ย้อนเหตุการณ์ "สงกรานต์" กับโควิด ปี 63 จนถึงปัจจุบัน ไทยใช้มาตรการอะไร

ย้อนเหตุการณ์ "สงกรานต์" กับโควิด ปี 63 จนถึงปัจจุบัน ไทยใช้มาตรการอะไร

จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ "เทศกาลสงกรานต์" ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา ต้องปรับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเพื่อควบคุมการระบาด ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนปิดสงกรานต์ งดกิจกรรมเสี่ยง และล่าสุดปี 2565 เริ่มมีการอนุญาตให้จัดกิจกรรมตามประเพณีได้ แต่ยังคงต้องเข้มมาตรการ

ช่วง 2 ปีที่มีการระบาดของ โควิด-19 รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังและป้องกันโรค งดการรวมกลุ่มและจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลต่างๆ  ปี 2563 ถือเป็นปีแรกที่มีการเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ออกไปในเดือนก.ค.แทน ส่วนปี 2564 มีจัดกิจกรรมได้บางส่วน แต่ยังเข้มมาตรการ และงดกิจกรรมเสี่ยง 

 

กระทั่ง ปี 2565 ประชาชนมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมมากขึ้นถึง 130 ล้านโดส แม้จะมีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่หนัก ประกอบกับความพร้อมในด้านสาธารณสุขที่มากขึ้น รัฐบาลจึงอนุญาตให้จัดกิจกรรมตามประเพณีได้แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างรัดกุม

 

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มี การคาดการณ์ฉากทัศน์สถานการณ์โควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์ 2565 ว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิต  เนื่องจากช่วงสงกรานต์มีการรวมกลุ่มกันมากขึ้น กลับบ้านมากขึ้น ไปเจอผู้หลักผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนกันจำนวนมากขึ้น เป็นสิ่งที่จะทำให้สถานการณ์โควิด 19 เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องเฝ้าระวังโฟกัสพิเศษในกลุ่ม 608 ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์และกลุ่มเด็กเล็กที่มีโรคประจำตัว โดยปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิตมากกว่าสงกรานต์ปี 2564

 

“สงกรานต์ 2563” เลื่อนไป ก.ค.

 

ย้อนไปดูช่วงเทศกาล “สงกรานต์ 2563” ปีแรกที่ไทยต้องเจอกับสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลได้ประกาศเลื่อนวันหยุด เทศกาลสงกรานต์ ช่วงวันที่ 13-15 เม.ย. ออกไปให้หยุดชดเชยช่วงเดือน ก.ค.แทน ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่ต้องยกเลิกกิจกรรมต่างๆ ในวันสงกรานต์ เพื่อลดการระบาดของโรค รวมถึงงดเว้นการเดินทางกลับภูมิลำเนา งดเว้นการรดน้ำขอพรญาติผู้ใหญ่ทุกกรณี และงดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยเด็ดขาด

ขณะนั้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตระหว่างวันที่ 13-15 เม.ย. 63 พบว่าวันที่ 13 เม.ย. ติดเชื้อรายใหม่ 28 ราย เสียชีวิต 2 ราย , วันที่ 14 เม.ย. ติดเชื้อ 34 ราย เสียชีวิต 1 ราย และ วันที่ 15 เม.ย. ติดเชื้อ 30 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 2,643 ราย เสียชีวิตสะสม 34 ราย

 

ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ขอความร่วมมือประชาชนงดเล่นสาดน้ำ งดจัดงานสงกรานต์ทุกประเภท งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด งดเดินทางกลับภูมิลำเนา งดเข้าร่วมกิจกรรมคนจำนวนมากหรือเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเด็ดขาด งดการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ทุกกรณี และงดใกล้ชิด ควรเว้นระยะห่างทุกกิจกรรม

 

ย้อนเหตุการณ์ "สงกรานต์" กับโควิด ปี 63 จนถึงปัจจุบัน ไทยใช้มาตรการอะไร

 

ปี 64 งดจัดกิจกรรมเสี่ยง

 

ส่วนสงกรานต์ปี 2564 เป็นช่วงเริ่มต้นก่อนที่จะเกิดการระบาดหนักของเดลตา โดยระหว่างวันที่ 13-15 เม.ย. 64 พบว่าวันที่  13 เม.ย. ติดเชื้อ 965 ราย เสียชีวิต 0 ราย วันที่ 14 เม.ย. ติดเชื้อพุ่ง 1,335 ราย เสียชีวิต 0 ราย และ วันที่ 15 เม.ย. ติดเชื้อ 1,543 ราย เสียชีวิต 0 ราย ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 37,453 ราย เสียชีวิตสะสม 97 ราย

 

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงแนวทางปฏิบัติ และข้อห้ามต่างๆ เกี่ยวกับกิจกรรมช่วง “สงกรานต์” 2564 เมื่อวันที่ 8 เม.ย.64 ว่า สามารถจัดกิจกรรม สรงน้ำพระ  กิจกรรมทางศาสนาอื่นๆ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ตามประเพณี หรือรูปแบบที่ วธ. กำหนด เดินทางข้ามจังหวัด เพื่อการท่องเที่ยว ไปได้ทุกพื้นที่ แต่ต้องยึดมาตรการ D-M-H-T-T และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด จัดกิจกรรมทางศาสนาช่วง สงกรานต์ ในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศระบายได้ดี หลีกเลี่ยงจัดกิจกรรมในพื้นที่คับแคบ หรือในห้องปรับอากาศ

และต้องงดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น รวมกลุ่มเล่นสาดน้ำ คอนเสิร์ต กิจกรรมที่มีการสัมผัสใกล้ชิด เช่น ปะแป้ง ปาร์ตี้โฟม กิจกรรมรวมตัวของผู้สูงอายุ เป็นต้น ขณะที่กิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร 

 

กทม. ได้ออกประกาศ “งด” จัดงานสงกรานต์ทั้งหมด งดการสร้างพื้นที่เสี่ยง งดกิจกรรมที่รวมตัวกันทั้งหมด รวมถึงขอความร่วมมือภาคเอกชนต่างๆ “งด” จัดกิจกรรมสงกรานต์ที่อาจสุ่มเสี่ยง หรือจัดกิจกรรมสงกรานต์อย่างระมัดระวังไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” โดยให้ประชาชน “สรงน้ำพระ” ที่บ้านแทน และ งด งานสงกรานต์รูปแบบต่างๆ ที่สุ่มเสี่ยงและรวมตัวกันจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ในบางจังหวัดยังมีมาตรการที่แตกต่างกันไปสำหรับผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาตั้งแต่การลงทะเบียนประจำตัวผู้เดินทาง รายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ หรือการกักตัวที่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่โรค

 

สงกรานต์ 65 จัดกิจกรรมประเพณีได้

 

สำหรับปี 2565 ประชาชนมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมมากขึ้นถึง 130 ล้านโดส แม้จะมีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่หนัก ประกอบกับความพร้อมในด้านสาธารณสุขที่มากขึ้น  เมื่อดูที่ตัวเลขการติดเชื้อล่าสุดวันที่ 4 เม.ย. 65 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 24,892 ราย ติดเชื้อสะสม 3,736,487 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 97 ราย เสียชีวิตสะสม 25,512 ราย อัตราครองเตียงระดับ 2-3 อยู่ที่ 29.4% ทำให้ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. ผ่อนคลายมาตรการปรับระดับสีพื้นที่ควบคุม ยกเลิกการตรวจ RT-PCR ผู้ที่เดินทางก่อนเข้าไทย 72 ชั่วโมงทั้ง 3 กลุ่มแล้ว 

 

ยังสามารถจัดกิจกรรมสงกรานต์ได้มากขึ้น นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค.แถลงเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 65 ว่าช่วงงานสงกรานต์ ศบค. อนุญาตให้เล่นน้ำ และจัดกิจกรรมตามประเพณี เช่น รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ การละเล่น และ การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ การแสดงดนตรี ในพื้นที่ที่จัดงานให้มีการเล่นน้ำได้ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และมีการกำกับอย่างเคร่งครัด กำหนดช่องทางเข้า-ออกจากงาน จัดจุดคัดกรอง และควบคุมความหนาแน่นในพื้นที่จัดงาน (1 ต่อ 4 ตารางเมตร) ผู้ร่วมงานต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา พกเจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่าง ตลอดเวลาที่ร่วมงาน 

 

แต่ห้าม  ปะแป้ง ปาร์ตี้โฟม จำหน่ายและบริโภคแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน และห้ามเล่นน้ำใน พื้นที่สาธารณะไม่มีการควบคุม เช่น ท้องถนน ฯลฯ เนื่องจากไม่มีการควบคุมตามมาตรการโควิด-19 หากจะมีเรื่องบันเทิง สันทนาการ จะต้องมีการขออนุญาตตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณา

 

ย้อนเหตุการณ์ "สงกรานต์" กับโควิด ปี 63 จนถึงปัจจุบัน ไทยใช้มาตรการอะไร

 

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่าฉากทัศน์ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังสงกรานต์ หากคงมาตรการต่างๆและประชาชนให้ความร่วมมือในระดับปัจจุบันและมีการแพร่โรคต่อเนื่องไปทุกจังหวัดจนถึงช่วงสงกรานต์ คือ ในส่วนของผู้ติดเชื้อจะสูงสุดราว 50,000 รายต่อวัน ในช่วงราว 19 เม.ย.2565 ผู้ป่วยปอดอักเสบสูงสุดราว 3,000 รายช่วงต้นเดือนพ.ค.2565 เนื่องจากจะเหลื่อมจากช่วงที่ยอดผู้ติดเชื้อสูงสุดไป 2-4 สัปดาห์ เช่นเดียวกับ ผู้ป่วยปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจสูงสุดจะอยู่ที่ราว 900 ราย และผู้เสียชีวิตกว่า 100 รายต่อวัน

 

นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ฉากทัศน์ ระดับแย่ที่สุด กรณีที่ผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรค ลดแยกกัก-กักตัว ฉีดวัคซีนทุกเข็มต่ำกว่า 2 แสนโดสต่อวัน ประชาชนส่วนใหญ่ย่อหย่อนต่อมาตรการป้องกันตนเองแบบครอบจักรวาล(UP) จะมีผู้ติดเชื้อสูงสุดราว 1 แสนรายต่อวัน ช่วงหลังสงกรานต์ ผู้ป่วยปอดอักเสบสูงสุดราว 6,000 รายช่วงต้นเดือนพ.ค.2565 ผู้ป่วยปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจสูงสุดจะอยู่ที่ราว 1,700 ราย และผู้เสียชีวิตราว 250 รายต่อวัน

 

ทั้งนี้วิธีการที่จะทำให้สถานการณ์ไม่เพิ่มสูงขึ้นจนเกินศักยภาพระบบสาธารณสุข ประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกันป้องกันตนเองและคนในครอบครัวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะต้องเข้มมาตรการป้องกันตัวเองทุกที่ทุกเวลา(UP)เป็นหลัก โดยโฟกัส 3 อย่างสำคัญ คือ 1.ไม่รวมกลุ่มทานข้าวด้วยกันเป็นเวลานาน ถ้าทานข้าวร่วมกันต้องแบบใช้เวลาสั้นๆ 2.ใส่หน้ากากอนามัยถ้าอยู่กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงคือกลุ่ม 608 หรือเด็กเล็ก ป้องกันไม่ให้ป่วยและไปรับวัคซีน และ 3.งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดปาร์ตี้ ซึ่งจะช่วยป้องกันเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุด้วย