ และครั้งที่ 3 กลุ่มผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป สำนักงาน กสทช. จะแจ้งกำหนดการให้ทราบในโอกาสต่อไป

กสทช.ชุดใหม่ ตรวจสอบเต็มที่

อย่างไรก็ดี เมื่อดูจากการเดินหน้าเข้ามาเพื่อสางปมร้อนในประเด็นควบรวมกิจการของสองค่ายมือถือที่มีมูลค่าแสนล้านบาทนั้น ก็ถือได้ว่ากสทช.ชุดใหม่นี้ ไม่ได้มองข้ามเสียงร้องจากภาคส่วนที่ต่างยื่นหนังสือขอให้มาตรวจสอบ ต่างจากที่ชุดเก่าเคยเปรยๆว่า การควบรวมไม่ได้อยู่ในอำนาจของกสทช. แต่เมื่อดูจากข้อกฏหมายที่เกี่ยวพันแล้วกสทช.มีอำนาจเต็มในการพิจารณาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งไม่สามารถเลี่ยงได้

รวมถึงอำนาจหน้าที่ในฐานะองค์กรของรัฐที่เป็นผู้กำกับดูแล “คลื่นความถี่” รวมถึงการให้บริการโทรคมนาคม จึงมี “หน้าที่”ตามมาตรา 27 (11) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (“พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่”) ในการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม รวมถึงป้องกัน หรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค และขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมตามแนวนโยบายแห่งรัฐที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดอีกด้วย

พรบ.กสทช. และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 (พ.ร.บ. กิจการโทรคมนาคม) ด้วย

5 อรหันต์ เร่งสปีดงาน 

สำหรับกสทช.อีก 5 คนที่สรรหาได้ก่อนนี้แล้วนั้น ได้เดินทางเข้าที่สำนักงานกสทช.ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 เม.ย. โดยศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช. กล่าวว่า กสทช.ทุกคนที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ จะทุ่มเททำงานเต็มความสามารถ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดหลักธรรมาภิบาล โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อบริหารคลื่นความถี่ ส่งเสริมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการ

และวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมนัดแรกจากที่ประชุมครบองค์ประชุม 5 คน ประกอบด้วยศาสตราจารย์คลินิก สรณ ประธานกสทช. พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง ศาสตราจารย์ พิรงรอง รามสูต กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และรองศาสตราจารย์ ศุภัช ศุภชลาศัย กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์

โดยก่อนหน้านี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนงาน (Roadmap) กรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ประชุมได้เห็นชอบตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษา และวิเคราะห์เรื่องดังกล่าวจำนวน 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการฯ ด้านกฎหมาย คณะอนุกรรมการฯ ด้านคุ้มครองผู้บริโภค และสิทธิพลเมือง คณะอนุกรรมการฯ ด้านเทคโนโลยี และคณะอนุกรรมการฯ ด้านเศรษฐศาสตร์