ทส.ผนึกภาคเอกชน ปลูกป่าชุมชน สร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต

ทส.ผนึกภาคเอกชน ปลูกป่าชุมชน สร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต

3 หน่วยงานของทส. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และภาคเอกชน  ขับเคลื่อนดูแลเรื่องป่าชุมชน  จัดการคาร์บอนเครดิตในป่า หวังสร้างรายได้แก่ชุมชน พร้อมองค์ความรู้ซื้อขายคาร์บอนเครดิต

ปัจจุบันประเทศไทยมีการดำเนินการเตรียมขายคาร์บอนเครดิตจากป่าในพื้นที่ของภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมป่าไม้ ได้ออกระเบียบการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตจากการปลูกป่า เพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน  พัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิตให้คล่องตัวและโปร่งใส

  • ทส.หนุนทุกภาคส่วนร่วมจัดการคาร์บอนเครดิต

โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต ซื้อ-ขายคาร์บอน หรือใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองจากการปลูกป่าในพื้นที่รัฐดูแล  ถือเป็นเรื่องใหม่ของไทย

วันนี้ (29 ส.ค.2565)  3 หน่วยงานของทส. กรมป่าไม้(ปม.)  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช(อส.) และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)  ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และภาคเอกชน  ขับเคลื่อนดูแลเรื่องป่าชุมชน  จัดการคาร์บอนเครดิตในป่า

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เรื่อง ความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ต่อยุทธศาสตร์ซาติด้านการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสืบสานพระราชดำริพระพันปี ตอนหนึ่งว่า การสืบสานโครงการพระราชดำริต่าง ๆ เป็นภารกิจสำคัญอันดับหนึ่งของกระทรวงฯ และถือเป็นโชคดีของพสกนิกรชาวไทย ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้และทรงอุทิศพระวรกายบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในการพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ โดยทรงยึดถือแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในการพัฒนาด้วยแนวทางผสมผสาน ให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเกื้อกูลและยั่งยืน

 

  • ป่าไม้สำคัญช่วยกักเก็บคาร์บอน แก้ปัญหาโลกร้อน

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า  ภาคป่าไม้ มีบทบาทสำคัญต่อการมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมคาร์บอนขนาดใหญ่ของโลก การอนุรักษ์และปลูกป่าจึงเป็นกลไกสำคัญในการช่วยกักเก็บคาร์บอน บรรเทาความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งสามารถสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนได้ในทุกปีจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิต 

“ปัจจุบัน กระทรวงฯ ได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนสนับสนุนการปลูกป่าในพื้นที่ของรัฐโดยผ่านกลไกของโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ โครงการ T-VER ซึ่งเชื่อมั่นว่า ด้วยศักยภาพของคนไทย จะทำให้ประเทศสามารถเป็นผู้นำในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน พร้อมส่งต่อความเขียวขจีและความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทยให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป”รมว.ทส. กล่าว

รัฐบาลได้มีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 55% จะเป็นตัวการสำคัญที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งผลักดันการค้าคาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นควบคู่กับการปกป้องสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนสามารถร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกในชุมชนได้

 

 

  • คาดทิศทางราคาของคาร์บอนเครดิตในไทย

ทั้งนี้ สำหรับทิศทางราคาของคาร์บอนเครดิต ที่วิเคราะห์จากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี จนถึงปีปัจจุบัน พบว่า ราคาคาร์บอนเครดิตดีดตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ถึง 120 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์ บวกกับทิศทางด้านการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลก ก็ถือว่ามีโอกาสที่ราคาจะเพิ่มสูงขึ้นอีก ตามความต้องการของตลาดโลก ซึ่งกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยดำเนินการโดย องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

ทส. พร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่ ตามนโยบาย ปี 2565 “ทส. ยกกำลังเอ็กซ์” ปีแห่งการปรับตัว และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์ “ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตามแนววิถีใหม่ ภายใต้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” โดยมอบหมายให้กรมป่าไม้เป็นหน่วยงานหลัก ดำเนินการแจกจ่ายกล้าไม้ให้กับประชาชนทั่วประเทศ ” มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) การดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ในภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน

  • นโยบายปี 65 ชูป่าไม้ดูดกลับก๊าซเรือนกระจก

ด้าน “กรมป่าไม้” ได้ดำเนินมาตรการที่สำคัญประกอบด้วย 1.การปลูกและฟื้นฟูป่าธรรมชาติ ในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ คทช. (ลุ่มน้ำ 1,2) ป่าชุมชน ป่าอนุรักษ์ และป่าชายเลน เป็นต้น 2.การส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ ได้แก่ พื้นที่ ค.ท.ช. (ลุ่มน้ำ 3,4,5) พื้นที่ป่าไม้ถาวร พื้นที่ ส.ป.ก. ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เอกชนที่ดินกรรมสิทธิ์ และ 3.การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท รวมถึงมาตรการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าและการป้องกันการเผาป่า

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะช่วยเพิ่มการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากศักยภาพที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้ถึง 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดทำโครงการปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน และป้องกันไฟป่า เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและการเสื่อมสภาพของป่า โดยเฉพาะในพื้นที่เขาสูงชันทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งมีการดำเนินการให้ครอบคลุมในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน ป่าพรุ และในที่ดินของรัฐประเภทอื่นๆ เพื่อเป็นการฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์

  • มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ตั้งเป้าปลูกป่า 1 ล้านไร่ปี67

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเสวนา เรื่อง “ป่าแห่งชีวิต สืบสานงานพระพันปี” ในหัวข้อ ปลูกคน ปลูกป่า ๕0 ปีบทบาทของป่าในการช่วยชาติ เศรษฐกิจ สังคม และบทบาทของภาคเอกชนในการ สนับสนุนการปลูกป่าและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ว่าปัจจุบันมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดการที่ยั่งยืนและมีส่วนร่วมกับหลายโครงการสำคัญของประเทศ เช่น  การพัฒนาระบบการจัดการขยะทั้งหมดให้กับโครงการพื้นที่มักกะสัน และการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยมีภาคเอกชนหลายรายทำงานร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯในการเข้าไปดำเนินการ ทั้งนี้มีการตั้งเป้าหมายจะปลูกป่าเพื่อนำไปขึ้นทะเบียนโครงการและการรับรองคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐานที-เวอร์ ให้ได้ 1 ล้านไร่ภายในปี 2567 จากปัจจุบันที่ดำเนินการได้แล้วประมาณ 5 แสนไร่ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ป่าในโครงการพัฒนาดอยตุงด้วย

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้สะสมองค์ความรู้มาเป็นเวลาหลายสิบปีซึ่งสามารถนำไปสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างๆได้ในทิศทางการพัฒนา โดยการหันมาจับมือกับภาคเอกชนในการทำงาน และหากเอกชนขยับตัวเองเพื่อก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน ประเทศจะเปลี่ยนแปลง ซึ่งหมายความว่าทุกคนย่อมได้รับผลประโยชน์มากขึ้น และทำให้ประเทศเดินไปสู่ความยั่งยืนได้ด้วย

ทั้งนี้ คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คือหน่วยที่แสดงว่าธุรกิจนั้นๆ สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะถูกคำนวณออกมาเป็นคาร์บอนเครดิต จากนั้นสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปขายให้กับหน่วยงานหรือธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินเป้าหมาย เสมือนการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจ และเป็นกลไกการสร้างแรงจูงใจให้หน่วยงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการสะสมคาร์บอนเครดิต

ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 12 ของโลก ปีละสามร้อยกว่าล้านตัน จึงมีโอกาสสูงที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งก๊าซเรือนกระจกกำลังจะกลายเป็นกติกาหนึ่งในการค้าของโลก ซึ่งถ้าเราไม่เร่งแก้ไข ก็จะถูกกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้

  • บางจาก ปลูกป่าชุมชน 2,900 ไร่ สร้างความรู้ขายเครดิตคาร์บอน

นางกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธานเครือข่าย Carbon Markets Club กล่าวว่าวันนี้เป็นการลงนาม MOU คาร์บอนเครดิต ด้านป่าไม้  โดยเป็นความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และภาคเอกชนในการจัดการปลูกป่าชุมชน และการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และการจัดการคาร์บอนเครดิตในไทย

“บางจากได้มีความร่วมมือกับทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มาโดยตลอดทั้งในเรื่องการดูแล อนุรักษ์ธรรมชาติ ป่าไม้ ซึ่งเบื้องต้นความร่วมมือครั้งนี้ บางจากจะร่วมปลูกป่าชุมชน 2,900 ไร่ ในจังหวัดเชียงใหม่  ซึ่งนอกเหนือจากปลูกป่าในครั้งนี้แล้ว ยังร่วมกับทั้ง 3 กรมของ ทส.ในการปลูกป่า โดยในปี 2030 นี้ คาดว่าจะปลูกป่าทั้งหมด 130,000 ต้น” นางกลอยตา กล่าว

การปลูกป่า ไม่ใช่เพียงช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอน ลดก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น แต่ยังเป็นช่วยให้ชุมชนสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต รวมถึงสร้างกลไก องค์ความรู้ให้แก่ชุมชนได้เข้ามาร่วมลดก๊าซเรือนกระจก ลดคาร์บอนไดออกไซต์

“ทุกพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน หรือการทำธุรกิจของมนุษย์ ล้วนสร้างรอยเท้าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทั้งสิ้น ดังนั้น  การจัดการคาร์บอนเครดิต การขายคาร์บอนเครดิตให้เกิดขึ้นจริง อันนำไปสู่ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้นั้น ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคเอกชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการชดเชยคาร์บอนเครดิต และสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนทุกคน ได้เข้ามามีส่วนร่วม ลด ละ เริ่ม การสร้างผลกระทบจากการใช้ชีวิตประจำวันและการทำธุรกิจ” นางกลอยตา กล่าว