ทักษะแห่งอนาคตในโลกยุค 4.0 ที่วัยเรียน-วัยแรงงาน -ผู้สูงวัย ต้องมี?

ทักษะแห่งอนาคตในโลกยุค 4.0 ที่วัยเรียน-วัยแรงงาน -ผู้สูงวัย ต้องมี?

ปัจจุบันมีจำนวนประชากร 5 คน ทำงานเลี้ยงผู้สูงอายุ 1 คน คาดว่าปี 2583 ประเทศไทยจะเหลือประชากรไม่ถึง 2 คน ทำงานดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนพัฒนาเยาวชนให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็น ควบคู่การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุปรับตัวเข้ากับโลกแห่งความทันสมัย

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ของโลกศตวรรษที่ 21 ส่งผลให้รูปแบบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป  และการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น การเตรียมพร้อมคุณภาพของคนให้มีทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็น โดยจากการศึกษาจำแนก การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการพัฒนาคนไทยออกเป็น 5 สถานการณ์ ได้แก่

  1. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน
  2. ช่องว่างระหว่างวัยที่กว้างขึ้น เพราะประสบการณ์บริบทชีวิต และความคิดแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
  3. การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมเป็นวงกว้าง
  4. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอาชีพและรูปแบบการทำงาน มีทั้งอาชีพเกิดใหม่และหายไป
  5. กระบวนการเรียนรู้ที่มีความหลากหลายขึ้น เน้นการเรียนเชิงรุกและบูรณาการข้ามสาขา

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้นำเสนอทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต เพื่อเตรียมการพัฒนาคุณภาพคนไทยทุกช่วงวัย รองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกศตวรรษที่ 21 เริ่มด้วย

ช่วงปฐมวัย (0-5 ปี)

  • การพัฒนาช่วงวัยนี้ควรเปิดโอกาสให้เด็กๆได้สำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างปลอดภัย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีมุมมองต่อโลกอย่างกว้างขวาง มีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาทุกด้านพร้อมกัน ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ควบคู่กับการพัฒนาผู้ปกครอง ผู้ดูแลและครูให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยเฉพาะ

5 อันดับทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต

1.การคิดเชิงสร้างสรรค์

2.ความอยากรู้อยากเห็น

3.ความสามารถทางกายภาพ การแก้ปัญหา และการสื่อสาร

4.การอ่านออกเขียนได้

5.ความเข้าใจและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล การเข้าใจผู้อื่น

 

  • 5 ทักษะสำหรับวัยเรียน วัยทำงาน เตรียมพร้อมเข้าสู่โลก4.0

ช่วงวัยเรียน/วัยรุ่น (5-21ปี)

  • การพัฒนาช่วงวัยนี้ควรให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นหลากหลาย ครอบคลุมการพัฒนาทั้งกาย ใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ตลอดจนทักษะพื้นฐานและทักษะที่เชื่อมสู่โลกการทำงาน ไม่จำกัดการเรียนรู้อยู่ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว ส่งเสริมการค้นหาตัวตนและความถนัดของเด็ก และมีช่องทางการเรียนรู้ที่ตอบสนองได้ทั้งในและนอกระบบ

5 อันดับทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต

1.ความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

2.การอ่านออกเขียนได้

3.การเป็นผู้เรียนเชิงรุก

4.การเป็นพลเมืองที่ดี

5.ความอยากรู้อยากเห็น การคิดเชิงสร้างสรรค์

ช่วงวัยแรงงาน(15-59 ปี )

  • การพัฒนาในช่วงวัยนี้ควรเสริมสร้างความต้องการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยโอกาสในการพัฒนาตนเองดังกล่าว ควรควบคู่กันทั้งการเรียนรู้อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

5 อันดับทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต

1.ความเข้าใจและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล การแก้ปัญหา

2.ความรู้ทางธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ

3.การคิดเชิงสร้างสรรค์

4.การทำงานร่วมกับผู้อื่น

5.การปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมที่หลากหลาย

 

 

  • ทักษะที่ผู้สูงอายุ ต้องมี ปรับตัวเพิ่มคุณค่าแก่ตัวเอง

ช่วงวัยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 

  • กลุ่มผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป)  ซึ่งการพัฒนาในช่วงวัยนี้ควรมีรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงวัย โดยเฉพาะ สนับสนุนการนำความรู้และประสบการณ์ของผู้สูงวัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ชุมชน และตัวผู้สูงวัยเอง เพื่อเสริมสร้างคุณค่าและต่อยอดบทบาทในสังคมของผู้สูงอายุ และรับมือกับการเข้าสู้สังคมผู้สูงวัยอย่างยั่งยืน

 5 อันดับทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต  

1.การปรับตัว

2.การมองโลกในแง่ดี

3.ความเข้าใจและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล

4.ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ การเข้าใจผู้อื่น

5.การแก้ปัญหา

  • แนวทางการส่งเสริมในแต่ละช่วงวัย ควรปฎิบัติอย่างไร?

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางการส่งเสริมในแต่ละช่วงวัยนั้น 

นโยบายการศึกษา

ช่วงปฐมวัย : มีนโยบายและงบประมาณทางการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กช่วงปฐมวัยโดยเฉพาะ ครอบคลุมการเตรียมความพร้อมทั้งเด็กและผู้ดูแล

ช่วงวัยเรียน : ปฎิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนให้ทันสมัย สอดคล้องความต้องการและจำเป็น ควบคู่กับการยกระดับวิชาชีพและการจัดการศึกษาแบบกระจายอำนาจ

ช่วงวัยทำงาน : ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีเงินทุนแรงงานเพื่อการพัฒนาตนเอง สนับสนุนการเรียนรู้ในที่ทำงาน โดยมีหลักสูตรเฉพาะสำหรับผู้ใหญ่ และสายอาชีพที่ต่างกัน

ช่วงผู้สูงอายุ : จะมีนโยบายพัฒนาทักษะ ส่งเสริมการจ้างงานและการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงอายุให้ผู้สูงอายุยังมีบทบาทและสามารถเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศ

กระบวนการเรียนรู้

ช่วงปฐมวัย : ใช้กิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงอายุ ลักษณะการเรียนรู้ และความสนใจของแต่ละคน เน้นการเรียนแบบแบ่งปันความคิดร่วมกันและการจัดการเรียนรู้ที่ไม่เป็นทางการ

ช่วงวัยเรียน : เน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการร่วมกับการทำงาน เสริมสร้างสรรถนะจากประสบการณ์จริง และมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการจัดการศึกษา

ช่วงวัยทำงาน : เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  นำความเชี่ยวชาญของผู้เรียนมาเป็นฐาน สามารถวางแผนการเรียนรู้ตามจังหวะของตนเอง มีการอบรมที่มีคุณภาพ และเรียนรู้จากประสบการณ์จริงในการทำงาน

ช่วงผู้สูงอายุ : ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะกับช่วงวัย เน้นฝึกการอบรมเชิงประสบการณ์ การอภิปราย การบูรณาการ การเรียนรู้แบบร่วมมือ และมุ่งต่อยอดทักษะ ความรู้เดิม

สภาพแวดล้อม

ช่วงปฐมวัย : สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เอื้อต่อการเรียนรู้ร่วมกัน สนับสนุนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์สร้างพัฒนาการทางสมอง และให้อิสระแก่เด็ก

ช่วงวัยเรียน : ออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ที่เชื่อมโยง เป็นสัดส่วน สามารถรองรับกิจกรรมการเรียนและการทำงานที่แตกต่างกันได้  ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฎิบัติจริง เกิดปฎิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนระหว่างกัน

ช่วงวัยทำงาน : ส่งเสริมการเรียน การมีส่วนร่วม และการเติบโตร่วมกันภายในองค์กร มีเส้นทางความก้าวหน้าของอาชีพที่ชัดเจน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้พนักงานพัฒนาตนเองสู่ความสำเร็จ

ช่วงผู้สูงอายุ : พัฒนาสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับลักษณะการเรียนรู้ ผู้สูงอายุต้องการสภาพแวดล้อมเชิงสนับสนุนที่เห็นอกเห็นใจ ไม่เป็นทางการผ่อนคลาย และเป็นมิตรต่อการเรียนรู้

เทคโนโลยี

ช่วงปฐมวัย : จัดสรรสื่อและเทคโนโลยีทั้งสื่อดั่งเดิมและสื่อดิจิทัล ช่วยส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ช่วงวัยเรียน : นำเทคโนโลยีมาใช้ช่วยจัดการเรียนการสอน เช่น แพลตฟอร์มเพื่อเข้าถึงเนื้อหา และนวัตกรรมวิเคราะห์ข้อมูลผู้เรียนและออกแบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองผู้เรียนแต่ละคน

ช่วงวัยทำงาน :ใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นสื่อและช่องทางในการเรียนรู้ และใช้สนับสนุนการประเมินผลการปฎิบัติงาน เพื่อวางแผนการเติบโตในอาชีพ และประยุกต์ใช้ทักษะและความรู้ในการทำงาน

ช่วงผู้สูงอายุ : เน้นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน และที่เพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้โดยคำนึงถึงธรรมชาติและลักษณะการเรียนรู้ของผู้สูงอายุเป็นพื้นฐานในการออกแบบ