“อนุทิน” เปิดประชุมระดับสูงเอเปค หารือสร้างสมดุลสุขภาพ-เศรษฐกิจ 

“อนุทิน” เปิดประชุมระดับสูงเอเปค หารือสร้างสมดุลสุขภาพ-เศรษฐกิจ 

“อนุทิน” เปิดการประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ 25-26 ส.ค.2565 หารือสร้างสมดุลสุขภาพและเศรษฐกิจ  พร้อมชูนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ส่งเสริมทั้งการดูแลสุขภาพและการสร้างเศรษฐกิจ เล็งหารือโต๊ะกลมการลงทุนด้านหลักประกันสุขภาพรองรับการระบาดในอนาคต 

วันนี้ (25 สิงหาคม 2565) ที่โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมระดับสูงเอเปค ว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ (HLM) ครั้งที่ 12 โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขจาก 15 เขตเศรษฐกิจเอเปคเข้าร่วมประชุมแบบออนไซต์ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก เปรู ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม

เข้าร่วมประชุมผ่านออนไลน์ 5 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ จีน จีนฮ่องกง เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และรัสเซีย รวมถึงผู้นำระดับสูงจากหน่วยงานระหว่างประเทศ 2 คน คือ ดร.รีเบคกา ฟาติมา สตา มาเรีย ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานเลขาธิการเอเปค และ ดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน

นายอนุทิน กล่าวว่า การประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุข และเศรษฐกิจ ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2565 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” โดยเน้นเรื่องการสร้างความสมดุลระหว่างสุขภาพ และเศรษฐกิจ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา เรามีปัญหาทางสาธารณสุขคือ การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายประเทศมีการล็อกดาวน์ ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมาก หรือบางประเทศมีการผ่อนคลายอย่างมากจนทำให้เกิดความสูญเสียเช่นกัน

ดังนั้น โควิดสอนให้เราสร้างสมดุลที่ดีระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจ โดยเรื่องการดูแลรักษาทั้งวัคซีน และมาตรการทางการแพทย์ จะต้องมีความเท่าเทียมทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ เพราะเป็นความจริงที่ว่า “ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย”

 

  • สร้างสมดุลระหว่างสุขภาพ และเศรษฐกิจในเขตเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม เรื่องสุขภาพสามารถสร้างความมั่นคง และมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้ ประเทศไทยมีตัวอย่างการดำเนินงานเรื่องนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ในการนำมาดูแลสุขภาพประชาชน และเกิดโอกาสทางอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ในการประชุมได้มีการเสวนาเรื่องการสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ (Balancing Health and the Economy) โดยตนเป็นหนึ่งในผู้ร่วมอภิปรายกับอีก 5 ท่าน ได้แก่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข อินโดนีเซีย , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สิงคโปร์ , รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ สหรัฐอเมริกา , เลขาธิการอาเซียน และผู้อำนวยการบริหารสำนักงานเลขาธิการเอเปค ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ ข้อมูลเชิงลึก

ประสบการณ์จริงในการตอบสนองต่อโควิด มีการหารือถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเศรษฐกิจและการพัฒนาเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตที่ดี การตั้งเป้าส่งเสริมการค้า ความมั่นคง การเติบโตและการพัฒนาที่ครอบคลุมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

สำหรับการเสวนาเรื่องการสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพ และเศรษฐกิจ ทางอินโดนีเซียได้แลกเปลี่ยนเรื่องการบริหารจัดการเพื่อรับมือโรคโควิด-19 โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ มีการลงทุน

 

  • ระดมความคิดเห็น สร้างความร่วมมือด้านสุขภาพควบคู่เศรษฐกิจ

ด้านสุขภาพ ระบบการเงินการคลังสุขภาพ การพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ และการใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพ สิ่งที่ยังเป็นความท้าทาย ได้แก่ ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่ยังมีบุคลากรไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ทุรกันดาร และมีผู้มารับบริการวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันลดลงในช่วงโควิด

ขณะที่สิงคโปร์ แลกเปลี่ยนเรื่องของการตัดสินใจเลือกใช้มาตรการระหว่างด้านสุขภาพ และเศรษฐกิจ ซึ่งช่วงแรกเลือกมาตรการปิดประเทศ เพื่อสกัดกั้นการแพร่กระจายของโควิด แต่ประชาชนก็ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ จึงต้องให้วัคซีนโควิดเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน แต่ก็มีความท้าทายเรื่องการเข้าถึงวัคซีน ความมั่นใจในวัคซีนของประชาชน และศักยภาพการผลิตวัคซีนของประเทศ

ส่วนทางสหรัฐอเมริกาได้เน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ความเท่าเทียมของการเข้าถึงบริการ การลงทุนด้านสุขภาพ รวมถึงการพัฒนากำลังคนให้เพียงพอ และการสร้างงานให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุข เน้นการรับมือกับผลกระทบด้านพฤติกรรมของประชาชน เช่น สุขภาพจิต การใช้สารเสพติด เป็นต้น

ขณะที่เลขาธิการอาเซียนแลกเปลี่ยนข้อมูลว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของ
กลุ่มเปราะบาง ทั้งเด็ก ผู้หญิง และแรงงานต่างด้าว รวมถึงการดำเนินงานด้านสาธารณสุข และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

บทบาทของอาเซียนในการสนับสนุนแต่ละประเทศ คือ การลดผลกระทบของโควิด สร้างความร่วมมือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์ด้านสาธารณสุขในการรับมือโรคระบาด เพิ่มการลงทุนด้านสาธารณสุข เพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศในอาเซียนร่วมกัน ซึ่งมีความท้าทายเรื่องความเพียงพอของทรัพยากรด้านสาธารณสุข ทั้งบุคลากรด้านสุขภาพ งบประมาณ จึงควรมีการเพิ่มการทำงานร่วมกับกระทรวงการคลัง 

ส่วน สำนักงานเลขาธิการเอเปค เสนอเรื่องการทำงานเพื่อฟื้นเศรษฐกิจของเขตสุขภาพต่างๆ ได้แก่ 1) Trade Facilitation เพื่อให้วัคซีน และเวชภัณฑ์ต่างๆ สามารถผ่านเข้าสู่ประเทศต่างๆ ได้ และ 2) Safe Passage เพื่อให้เกิดการเดินทางระหว่างประเทศและลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์