ดูแลลูก กลุ่ม "อาการดาวน์ซินโดรม" อย่างไรในช่วง "โควิด-19"

ดูแลลูก กลุ่ม "อาการดาวน์ซินโดรม" อย่างไรในช่วง "โควิด-19"

เด็ก "กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม" ในช่วง "โควิด-19" ซึ่งมีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่าคนปกติ เนื่องจาก ความสามารถในการดูแลตัวเองได้น้อย ในฐานะพ่อแม่ จะทำอย่างไรเพื่อให้ลูกๆ ดูแลตัวเองได้ และปลอดภัยจากโรคระบาด

ในสถานการณ์โควิด ทุกคนต้องระวังตัวว่าทำอย่างไรที่จะไม่ติดโควิด ซึ่งการระวังตัวต้องอาศัยความเข้าใจเป็นพื้นฐาน ขณะเดียวกัน ปัญหา คือ เด็ก "กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม" ซึ่งความสามารถในการป้องกันตนเองน้อย จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ในการดูแล ไม่ว่าจะเป็นการเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ไม่จับหน้าตา

 

วันนี้ (21 มี.ค. 65) เรือโท พญ.เปรมวดี เด่นศิริอักษร นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก สถาบันราชานุกูล กล่าวในงานแถลงข่าว วันดาวน์ซินโดรมโลก ประจำปี 2565 ช่วงเสวนา หัวข้อ “นับหนึ่งให้ถึงดาว” ผ่านช่องทางออนไลน์ เฟซบุ๊กไลฟ์ Rajanukul Institute จัดโดย กรมสุขภาพจิต สถาบันราชานุกูล และ กรมส่งเสิรมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยอธิบายว่า  ปัญหาของเด็กกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม คือ อาจจะเข้าใจยาก การสอนอาจจะต้องปรับวิธีการสอน ซึ่งมีปัญหาด้านการสื่อสาร การทำความเข้าใจ ดังนั้น จึงอาจต้องปรับการสอนเป็นสมุดภาพ สื่อการ์ตูน นิทานภาพ อาจจะสร้างความเข้าใจได้มากขึ้น

ปฏิบัติตัวให้เป็นแบบอย่าง 

 

อีกเรื่อง คือ การปฏิบัติตัว เด็กจะเรียนรู้จากการมองเห็นเยอะ ถึงแม้จะไม่เข้าใจ ดังนั้น พ่อแม่ต้องปฏิบัติตัวให้เป็นแบบอย่าง เช่น การใส่หน้ากากอนามัย ให้ใส่หน้ากากให้ดู ทำสม่ำเสมอ จับอะไรก็ล้างมือบ่อยๆ หรือบางครั้งอาจจะต้องใช้เทคนิคจูงใจ เช่น ให้เลือกหน้ากากที่ชอบจะทำให้เขาให้ความร่วมมือมากขึ้น

 

รับวัคซีน ป้องกันโรค 

 

นอกจาก เรื่องของการป้องกันตนเองแล้ว อีกเรื่องที่จะช่วยในการป้องกันโรค คือ การได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ ถือเป็นเด็กที่มีความสามารถในการป้องกันตนเองได้น้อย ถือเป็นกลุ่มที่ควรจะได้รับวัคซีนป้องกันเหมือนคนปกติ

 

ผลข้างเคียงจากวัคซีน ไม่ต่างจากคนปกติ

 

ทั้งนี้ หลายคนมีความกังวลในเรื่องของวัคซีน เรือโท พญ.เปรมวดี อธิบายว่า หากถามว่าวัคซีนมีผลต่อร่างกายหรือไม่ ต้องตอบว่ามีผลต่อทุกคน ไม่ได้แยกเฉพาะเด็กกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม ดังนั้น ผลของวัคซีน ต่อร่างกาย คือผลของการตอบสนองร่างกายต่อวัคซีน สิ่งที่เราต้องการ คือ ภูมิคุ้มกันโรค

 

"แต่ยังมีผลอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์ ที่มากับวัคซีน เช่น เป็นไข้ ถือว่าเป็นอาการข้างเคียงที่ใครๆ ก็เจอและไม่รุนแรง ขณะที่อาการข้างเคียงรุนแรง ที่เรียกว่าการแพ้วัคซีน โอกาสเกิดได้กับทุกคน เราไม่รู้ว่าใครจะเกิด แต่โอกาสไม่เยอะ ถามว่าแตกต่างกันหรือไม่ระหว่างคนปกติ กับ กลุ่มดาวน์ซินโดรม ไม่แตกต่างกัน"

ขณะที่อาการข้างเคียงที่รุนแรง เช่น อาจได้ยินว่า แอสตร้าเซนเนก้า มีผลต่อหลอดเลือดสมอง ทำให้มีอาการชา อาการทางระบบประสาท และวัคซีน mRNA อาจจะทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมจะตอบสนองต่อวัคซีนเหมือนคนปกติ เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น จะเป็นอาการข้างเคียงที่ยอมรับได้และไม่รุนแรง โดยข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค พบว่า 80% ของผู้ฉีดวัคซีนไม่มีอาการข้างเคียง ที่มีอาการข้างเคียงแต่ไม่รุนแรงไม่ถึง 20%”

 

การติดเชื้อโควิด เมื่อเทียบกับคนปกติ

 

สำหรับการติดเชื้อโควิด-19 จะทำให้กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมมีอาการรุนแรงกว่าคนปกติหรือไม่นั้น เรือโท พญ.เปรมวดี อธิบายว่า จากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม หากเป็นแค่ดาวน์ซินโดรม ไม่ได้ทำให้เป็นโควิดรุนแรง แต่หากว่ามีอาการร่วม มีโรคประจำตัวร่วม เช่น โรคหัวใจ หรือโรคทางเดินหายใจ ก็จะทำให้เขามีอาการรุนแรงได้ เช่นเดียวกับคนที่มีโรคประจำตัว 

 

หมั่นสังเกตอาการลูก 

 

แต่มีประเด็นปัญหาเล็กน้อยในการดูแลกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม เนื่องจากเด็กความสามารถในการสื่อสารน้อย การเข้าใจตัวเองน้อย และการจัดการกับอาการตึงเครียดและอารมณ์น้อย ดังนั้น พ่อแม่ต้องหมั่นดูแลและสังเกต เขาอาจจะไม่สามารถบอกได้ว่า เจ็บคอ ปวดหัว เป็นไข้ ดังนั้น ต้องหมั่นสังเกตอาการ ขณะเดียวกัน เด็กมีการจัดการความเครียดได้น้อย อาจจะมีการแสดงออกพฤติกรรมถดถอย ดังนั้น ต้องเข้าใจ และดูแลด้วยความเข้าใจ

 

ท้ายนี้ เรือโท พญ.เปรมวดี กล่าวว่า เด็กกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม หากพูดในเรื่องโควิด-19 มีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่าคนปกติ เนื่องจากเขามีความสามารถในการดูแลตัวเองได้น้อย ดังนั้น สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำ คือ ดูแลและสอนเขา ให้วัคซีนป้องกันโรค เพราะวัคซีนปัจจุบัน แม้จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ทำให้อาการรุนแรงลดลง และในช่วงที่ลูกไม่สบาย ให้หมั่นสังเกตอาการ คอยดูว่าหากชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป งอแง หงุดหงิด อาจจะมีปัญหา ไม่ต้องกังวลมาก แต่ใส่ใจในการดูแลมากขึ้น

 

ทำไม วันดาวน์ซินโดรม ถึงตรงกับวันที่ 21 มี.ค. ของทุกปี 

 

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบายว่า วันดาวน์ซินโดรมโลก ซึ่งตรงกับ 21 มีนาคมของทุกปี เนื่องจากดาวน์ซินโดรมมีข้อจุดอ่อนทางพันธุกรรมที่เจอได้บ่อยที่สุด คือ โครโมโซม 3 แท่ง ซึ่งตรงกับเดือน 3 ทั้งนี้ โครโมโซม 3 แท่งจะปรากฏอยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 21 จึงกลายเป็นว่า วันที่ 21 เดือน 3 ของทุกปี

 

"ที่ผ่านมา มีความร่วมมือร่วมใจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับดาวน์ซินโดรม โดยมีกิจกรรมช่วยให้สาธารณชน ตระหนัก เข้าใจ กลุ่มอาการดาวน์ การสื่อสารตรงนี้จะทำให้การช่วยเหลือดูแลผู้ที่มีภาวะเช่นนี้ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างลงตัวมากที่สุด" 

 

"และด้วยความที่เด็กเหล่านี้มีศักยภาพที่ก้าวหน้าได้ เราจึงต้องไม่ละเลยโอกาสที่เขาจะได้รับ ร่วมกันส่งเสริม ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งในการส่งเสริมสนับสนุน เป็นที่ชัดเจนว่า จะต้องรีบรู้ให้เร็วที่สุด ว่าเด็กๆ มีข้อจำกัด พ่อแม่ต้องได้รับความช่วยเหลือ คำแนะนำในเรื่องของการดูแลกระตุ้นพัฒนาการของลูกอย่างต่อเนื่อง การปรึกษาแพทย์ และที่สำคัญ ต้องได้รับกำลังใจในการมีความพร้อมดูแลลูกได้อย่างต่อเนื่อง เพราะการเป็นพ่อแม่ลาออกไม่ได้" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว