สธ.คาดโควิด19 หลัง "สงกรานต์" พุ่ง สั่งขยายเตียง สำรองยาเพิ่ม

สธ.คาดโควิด19 หลัง "สงกรานต์" พุ่ง สั่งขยายเตียง สำรองยาเพิ่ม

สธ.คาดโควิด-19 หลัง"สงกรานต์" พุ่ง โฟกัสยอด ผู้เสียชีวิตขยับขึ้น 100 กว่ารายต่อวันช่วงต้นพ.ค. เทียบ 2 ปีก่อน สัดส่วนการป่วยหนักต่อติดเชื้อลดลง เน้นเฝ้าระวังพิเศษกลุ่ม608-เด็กเล็กมีโรค ขยายเตียงหากอัตราครองเตียงถึง 80 % สำรองยาเพิ่ม 75 ล้านเม็ด

ผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยยังมีการติดเชื้อมากกว่า 20,000 รายต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตสูงขึ้นในวานนี้ (3 เม.ย. 65) กว่า 97 ราย แต่การผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว สธ. ประเมินว่าไทยยังสามารถรองรับสถานการณ์ได้   ซึ่งการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งเพื่อดึงดูด นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้มาตรการสาธารณสุขที่รัดกุมขั้นสูงสุด

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับ โอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม “XE” ที่แพร่เชื้อติดต่อได้ง่ายและรวดเร็วกว่าไวรัสโคโรนา 2019 ทุกสายพันธุ์ที่เคยประสบมา โดย ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี ตรวจพบสายพันธุ์ลูกผสม “XE” จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างสวอปจากผู้ติดเชื้อ ชาวไทย 1 ราย แต่ยังต้องอาศัยเวลาในการพิสูจน์ว่าสายพันธุ์ลูกผสม “XE” จะกลายเป็นคลื่นระลอกใหม่ที่ระบาดไปทั่วโลกและเข้ามาแทนที่ BA.2 ได้หรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คาดการณ์ สถานการณ์โควิด19 หลังสงกรานต์พุ่ง ยอดผู้เสียชีวิตขยับขึ้น 100 กว่ารายต่อวันช่วงต้นพ.ค. ขอประชาชนร่วมมือป้องกันตัวเอง-ครอบครัวสูงสุด โดยเข้ม 3 เรื่องสำคัญ และเตรียมขยายเตียงหากอัตราครองเตียงถึง 80 %สำรองยาเพิ่ม 75 ล้านเม็ด โดยเน้นเฝ้าระวังพิเศษกลุ่ม 608-เด็กเล็กมีโรค

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่ากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้มีการคาดการณ์ฉากทัศน์สถานการณ์โควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์ 2565 ว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิต โดยจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิตในปัจจุบันก็มากกว่าสงกรานต์ปี 2564 มาก

 

ถ้าดูตามสถานการณ์ปัจจุบันที่รายงานผู้ติดเชื้อวันละกว่า 2 หมื่นราย เสียชีวิตไม่เกิน 100 รายต่อวัน ซึ่งยังเป็นไปตามที่คาดการณ์ เพราะฉะนั้นในส่วนของผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตก็จะเป็นไปตามฉากทัศน์ที่คาดการณ์ไว้ คือ ผู้เสียชีวิตขึ้นไปราว 100 รายเศษๆต่อวันในช่วงต้น พ.ค. อาจจะมากหรือน้อยกว่าเล็กน้อยตามการแกว่งไปแกว่งมา 

 

ส่วนสถานการณ์จะมีความแตกต่างจากสงกรานต์เมื่อ 2 ปีก่อนหรือไม่  นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า หากเทียบยอดผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตช่วงหลังสงกรานต์ 2 ปีก่อนกับปีนื้ สัดส่วนระหว่างการป่วยหนักต่อผู้ติดเชื้อลดลง เพราะช่วง 2 ปีก่อนติดเชื้อวันละไม่กี่พัน ขึ้นไปสูงสุด 23,000ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,300-1,400 ราย ปัจจุบันใส่ท่อช่วยหายใจราว 500 ราว ประมาณ 1 ใน 3 ของก่อนหน้านี้ แต่ติดเชื้อมากกว่าเดิม 2-3 เท่าถ้ารวม ATK ด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าดูสถานการณ์แบบนี้ สัดส่วนป่วยหนักต่อผู้ติดเชื้อลดลง แต่สิ่งที่กังวลเพียงอย่างเดียวว่าแทนที่ติดเชื้อจะมีเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า แต่กลับเพิ่มเป็น 10-20 เท่า ผู้ติดเชื้อแทนที่จะเป็นวันละ 2- 4 หมื่นราย กลายเป็นวันละ 2 แสนราย ซึ่งตัวเลขผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตก็จะเพิ่มขึ้นมากตาม
 

สธ.คาดโควิด19 หลัง \"สงกรานต์\" พุ่ง สั่งขยายเตียง สำรองยาเพิ่ม

เฝ้าระวังพิเศษกลุ่ม 608-เด็กเล็ก

 

“ปัจจัยที่จะทำให้หลังสงกรานต์สถานการณ์เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากช่วงสงกรานต์มีการรวมกลุ่มกันมากขึ้น กลับบ้านมากขึ้น ไปเจอผู้หลักผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนกันจำนวนมากขึ้น เป็นสิ่งที่จะทำให้สถานการณ์โควิด 19 เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องเฝ้าระวังโฟกัสพิเศษในกลุ่ม 608 ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์และกลุ่มเด็กเล็กที่มีโรคประจำตัว เนื่องจากที่ผ่านกลุ่มเด็กเล็กยังป่วยไม่มาก และไม่มีวัคซีนในกลุ่มเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เพราะฉะนั้น กลุ่มเด็กเล็กที่มีโรคประจำตัวจะเป็นกลุ่มเสี่ยง ส่วนเด็กเล็กที่ไม่มีโรคประจำตัวโอกาสที่จะป่วยหนักเกิดขึ้นได้น้อย ถ้าเทียบกับเด็กเล็กที่มีโรคประจำตัว ซึ่งขณะนี้เด็กเล็กที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว” นพ.จักรรัฐ กล่าว


สงกรานต์ป้องกันโฟกัส 3 เรื่อง

 

นพ.จักรรัฐ กล่าวด้วยว่า วิธีการที่จะทำให้สถานการณ์ไม่เพิ่มสูงขึ้นจนเกินศักยภาพระบบสาธารณสุขประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกันป้องกันตนเองและคนในครอบครัวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะต้องเข้มมาตรการป้องกันตัวเองทุกที่ทุกเวลา(UP)เป็นหลัก โดยโฟกัส 3 อย่างสำคัญ คือ 1.ไม่รวมกลุ่มทานข้าวด้วยกันเป็นเวลานาน ถ้าทานข้าวร่วมกันต้องแบบใช้เวลาสั้นๆ 2.ใส่หน้ากากอนามัยถ้าอยู่กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงคือกลุ่ม 608 หรือเด็กเล็ก ป้องกันไม่ให้ป่วยและไปรับวัคซีน และ 3.งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดปาร์ตี้ ซึ่งจะช่วยป้องกันเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุด้วย

 

สำหรับฉากทัศน์ที่สธ.คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังสงกรานต์ หากคงมาตรการต่างๆและประชาชนให้ความร่วมมือในระดับปัจจุบันและมีการแพร่โรคต่อเนื่องไปทุกจังหวัดจนถึงช่วงสงกรานต์ คือ ในส่วนของผู้ติดเชื้อจะสูงสุดราว 50,000 รายต่อวัน ในช่วงราว 19 เม.ย.2565 ผู้ป่วยปอดอักเสบสูงสุดราว 3,000 รายช่วงต้นเดือนพ.ค.2565 เนื่องจากจะเหลื่อมจากช่วงที่ยอดผู้ติดเชื้อสูงสุดไป 2-4 สัปดาห์ เช่นเดียวกับ ผู้ป่วยปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจสูงสุดจะอยู่ที่ราว 900 ราย และผู้เสียชีวิตกว่า 100 รายต่อวัน

 

นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ฉากทัศน์ ระดับแย่ที่สุด กรณีที่ผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรค ลดแยกกัก-กักตัว ฉีดวัคซีนทุกเข็มต่ำกว่า 2 แสนโดสต่อวัน ประชาชนส่วนใหญ่ย่อหย่อนต่อมาตรการป้องกันตนเองแบบครอบจักรวาล(UP) จะมีผู้ติดเชื้อสูงสุดราว 1 แสนรายต่อวัน ช่วงหลังสงกรานต์ ผู้ป่วยปอดอักเสบสูงสุดราว 6,000 รายช่วงต้นเดือนพ.ค.2565 ผู้ป่วยปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจสูงสุดจะอยู่ที่ราว 1,700 ราย และผู้เสียชีวิตราว 250 รายต่อวัน

 

ขยายเตียงเพิ่มหากครองเตียงถึง 80%

 

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์การครองเตียงแยกรายเขตสุขภาพ ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค.2565 พบว่า เตียงระดับ 2-3 ที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มอาการสีเหลืองและแดง ยังไม่มีเขตสุขภาพที่เตียงไม่เพียงพอ ยืนยันถ้าจะรับเข้ารักษารพ.ก็สามารถรับได้ ส่วนหากพิจารณารายจังหวัดจาก 10 จังหวัดที่มีการติดเชื้อสูงสุด ส่วนใหญ่เตียงระดับ 2 ขึ้นไปยังรองรับได้ แต่บางจังหวัดตึงจึงอยู่ที่การบริหารจัดการของผู้ตรวจราชการแต่ละเขต และบางจังหวัดเตียงระดับ 2.1 ,2.2 และ 3 อยู่ในระดับ 50 % ขึ้นไปในทุกระดับ คือ จ.สงขลา 

 

อย่างไรก็ตาม ได้หารือร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เอกชน กทม. โรงเรียนแพทย์เพิ่มเตียงเพื่อรองรับสถานการณ์หลังสงกรานต์ ถ้าเตียงเริ่มตึงก็ต้องขยายเตียงระดับ 2-3 โดยแต่ละที่การครองเตียงถ้าขึ้นมาถึง 80% ต้องขยายเพิ่ม

 

สำรองยาเพิ่ม 75 ล้านเม็ด

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2565 กระทรวงสาธารณสุข รายงานยอดคงคลัง ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ ข้อมูล ณ วันที่ 28 มี.ค. 2565 รวมมีสต็อคยาทั้งหมด 25 ล้านเม็ด แยกเป็นคงคลังในรพ.ต่างๆ ทั่วประเทศทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน 22.8 ล้านเม็ด และมีสำรองยาที่ส่วนกลางอีก 2.2 ล้านเม็ด โดยช่วงเดือนมี.ค.มีการกระจายยาทุกสัปดาห์ ปัจจุบันการใช้ยาค่อนข้างสูงเฉลี่ยวันละ 2 ล้านเม็ด

 

ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่ามีการสำรองยาไว้เพียงพอในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่อาจจะมีการเคลื่อนไหวและกิจกรรมต่างๆ โดยช่วงเดือนก.พ.2565 สธ.แจ้งความต้องการให้อภ.เตรียมการ 110 ล้านเม็ด โดยอภ.ได้ทยอยส่งมอบแล้ว 80 ล้านเม็ด อีก 30 ล้านเม็ดจะทยอยส่งต่อเนื่องจนถึงกลางเดือนเม.ย. จนครบ 110 ล้านเม็ด

 

ช่วงเดือนมี.ค. ได้มีการมอบหมายให้สำรองยาเพิ่มเติม เตรียมการเกิดการระบาดจากเทศกาลปีใหม่ไทย โดยแจ้งแผนความต้องการเป็นยาฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์รวม 75 ล้านเม็ดซึ่งอภ.ได้เตรียมสำรองไว้เช่นกันโดยจะเริ่มส่งมอบฟาวิพิราเวียร์ประมาณกลางเม.ย. 30 ล้านม็ด และปลายเม.ย. 20 ล้านเม็ด ซึ่งจะมีมากเพียงพอสำหรับใช้กับผู้ป่วยติดโควิด19 ส่วนที่เหลือจะพิจารณาการสำรองโมลนูพิราเวียร์ เมื่อมีการลงนามสัญญาแล้วจะสามารถส่งมอบภายใน 2 สัปดาห์ทันที จำนวน 10 ล้านเม็ด และมีแผนแจ้งไปสามารถทยอยส่งให้ต่อเนื่อง

 

ผู้ป่วยโควิด608-UCEP Plus รักษาทุก รพ. 

 

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่าการดูแลรักษาโควิด 19 กลุ่มเสี่ยง 608 ว่านายกรัฐมนตรีระบุว่า กลุ่ม 608 เมื่อป่วยโควิดขอให้ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นไปทางเกณฑ์ UCEP Plus ให้ถือว่าเป็นกลุ่มสีเหลือง สามารถรักษาได้ทุกรพ. ทุกสิทธิ ทางรพ.ไม่มีสิทธิปฏิเสธคนไข้ หากปฏิเสธ ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) จะเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ในส่วนเอกชน  โดยกลุ่ม 608 ประกอบด้วย ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคอ้วน หรือน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม ส่วนกลุ่มสีแดงก็สามารถเข้าได้ตามสิทธิยูเซปพลัสอยู่แล้ว


“สายด่วน1330” กด18 ดูแลกลุ่มเสี่ยง


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คาดการณ์ว่าช่วงหลังสงกรานต์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19จะเพิ่มสูงขึ้น สปสช.นั้น ได้จัดเตรียมระบบสายด่วน สปสช. 1330 เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ดังกล่าวไว้เช่นกันโดยได้เปิดสายด่วน 1330 กด 18 เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิการรักษาโดยเฉพาะ ทั้งกลุ่ม 608, เด็ก 0-5 ปี, คนพิการ และผู้ป่วยติดเตียง สปสช.จะลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ให้ก่อน พร้อมประสานหาเตียงเพื่อเข้ารักษาในโรงพยาบาล

 

ในส่วนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกสิทธิการรักษาที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงนั้น ให้โทรเข้าที่สายด่วน 1330 กด 14 ทางเจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำการรักษาตามอาการ กรณีเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว รักษาตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้านหรือเจอ แจก จบ หรือจะเข้าระบบการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) กรณี โทร.สายด่วนไม่ติดเนื่องจากอาจมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ให้ลงทะเบียนด้วยตนเองที่เว็บไซต์สปสช.หรือทางไลน์ สปสช. @nhsoในส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทาง Line @BKKCOVID19CONNECT