ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เปลี่ยนธุรกิจโมเดลตั้งเป้ายั่งยืน

ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก  เปลี่ยนธุรกิจโมเดลตั้งเป้ายั่งยืน

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ก่อให้เกิดปัญหาแก่ทุกคนมากกว่าเป็นเพียงเรื่องสิ่งแวดล้อม ว่ากันว่าภายในปี ค.ศ.2050 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างน้อย 10% ของมูลค่าเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจลดลงกว่า 20% หากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ไม่ได้ร่วมแก้ปัญหาตั้งแต่วันนี้ ความรุนแรงอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของมนุษยชาติได้

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ระบุว่า ซีอีโอทั่วโลกต่างตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ได้มีการปรับเปลี่ยนธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 

  • ซีอีโอ  81% ที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการจากพลังงานทดแทน และใช้การออกแบบหมุนเวียน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • ซีอีโอประมาณ 24% ได้เร่งลงทุนเพื่อความยั่งยืนในระยะสั้น
  • ซีอีโอ 69% กำลังดำเนินการเพื่อการออกแบบและการผลิตที่ยั่งยืน โดยเฉพาะ ซีอีโอจากอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของโลกที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด
  • ซีอีโอราว 39% ที่มุ่งมั่นเข้าร่วมแคมเปญปฏิบัติการแข่งขันเพื่อคาร์บอนเป็นศูนย์ (Race to Zero) ซึ่งเป็นแคมเปญที่รวมผู้นำจากทุกภาคส่วน ทั้งแรงสนับสนุนจากธุรกิจระดับโลก และผู้ลงทุนตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อร่วมกันเร่งสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันมหันตภัยที่อาจจะมีมากขึ้นในอนาคต

โดยวานนี้ (17 มี.ค.) กรุงเทพธุรกิจ และสื่อในเครือเนชั่น จัดงาน “GO GREEN 2022 ขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียว” โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมปาฐกถาพิเศษ Kick Off ธุรกิจสีเขียว ซึ่งมีภาคธุรกิจเข้าร่วมจำนวนมาก

 

  • ทุกภาคส่วนกำหนดเป้าหมายลดโลกร้อน

“เกียรติชาย ไมตรีวงษ์” ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวถึง Green Strategy ยุทธศาสตร์สีเขียว ว่าองค์กรมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนส่งเสริม ให้เกิดโครงการต่างๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นรูปธรรม เริ่มตั้งแต่การสื่อสาร ให้องค์ความรู้ต้นเหตุ ผลกระทบ และวิธีการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งก๊าซเรือนกระจก จริงๆ มีทั้งหมด 7 ชนิด และคาร์บอนเป็น 1 ในนั้นที่มีการปล่อยมากสุด จากการใช้ชีวิตของผู้คน ภาคการขนส่ง ภาคพลังงาน ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม  

“ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ เอกชน ภาคชุมชน ภาคประชาชน ต้องมีการกำหนดอย่างชัดเจนว่ามีเป้าหมาย กลไกในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือที่เรียกว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่างไร จะมีการประเมินเครดิตคาร์บอนอย่างไร และต้องสร้างมาตรฐานให้ทุกคนไม่สร้างหนี้สินต่อโลก ไม่ทำลายโลก ส่งเสริมให้ทุกคนทำความดีด้วยการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน ทำด้วยความสมัครใจ” เกียรติชาย กล่าว

 

ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก  เปลี่ยนธุรกิจโมเดลตั้งเป้ายั่งยืน

 

ประเทศไทยตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2020 ภาคขนส่งและพลังงานให้ลดลงเมื่อเทียบกับที่เคยปล่อยไว้ 7-20% ข้อมูลล่าสุด พบว่าขณะนี้ไทยสามารถลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 17 % และคาดว่าปี 2566 จะทำให้สำเร็จ 20% ตามที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ เป้าหมายในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ได้หยุดเพียง 20% แต่ต้องทำให้ได้ถึง 40% และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)ได้ในปี 2065

“เกียรติชาย” กล่าวต่อไปว่าการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นกระแส ที่ทั่วโลกวางเป้าหมายร่วมกัน เพื่อพยายามคลุมอุณหภูมิโลก ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียล ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ภาคธุรกิจขนาดใหญ่เป็นผู้นำภาคธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อทำให้ทุกธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน แม้จะมีต้นทุนสูงขึ้น

     

  • ธุรกิจขนาดใหญ่ต้องนำธุรกิจขนาดเล็ก

องค์กรต่างๆ ต้องไม่เป็นภาระต่อโลกร่วมกัน ผู้บริโภคเริ่มมีความสนใจ และอยากใช้สินค้าของธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อโลก ฉะนั้น ภาครัฐ ต้องกำหนดสนับสนุนนโยบายให้ทุกคนร่วมลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค สร้างความตระหนักในการมีส่วนร่วม เพราะเมื่อผู้บริโภคเลือกใช้สินค้าในกลุ่มธุรกิจสีเขียว รับผิดชอบต่อโลกมากขึ้น ก็จะเปลี่ยนผู้ผลิตได้ และควรมีการนำเรื่องของกฎหมายมาเป็นตัวเสริมให้ภาคเอกชนเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้

  • แนะเปลี่ยนโมเดลธุรกิจตั้งเป้ายั่งยืน

“ธันยพร กริชติทายาวุธ” ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) กล่าวว่า GCNT มีองค์กรสมาชิกทั่วโลกที่มีเจตนารมย์ร่วมกันในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นกว่าเดิม โดยในส่วนของประเทศไทย GCNT ตั้งใจให้บริษัทชั้นนำในประเทศไทยร่วมกันนำเทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อหาทางออกลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ได้ภายในปี 2050 เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน

“ตอนนี้ภาคธุรกิจมีความตื่นตัวเรื่องของการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่ทุกคนให้ความสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของไทยดีขึ้น 4 เท่าตัว และการค้าขายเติบโตขึ้น 10 เท่าตัว สะท้อนถึงการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้น และหากไม่มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ทรัพยากรของไทยจะหมดไปอย่างแน่นอน” ธันยพร กล่าว

จากการสำรวจซีอีโอทั่วโลก กว่า 1,000 คน พบว่าเกินครึ่งเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อให้เกิดความเดือนร้อนแน่นอน 

ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นโอกาสในการลงทุนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ไทย หากเปลี่ยนธุรกิจโมเดลให้สอดคล้องกับการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป้าหมายความยั่งยืน เปลี่ยนวิธีการจัดการธุรกิจของตนเอง และมองหาธุรกิจร่วมกับต่างชาติ แต่หากภาคธุรกิจไม่ปรับตัวเอง เชื่อว่าอนาคตราคาต้นทุนในการจัดการ อาจเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า จะทำให้เสียทั้งโอกาสและต้นทุนที่จะจ่ายแพงในอนาคต 

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มมากขึ้น ได้ทำลายเศรษฐกิจโลกและการดำรงชีวิตของชุมชนที่เปราะบาง ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทุกภาคส่วนต่างร่วมมือร่วมใจกันรับมือ กับวิกฤตการณ์ดังกล่าว ซึ่งการที่โลกจะรวน เกิดจาก 2 อย่าง คือ โลกร่อยหรอ และโลกเลอะเทอะ ดังนั้น ถือเป็นโอกาสของธุรกิจหากจับเกมตรงนี้ได้ทัน จะสามารถสร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจ และแก้ปัญหาโลกร้อน ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ธันยพร กล่าว

  • ไทยอันดับ31ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

“อภิญญา สิระนาท” ผู้อำนวยการโครงการ Accelerator Labs,โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การลดโลกร้อน ไม่ใช่ทำเพียงเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ต้องแก้ปัญหาในหลายเรื่อง ทั้ง เรื่องมิติของคน กลไกการเงิน ซึ่งภาคธุรกิจมีส่วนสำคัญอย่างมากในการแก้ปัญหาเรื่องนี้

หากยังทำไปเรื่อยๆ ทำแบบเดิมตามเป้าหมายที่ประกาศไว้ คงไม่สำเร็จแน่นอน เพราะในหลายๆ ประเทศมีการกำหนดเป้าหมายชัดเจนแต่เมื่อทำจริงๆ ไม่สามารถลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ทุกแห่งต้องปรับแผนธุรกิจ และเข้ามามีร่วมกันขับเคลื่อน ปรับเปลี่ยนธุรกิจอย่างไรให้เกิดการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เพียงปลูกป่า

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Climate Change Performance Index (CCPI) พบว่าเรื่องการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังไม่มีประเทศไหนทำได้ดี ซึ่งทาง UN ได้ออกมาเรียกร้องให้ทบทวนเป้าหมาย เพราะถ้าทุกคนทำตามเป้าที่ตั้งไว้อาจไม่ประสบความสำเร็จ

อีกทั้ง จากการวัดประเมิน 60 ประเทศทั่วโลก พบว่าไม่มีประเทศไหนลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในอันดับ 1,2 หรือ 3 และ ในส่วนประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 31 ต้องปรับตัวและทำอีกมาก โดยสามารถนำนโยบาย หรือแผนของธุรกิจบางประเทศที่ทำได้ดีนำมาปรับใช้