สต็อค"ยาฟาวิพิราเวียร์"มีกว่า 25 ล้านเม็ด เช็คกลุ่มที่จะได้ยา ไม่ใช่ทุกคน

สต็อค"ยาฟาวิพิราเวียร์"มีกว่า 25 ล้านเม็ด เช็คกลุ่มที่จะได้ยา ไม่ใช่ทุกคน

สธ.เผยมียาสต็อคอยู่กว่า 25 ล้านเม็ด อภ.สำรองฟาวิพิราเวียร์-โมลนูพิราเวียร์เพิ่มอีก 75 ล้านเม็ด เตรียมรับหลังสงกรานต์2565 กรมการแพทย์ย้ำกลุ่มไม่มีอาการ-อาการไม่มาก  ไม่จำเป็นต้องได้ยาฟาวิพิราเวียร์ ขอให้ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ป้องกันการดื้อยา-ผลข้างเคียง  

เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โควิด 19 ประเด็น “การรบริหารจัดการยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด19” นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า  ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ ข้อมูล ณ วันที่  28 มี.ค. 2565 ยอดยาคงคลังในรพ.ต่างๆ ทั่วประเทศทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน  22.8 ล้านเม็ด ช่วงเดือนมี.ค.มีการกระจายยาทุกสัปดาห์  และมีสำรองยาที่ส่วนกลางอีก 2.2 ล้านเม็ด  รวมมีสต็อคยาทั้งหมด 25 ล้านเม็ด  ปัจจุบันการใช้ยาค่อนข้างสูงเฉลี่ยวันละ 2 ล้านเม็ด อัตราการใช้จึงอยู่ที่ 10 วัน แต่มียาเพิ่มตลาดเวลา และได้มีการกระจายยาในระบบออนไลน์ เรียกว่า VMI เมื่อรพ.มีการใช้ยาก็จะคีย์ข้อมูลลงในระบบว่าใช้ไปเท่าไหร่  ข้อมูลจะปรากฏที่ส่วนกลาง ทำให้ทราบว่าแต่ละพื้นที่เหลือยาเท่าไหร่  จากนั้นจะมีเติมไปให้ 

   “ใน1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยสูงขึ้น พื้นที่มีการใช้ยาเพิ่มและไม่ได้คีย์ข้อมูลเป็นปัจจุบัน มาคีย์ครั้งเดียว ทำให้ส่วนกลางไม่ทราบว่า บางพื้นที่มีการใช้ยาไปเท่าไหร่ จึงเป็นเหตุให้เติมไม่ทัน แต่ไม่ได้ขาดยา เพราะมีบริหารจัดการในจังหวัด รพ.ข้างเคียงส่งไปเติมได้” นพ.ธงชัยกล่าว 

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อและมีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลยทุกรายไม่จำเป็นต้องได้รับยา  โดยเฉพาะที่ไม่มีอาการ ซึ่งต้องเป็นไปตามแนวปฏิบัติการรักษาจากผู้ชี่ยวชาญ โดยยาที่จ่ายใช้จากโครงการเจอ แจก จบในเขตสุขภาพที่ 4,5 และ 6 เป็นยาฟาวิพิราเวียร์ ประมาณ 26 % ในบางเขตสุขภาพ แต่บางเขตยังใช้ในปริมาณที่เยอะมาก อีก 24 %ให้ยาฟ้าทะลายโจร และอีก 52 %ให้ยารักษาตามอาการ เช่นยาลดไข้ ยาแก้ไอ

         ซึ่งยาทุกตัวเป็นสารเคมี แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยใครสมควรได้รับยา เสี่ยงมากหรือไม่ เพราะยาอาจก่อปัญหาต่อตับและไตได้ ซึ่งในร่างกายมียาอยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อได้วัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนเข็มกระตุ้น 3 การให้ยาจึงต้องใช้อย่างสมเหตุสมผล ลดการป้องกันเชื้อดื้อยา ป้องกันผลกระทบจากยาที่มีต่อผู้ป่วยและลดค่าใช้จ่ายต่อประเทศและตัวผู้ป่วย  

        ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิดแล้ว ในร่างกายมีภูมิคุ้มกันแล้ว เหมือนมีโรงงานผลิตยาอยู่แล้ว เมื่อรับเชื้อเข้าไป ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อได้ ภายใน 5 -7 วัน ก็จะอาการดีขึ้นเหมือนกับทานยาฟาวิพิราเวียร์ที่ต้องทาน 5 วัน เนื่องจากเมื่อรับวัคซีนจะสร้างภูมิคุ้มกันไปกำจัดเชื้อ เพราะฉะนั้น การสำรองยาจึงเป็นเพื่อให้คนที่ควรได้รับยา เนื่องจากบางคนภูมิคุ้มกันอาจจะไม่ดีพอ แม้รับวัคซีนแล้วแต่การผลิตภูมิคุ้มกันของร่างกายอาจจะได้ไม่เต็มที่ จึงจำเป็นต้องเติมยาเข้าไปช่วย จึงสำรองยาให้กับคนที่ควรจะได้รับยา

       “ปีนี้มีคนติดเชื้อมากกว่าปีก่อน แต่อากาน้อยกว่ามาก ซึ่งไม่จำเป็นต้องได้รับยาทุกราย  โดยที่ผ่านมาพบ 0.5 %ของผู้ที่รักษาแบบเจอ แจก จบหรือกักตัวที่บ้านที่อาการจะรุนแรงขึ้นจนต้องรับไปรพ.  ดังนั้น  ผู้ป่วยทุกรายต้องสังเกตอาการตัวเอง แต่ถ้าอาการมากขึ้นก็ไปพบแพทย์เพื่อประเมินว่าสมควรได้รับยาหรือไม่  แพทย์จะพิจารณาดูตามอาการ” นพ.ธงชัยกล่าว   

ย้ำยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ขาด

นพ.ธงชัย ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ภาพรวมจังหวัดยาฟาวิพิราเวียร์ ไม่ขาด ขณะนี้ได้มีการกระจายยาลงไปในระดับหน่วยบริการย่อย บางรพ.สต.ก็มียาเช่นกัน จากสมัยก่อนที่จะจัดส่งไปที่รพ.ใหญ่ๆ เป็นส่วนใหญ่และให้มาเบิกจ่ายที่รพ.ใหญ่ แต่ขณะนี้เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินโครงการเจอแจกจบ ซึ่งรักษาแบบผู้ป่วยนอกรวมถึงการรักษาที่บ้าน จึงกระจายยาไปอยู่ที่สต๊อกย่อยๆ ด้วย ซึ่งภาพรวมในจังหวัดไม่ขาดยา เพียงแต่บางพื้นที่อาจจะขาดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ขณะนี้ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจเขตสุขภาพ และนายแพทย์สาธารณสุขเข้าไปช่วยดูแลสามารถบริหารจัดการโยกยาจากรพ.นี้ไปใช้ในหน่วยบริการอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้ก่อนได้  


สต็อคฟาวิพิราเวียร์รายเขต

 ทั้งนี้ สถานการณ์ยาฟาวิพิราเวียร์ รายเขตสุขภาพ ข้อมูล ณ 28 มี.ค.2565

เขต1 ยอดคงเหลือ 1,442,668 เม็ด อัตราใช้ยาเฉลี่ยต่อวัน 175,319 เม็ด 
เขต 2 ยอดคงเหลือ  1,218,224 เม็ด อัตราใช้ยาเฉลี่ยต่อวัน 130,420 เม็ด 

เขต 3 ยอดคงเหลือ 738,938 เม็ด อัตราใช้ยาเฉลี่ยต่อวัน71,370 เม็ด   

เขต 4 ยอดคงเหลือ 2,186,223  เม็ด อัตราใช้ยาเฉลี่ยต่อวัน  263,532 เม็ด

เขต 5 ยอดคงเหลือ 2,013,462 เม็ด อัตราใช้ยาเฉลี่ยต่อวัน  202,183 เม็ด

เขต6 ยอดคงเหลือ 1,964,850 เม็ด อัตราใช้ยาเฉลี่ยต่อวัน  251,242 เม็ด

เขต 7 ยอดคงเหลือ  1,215,340 เม็ด อัตราใช้ยาเฉลี่ยต่อวัน 166,533 เม็ด 

เขต 8 ยอดคงเหลือ 939,223 เม็ด อัตราใช้ยาเฉลี่ยต่อวัน 82,429 เม็ด 

เขต 9 ยอดคงเหลือ 1,030,938 เม็ด อัตราใช้ยาเฉลี่ยต่อวัน  100,237 เม็ด

เขต 10 ยอดคงเหลือ 1,200,440 เม็ด อัตราใช้ยาเฉลี่ยต่อวัน 144,617 เม็ด 

เขต 11 ยอดคงเหลือ 2,017,064 เม็ด อัตราใช้ยาเฉลี่ยต่อวัน 174,415 เม็ด 

เขต  12 ยอดคงเหลือ 1,784,931 เม็ด อัตราใช้ยาเฉลี่ยต่อวัน  144,240 เม็ด

เขต 13 ยอดคงเหลือ  5,124,375 เม็ด อัตราใช้ยาเฉลี่ยต่อวัน 408,284 เม็ด   
สำรองฟาวิพิราเวียร์-โมลนูพิราเวียร์อีก 75 ล้านเม็ด

      ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวว่า มีการสำรองยาไว้เพียงพอในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่อาจจะมีการเคลื่อนไหวและกิจกรรมต่างๆ โดยช่วงเดือนก.พ.2565 สธ.แจ้งความต้องการให้อภ.เตรียมการ 110 ล้านเม็ด โดยอภ.ได้ทยอยส่งมอบแล้ว 80 ล้านเม็ด อีก 30 ล้านเม็ดจะทยอยส่งต่อเนื่องจนถึงกลางเดือนเม.ย. จนครบ 110  ล้านเม็ด อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนมี.ค. ได้มีการมอบหมายให้สำรองยาเพิ่มเติม เตรียมการเกิดการระบาดจากเทศกาลปีใหม่ไทย โดยแจ้งแผนความต้องการเป็นยาฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์รวม 75 ล้านเม็ด ซึ่งอภ.ได้เตรียมสำรองไว้เช่นกัน โดยจะเริ่มส่งมอบฟาวิพิราเวียร์ประมาณกลางเม.ย. 30 ล้านม็ด และปลายเม.ย. 20 ล้านเม็ด ซึ่งจะมีมากเพียงพอสำหรับใช้กับผู้ป่วยติดโควิด19 ส่วนที่เหลือจะพิจารณาการสำรองโมลนูพิราเวียร์ เมื่อมีการลงนามสัญญาแล้วจะสามารถส่งมอบภายใน 2 สัปดาห์ทันที จำนวน 10 ล้านเม็ด และมีแผนแจ้งไปสามารถทยอยส่งให้ต่อเนื่อง

ใครควรได้ยาฟาวิพิราเวียร์

นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับบุคลการทางการแพทย์ ฉบับล่าสุด เมื่อ 22 มี.ค. 2565  เนื่องเชื้อโควิดโอมิครอนมีการติดเชื้อได้ง่าย แต่ไม่เกิดอาการรุนแรงจึงต้องทบทวนแนวทางให้สอดคล้องกับตัวเชื้อและโรคที่ดำเนินไป โดยในส่วนการรักษาของผู้ติดเชื้อกลุ่มที่ไม่มีอาการและอาการเล็กน้อย  ดังนี้

1.ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี  
-ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้านหรือHome Isolation หรือสถานที่รัฐจัดให้ตามความเหมาะสม  
-ให้ดูแลรักษาตามอาการ ตามดุลยพิพิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้ายไวรัส เช่น ฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง
-อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจของแพทย์

- ไม่ให้ยาฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาต้านไวรัส เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงจากยา  มีผลต่อตับทำให้ตับทำงานมากขึ้น 

2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก  ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญและภาพถ่ายรังสีปอดปกติ

-อาจพิจารณาให้ฟาวิพิราเวียร์โดยเริ่มให้ยาเร็วที่สุด แต่ไม่จำเป็นต้องให้ทุกราย ให้ตามความเหมาะสม โดยกลุ่มที่จำเป็นต้องให้มากกว่าคือกลุ่มที่มีความเสี่ยง

-การให้ยาที่มีประสิทธิผลเต็มที่ควรให้ภายใน 5 วันหลังมีอาการ หากตรวจพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน  และผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อยอาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ข้อควรระวังยาฟาวิพิราเวียร์ 

“การพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ขณะนี้ จะเน้นกลุ่ม 607 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีโรคประจำตัว  โดยเฉพาะหากยังไม่ได้รับวัคซีน  ทั้งนี้ ข้อควรระวังในการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ คือในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะไตรมาสแรกจะเกิดผลกระทบต่พัฒนาการของทารกในครรภ์ได้ กลุ่มที่มีปัญหาเรื่องตับยามีผลข้างเคียงได้ รวมถึง อาจจะเกิดการระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร และทำให้กรดยูริกสูงขึ้น คนไข้ที่มีปัญหาเรื่องกรดยูริกทำให้ตับ ไตและกรดยูริกในร่างกายเพิ่มขึ้นได้  ซึ่งถ้าประชาชนทราบข้อดีข้อเสียแล้ว ก็จะไม่จำเป็นต้องรับยาในกรณีที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่มาก“นพ.มานัสกล่าว