'สมชัย' ซีอีโอ AIS ลั่น ไม่กลัวการควบรวม! ย้ำ 'เร็วกว่าคู่แข่งหนึ่งก้าวเสมอ'

'สมชัย' ซีอีโอ AIS ลั่น ไม่กลัวการควบรวม! ย้ำ 'เร็วกว่าคู่แข่งหนึ่งก้าวเสมอ'

"สมชัย เลิศสุทธิวงค์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดใจในวันที่ “เอไอเอส” ก้าวสู่ปีที่ 32 และ ในวันที่เบอร์ 1 ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม กำลังถูกท้าทาย ย้ำ "เอไอเอส" ไม่เคยกลัวการควบรวม!!!

“แม้ว่าจะ อนาล็อก ผ่านมา 2จี สู่ 3จี 4จี และตอนนี้ยุค 5จี มองไปถึงเมตาเวิร์สในอนาคต เอไอเอสยังเชื่อว่า เราจะเป็นคนสร้างมาตรฐานและเป็นคนกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรม”

"สมชัย เลิศสุทธิวงค์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดใจในวันที่ “เอไอเอส” ก้าวสู่ปีที่  32 ของการให้บริการคนไทย พร้อมกับความท้าทายรอบด้าน ยังคงทุ่มเทสร้างโครงข่ายดิจิทัลจากเทคโนโลยี 5จี ครอบครองคลื่นมากที่สุด 1420 เมกะเฮิรตซ์ วางโรดแมปธุรกิจมุ่งสนับสนุนการใช้ชีวิตของทุกคน ภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกว่า 2 ปีที่เผชิญวิกฤติโควิด-19 "ดิจิทัล" กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในทุกด้าน

"วันนี้เอไอเอสและพนักงานของเรากว่า 13,000 คน ยืนยันจะสร้างบริการและผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด ให้สมกับความไว้วางใจที่มีให้มาโดยตลอด พร้อมยืนยันที่จะพัฒนาบริการดิจิทัลที่ดีที่สุดตลอดไป" 

บทพิสูจน์วิกฤติซ้อนวิกฤติ

สมชัย บอกว่า ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนตลอดเวลาเป็นหน้าที่ในการปรับตัว เพื่อให้สามารถส่งมอบบริการที่ตอบโจทย์ทุกเจนเนอเรชั่นอยู่เสมอ เอไอเอส ประกาศก้าวสู่การเป็น Cognitive Telco หรือ องค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ ในอีก 3 ปีข้างหน้า ใน 3 องค์ประกอบ คือ

1. สร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้าตลอดเวลา

2. สร้างรูปแบบบริการเฉพาะบุคคลของลูกค้าได้อย่างตรงใจ

3. รวดเร็วและตอบสนองเรียลไทม์เพื่อให้เท่าทันทุกความต้องการลูกค้า

ขณะที่ ต้องมีการวางโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงระบบไอทีและคลาวด์ให้เป็นเครือข่ายอัจฉริยะผ่านการใช้เอไอ, ดาต้า อะนาไลติกส์ ในระดับสูง ดังเช่นวันนี้ เอไอเอส เป็นผู้ให้บริการรายแรกและรายเดียว ที่เริ่มเข้าสู่โลกเมตาเวิร์สก่อนใครตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา เอไอเอสขยับตัวพร้อมก้าวไปข้างหน้าก่อนที่คนอื่นคิดจะทำ

“ความท้าทายช่วงที่ผ่านมาถือเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติทั้งโควิด สงครามยูเครน-รัสเซีย และภาวะเงินเฟ้อ เราลงทุน 100 ก็หวังได้กลับมา 100 แต่ในที่ผ่านมามันไม่ถึงได้ 70 บ้าง 80 บ้าง เอไอเอสจำเป็นต้องมองหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เสริม แม้ว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะได้รับผลกระทบน้อยเมื่อเทียบกับเซ็กเตอร์อื่น แต่ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเราก็โดนผลกระทบหนักเช่นกัน”

ปั้นธุรกิจใหม่สู่นิวเอสเคิร์ฟ

สมชัย ย้ำว่า แนวคิดของเอไอเอส ยังคงมุ่งไปที่คุณภาพที่ดีที่สุด และสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนให้แก่ Stakeholder ทุกกลุ่ม รวมถึงนำนวัตกรรมที่จะสร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมต่างๆ และประเทศไทย ส่วนยุทธศาสตร์ธุรกิจจากนี้ จะเน้นใน 3 กลุ่ม

1.โมบาย 5จี ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก พร้อมเสริมศักยภาพเป็นโครงข่ายอัจฉริยะเอไอ ดาต้า อนาไลติกส์

2.เอไอเอส ไฟเบอร์ และเอ็นเตอร์ไพรส์ บิสซิเนส เครื่องยนต์ขับเคลื่อนใหม่ที่ใช้นวัตกรรม พร้อมจุดแข็งของพาร์ทเนอร์สร้างความแข็งแกร่งในอีโคซิสเต็มส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ

3. นิว ดิจิทัล เซอร์วิส ที่จะเห็นเอไอเอสเข้าไปร่วมเป็นพันธมิตรในอุตสาหกรรมอื่น

ส่วนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ มีความเป็น Local Strategic Partner มีความแข็งแรงในธุรกิจอื่นๆ อาจมาเสริมให้กับบริษัทได้เช่น ความร่วมมือกับกัลฟ์และสิงเทล เพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิจศูนย์ข้อมูล (ดาต้า เซ็นเตอร์) ในประเทศไทย กัลฟ์สามารถช่วยได้ในเรื่องของพลังงานที่เป็นหัวใจสำคัญของดาต้าเซ็นเตอร์ คาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมได้เร็วๆ นี้

สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ บริษัท เอไอเอสซีบี จำกัด (AISCB) โดยเอไอเอสและ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 50:50 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงทดสอบโมเดล คาดว่าจะเปิดให้บริการสินเชื่อผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Lending) ได้ไม่เกินครึ่งหลังของปี 2565

ยังคงฐานะ“ผู้นำ”ในตลาด

ส่วนประเด็นร้อน การควบรวมกิจการ ทำให้เหลือผู้ให้บริการโทรคมนาคมเหลือเพียง 2 รายนั้น ซีอีโอเอไอเอส บอกว่า โดยหลักเศรษฐศาสตร์ เมื่อมีผู้เล่นในตลาดน้อยราย การแข่งขันจะน้อยลง

ขณะที่การแข่งขันขณะนี้ แข่งขันเข้มข้นมาก ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว ช่วง 8-10 ไตรมาสที่ผ่านมา มีการแข่งขันต่อเนื่อง ดังนั้นมองเรื่องการแข่งขันเป็นเรื่องปกติของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม แต่ สิ่งที่จะสร้างความแตกต่าง คือ สิทธิพิเศษและบริการอื่นๆที่เหนือความคาดหมายของลูกค้า

การให้สิทธิพิเศษหรือพริวิเลจเพื่อตอบแทนลูกค้า เอไอเอสเริ่มมาตั้งแต่ 19 ปีที่แล้ว จนในอีกหลายปีต่อมาคู่แข่งในตลาดก็เริ่มทำตาม การใช้เงินกับการให้สิทธิพิเศษช่วงแรก ใช้เม็ดเงินมหาศาล แต่เอไอเอส ก็ทำมาตลอดสม่ำเสมอ แต่กับคู่แข่งในช่วงหลังๆ ก็เริ่มทุ่มในตลาดนี้ ด้วยการให้สิทธิพิเศษที่มากกว่าถี่กว่า แต่ก็อยู่ไม่ได้นาน 

"ผมยืนยันว่า เอไอเอสเราสม่ำเสมอ สิ่งที่ลูกค้าเคยได้ก็จะต้องได้เหมือนเดิม" 

ดึงสติเรกูเลเตอร์ทำหน้าที่ให้ดี

สมชัย เล่าต่อว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริษัท ต้องการให้บริษัทแสดงจุดยืนในการกำกับดูแลกิจการ เอไอเอส ได้ส่งหนังสือไปยังคณะกรรมารกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า ในรายละเอียดของการควบรวมบริษัทระหว่างทรู คอร์ปอเรชั่น และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) มี 2 ประเด็นหลัก 

1.ต้องไปดูกฎหมายว่าผู้กำกับดูแล (เรกูเลเตอร์) ต้องทำอย่างไร ถึงจะถูกต้องตามกฎหมาย

2.ผู้กำกับดูแลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำกับดูแลให้ถูกต้อง เช่น ฎหมายเขียนไว้ตีความได้ 2 แบบ ผู้กำกับดูแลที่ดีต้องตัดสินในบริบทของความเป็นประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชนผู้บริโภค และผู้ประกอบการ ไม่เอียงข้างใดข้างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ทั้งหลายทั้งสิ้นไม่ได้ขึ้นอยู่ที่เอไอเอส แต่อยู่ที่ผู้กำกับดูแลจะเป็นผู้ตัดสินใจ

ส่วนการได้ผู้ดำรงตำแหน่ง กสทช.ตัวจริงครบทั้ง 7 คนแล้วนั้น โดยส่วนตัวไม่ขออกความเห็น เพราะเชื่อว่าทุกคนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ แต่ก็อยากให้ทุกคนรู้จักหน้าที่ตัวเอง

ขณะที่ ประเด็นการควบรวมธุรกิจของคู่แข่งในอันดับ 2 และ 3 ในตลาด สมชัย ย้ำว่า "เอไอเอสไม่เคยกลัวการควบรวมเลย สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นเพราะบางรายไม่สามารถให้บริการลูกค้าได้เต็มศักยภาพหากทำธุรกิจเพียงลำพัง ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองคงหนีไม่พ้นการกำกับดูแลของหน่วยงานอย่างกสทช.ที่ต้องมีความชัดเจน"

งบการตลาดมากกว่า7,000ล.

เอไอเอส วางงบการตลาดไว้ที่ 7,000 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น งบการให้สิทธิพิเศษราว 2,000 ล้านบาท โดยประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาทเป็นการสนับสนุนค่าเครื่องโทรศัพท์มือถือ ล่าสุดโอกาสก้าวสู่ปีที่ 32 บริษัทเปิดตัว“เมตาเวิร์ส”จากเอไอเอส 5จีบน V-Avenue.co พร้อมเปิดให้สัมผัสประสบการณ์สุดล้ำระดับโลกที่ Avatar Park

นอกจากนี้ ยังมอบของขวัญพิเศษสำหรับลูกค้ากว่า 5 ล้านบาท พร้อมสิทธิพิเศษต่อเนื่อง จากความร่วมมือกับสุดยอดพาร์ทเนอร์ อย่างเซ็นทรัล รีเทล และล่าสุดบริษัทได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยที่จะนำเอไอเอส พอยท์ มาใช้ในคอนเซ็ปต์เดียวกับโครงการคนละครึ่ง ที่ลูกค้าเอไอเอสสามารถนำคะแนนมาแลกเป็นส่วนลดใช้กับร้านค้าที่เคยเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ซึ่งปัจจุบันตอบรับเข้าร่วมแล้วกว่า 4 แสนร้านค้าทั่วประเทศ จากทั้งหมดที่มีราว 1 ล้านร้านค้า 

โดยนำพอยท์ 2 คะแนนเท่ากับ 1 บาท ที่ทำรายการผ่านแอป my ais และเชื่อมไปแอปเป๋าตังค์ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ถือว่าเป็นการกระจายการใช้สิทธิของลูกค้าได้ทั่วประเทศ จากเดิมที่สิทธิพิเศษส่วนใหญ่อยู่ในเมืองตามกลุ่มลูกค้าเอไอเอสที่ส่วนใหญ่อยู่ในเมือง

รวมถึงเตรียมพาลูกค้าลงสนามกับ THE MATCH Bangkok Century Cup 2022 ศึกแดงเดือดนัดประวัติศาสตร์ในไทยที่จัดมาแบบสุดพิเศษเพื่อลูกค้าเอไอเอสเท่านั้น