“จิตเวชทางไกล”ดูแลผู้ป่วยไบโพลาร์ ใกล้ ไกล เข้าถึงการรักษาได้ทุกที่

“จิตเวชทางไกล”ดูแลผู้ป่วยไบโพลาร์ ใกล้ ไกล เข้าถึงการรักษาได้ทุกที่

 “30 มีนาคม”ของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็น “วันไบโพลาร์โลก” ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO )รายงานว่าประมาณ 5% ของประชากรโลกป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ ขณะที่มีผู้ป่วยเพียง 1-2% เท่านั้นที่ได้รับการวินิจฉัย

โดยอายุเฉลี่ยของการเกิด โรคไบโพลาร์ คือ อายุ 20 ปีโดยอัตราความชุกของโรคไบโพลาร์ มักจะเกิดขึ้นในผู้หญิงที่ 3.3% ซึ่งมากกว่าในผู้ชายที่ 2.6% นับเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย

วานนี้ (30 มี.ค.) เนื่องด้วย วันไบโพลาร์โลก โดยปี 2565 นี้ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนโดย ซาโนฟี่ ประเทศไทย จัดงานแถลงข่าว World Bipolar Day 2022 เปิดใจให้ไบโพลาร์ ปี 2 ภายใต้ธีม “ใกล้ไกล ไบโพลาร์อุ่นใจ ด้วยจิตเวชทางไกล”

ดร. สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกล่าวเปิดงานว่า โรคไบโพลาร์ เป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย เพราะเป็นโรคที่แสดงอารมณ์สองขั้ว และหากผู้คนรอบข้างไม่เข้าใจ หรือผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องอาจจะทำให้อาการกำเริบไปสู่โรคจิตเวชอื่นๆ ได้ 

ระบบจิตเวชทางไกล ที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะพิจารณาเพิ่มสิทธิในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะเพิ่มโอกาสและยกระดับให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้เข้าถึงการรักษาอย่างทันท่วงที จะทำให้ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ไม่มีอาการรุนแรง สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เป็นการเพิ่มประสิทธิการรักษาผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ได้

  • 3%ไบโพลาร์เข้าไม่ถึงการรักษา

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าสถานการณ์ของโรคไบโพลาร์ในประเทศไทย ปี 2564 พบว่ามีผู้ป่วยจำนวน 38,681 คนที่เข้าถึงการรักษา ซึ่งลดลงจากปี 2563 ถึง 3% สะท้อนให้เห็นว่าผู้ป่วยจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้

หรืออาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นโรคทางอารมณ์ที่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด รวมไปถึงการทำร้ายตัวเองและปัญหาการฆ่าตัวตาย

“จิตเวชทางไกล”ดูแลผู้ป่วยไบโพลาร์ ใกล้ ไกล เข้าถึงการรักษาได้ทุกที่

  • จิตเวชทางไกลเข้าถึงการรักษา

ช่วงการระบาดโควิด-19 มีผู้ที่กังวลและทำแบบประเมินสุขภาพจิต ผ่าน Mental Health Check พบว่า ช่วงสายพันธุ์เดลตาระบาด ประมาณเดือนส.ค. 2564 มีผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น

อาทิ กลุ่มที่ถูกเลิกจ้างงาน กลุ่ม First Jobber ที่เพิ่งจบการศึกษาและหางานทำไม่ได้ กลุ่มที่ติดเชื้อโควิด-19 จนเกิดภาวะเครียด ซึ่งในช่วงปี 2564 จะเห็นได้ว่ามีการเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น

กรมสุขภาพจิต ได้จัดกิจกรรม World Bipolar Day 2022เปิดใจให้ไบโพลาร์ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้สังคมได้ตระหนักถึงโรคไบโพลาร์และสามารถเข้าถึงการรักษา บำบัดได้อย่างต่อเนื่อง

เพราะการรับรู้และเข้าใจเพียงอย่างเดียวไม่พอ หากผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ไม่ได้รับการรักษา เพื่อลดตราบาป หรือภาพลักษณ์ที่เสียหายของผู้ป่วย เนื่องจากเมื่อผู้ป่วยควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ ความรุนแรงการทำร้ายตนเองและผู้อื่น หรือการฆ่าตัวตายจะเกิดขึ้น

 

  • ให้บริการตรวจรักษาทางไกล

โดยใช้ “ระบบจิตเวชทางไกล” หรือ “Telepsychiatry”  บำบัดรักษาผู้ป่วยไบโพลาร์ เป็นการใช้เทคโนโลยีในสถาบันและโรงพยาบาลจิตเวชทั้ง 20 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกการรักษา 

ทั้ง การให้คำปรึกษาตรวจวินิจฉัยโดยจิตแพทย์ บริการให้คำปรึกษาเรื่องยาจิตเวชทางไกลโดยเภสัชกร บริการให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิตและจิตเวช จิตบำบัดทางไกลโดยนักจิตวิทยาคลินิก 

รวมถึง บริการเยี่ยมบ้านทางไกลและบริการสังคมสงเคราะห์ทางไกลโดยนักสังคมสงเคราะห์ บริการให้การฟื้นฟูสมรรถภาพโดยทีมฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยในอนาคตกรมสุขภาพจิตจะดำเนินการพัฒนาระบบบริการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้ป่วยไบโพลาร์อย่างทั่วถึง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

  • สปสช.เพิ่มสิทธิให้บริการทางไกล

นพ. จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ให้การส่งเสริมระบบบริการแก่ผู้ป่วยโรคจิตเวช ซึ่งผู้ป่วยโรคไบโพลาร์และผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ เป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด ต่างจากโรคอื่นๆ ที่จะพยายามเข้ารับการรักษา ขณะที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะแยกตัวออกจากสังคมและครอบครัว

การดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ สิ่งหนึ่งที่จะมีบทบาทสำคัญ คือ การใช้ระบบการรักษาทางไกล (Telemedicine) หรือจิตเวชทางไกล สำหรับในส่วน สปสช. ซึ่งมีหน้าที่ในการสนับสนุนงบประมาณ กองทุนได้จัดงบประมาณเพิ่มเติมให้หลังจากที่ริเริ่มหน่วยบริการรักษาทางไกลเข้ามา

“การให้บริการทางไกลของโรคไบโพลาร์ จะให้บริการทั้งกับตัวผู้ป่วยเอง หรือญาติผู้ป่วย ซึ่งอาจจะมีการใช้กลไกทางสังคม เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รบสต.) หรือโรงพยาบาลชุมชน เข้ามาผนวกกัน และหากต้องการเบิกจ่ายในส่วนบริการทางไกลให้ง่ายและสะดวกขึ้น สามารถติดต่อได้ที่ สปสช. โดยจะมีทีมลงไปดูแลในส่วนของระบบทางไกลโดยจะผูกเชื่อมต่อกับกลไกทางการเงินที่ สปสช. ได้ให้การสนับสนุน”นพ.จเด็จ กล่าว

  • “ศรีธัญญา"ดูแลผู้ป่วยทางไกล”

พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า ได้นำระบบจิตเวชทางไกล (Telepsychiatry) มาใช้ในการดูแล การทำจิตบำบัด การจ่ายยาผ่านระบบออนไลน์แก่ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ และโรคทางจิตเวชอื่นๆ

โดยปี 2563 สามารถให้บริการได้ทั้งสิ้น 2,081 ราย ปี 2564 สามารถขยายบริการจิตเวชทางไกลเพิ่มขึ้นเป็น 17,490 ราย และในปี 2565 ได้เริ่มให้บริการกับประชาชนเป็นรายบุคคล จากข้อมูลล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ได้ให้บริการผ่านระบบจิตเวชทางไกล จำนวน 3,717 ราย ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 นอกจากนี้ ในปีนี้ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งต่อผู้ป่วยทั้งภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินโดยผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ และยกระดับการส่งต่อผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น