ทำไมเป็น "ชาวนา" ยิ่งทำยิ่งจน ? เปิดปัญหากระดูกสันหลังของชาติ

ทำไมเป็น "ชาวนา" ยิ่งทำยิ่งจน ? เปิดปัญหากระดูกสันหลังของชาติ

เมื่อประเทศไทยในฐานะ "ประเทศเกษตรกรรม" โดยเฉพาะเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่ “ชาวนา” กลับติดกักดักความยากจนมานานหลายสิบปีแบบรุ่นต่อรุ่น

อาชีพ "เกษตรกร" ถือเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับชาวไทยมานานเป็นร้อยปี โดยเฉพาะอาชีพ "ชาวนา" มีส่วนสำคัญทำให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 3 ของโลก และอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน รองจากเวียดนาม แต่หลายสิบปีที่ผ่านมา ชาวนาซึ่งเป็นอาชีพหลักของประเทศ กลับมีสถานะจนลง และมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากมากขึ้น ทำให้กลุ่มชาวนาหลายคนต้องกู้หนี้ยืมสินมาประทังชีวิต

เนื่องจากอุปกรณ์และเครื่องมือในการทำนาล้วนมี "ราคาต้องจ่าย" ซึ่งเป็นราคาที่ถือว่าสูงกว่ารายได้ ทำให้ชาวนาส่วนใหญ่มีหนี้สินเรื้อรัง จนกลายเป็นประโยคที่หลายคนคุ้นหูกันดีก็คือเป็นชาวนา "ยิ่งทำยิ่งจน"

จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2562 ระบุว่าหนี้สินสะสมรายปีของเกษตรกรต่อครัวเรือนสูงถึงเกือบ 200,000 บาท ซึ่งในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 55 เป็นหนี้เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนด้านเกษตร และสามารถชำระหนี้คืนได้เพียงประมาณร้อยละ 35 ของมูลค่าหนี้สินเท่านั้น

ทำไมเป็น "ชาวนา" ยิ่งทำยิ่งจน ? เปิดปัญหากระดูกสันหลังของชาติ

นี่เป็นเพียงการสะท้อนปัญหาจากกลุ่มเกษตรกรส่วนหนึ่ง ที่นำมาสู่การเดินขบวนมาร่วมตัวปักหลักในนาม "กลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย" หรือที่เรียกว่า "ม็อบชาวนา" ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของเกษตรกรจาก 36 จังหวัด เคลื่อนไหวรวมตัวปักหลักที่หน้ากระทรวงการคลัง มาตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.2565 เพื่อเรียกร้องและทวงถามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบโครงการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรให้กับ สมาชิกสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือ "กฟก."

ไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาเรื่องทรัพย์สินที่ส่งผลกระทบกับชีวิตกลุ่มเกษตรกรเท่านั้น แต่สภาพอากาศและสภาพแวดล้อมในประเทศ เป็นอีกปัจจัยที่กระทบต่อผลผลิตทางการกลุ่มเกษตรกร อาทิ ช่วงฤดูน้ำหลาก มีน้ำเข้าท่วมพื้นที่นาข้าวจนไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ หรือในช่วงฤดูแล้งที่ไม่มีน้ำปล่อยเข้าพื้นที่นา ทำให้เกษตรกรต้องลงทุนขุดบ่อบาดาลด้วยตัวเอง และต้องสูญเสียต้นทุนในส่วนนี้เพิ่มเติม

ทำไมเป็น "ชาวนา" ยิ่งทำยิ่งจน ? เปิดปัญหากระดูกสันหลังของชาติ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การเป็นชาวนาในแต่ละยุค จะต้องเป็นหนี้มากขึ้น ถึงแม้กลุ่มเกษตรกรจะขายข้าวได้ แต่กลับเป็นราคาที่ถูกกดจาก "พ่อค้าคนกลาง" ไปด้วย

ทองปลิว คงถิ่น ชาวนาจาก จ. สมุทรสาคร หนึ่งในม็อบชาวนา อธิบายว่า ตนเองเป็นหนี้จากการทำนามานานกว่า 30 ปี เนื่องจากราคาข้าวที่ขายได้มีราคาต่ำลง แต่การทำนากลับต้องใช้เงินลงทุนสูงทำให้ต้องไปกู้เงินจากธนาคาร แต่เมื่อราคาข้าวที่ขายได้มีราคาที่ต่ำทำให้ไม่สามารถใช้หนี้ได้และต้องมีการกู้ยืมมากขึ้นเรื่อย ๆ

การรวมตัวกันประท้วงของกลุ่มเกษตรกรต่างๆ และกลุ่มชาวนาที่มีมานานหลายสิบปี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สิน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้กลุ่มเกษตรกรหลายคน ไม่สามารถประกอบอาชีพเหล่านี้ต่อได้ เกษตรกรบางคนถึงขั้นขายทรัพย์สินส่วนตัวหรือขายที่นาบางส่วน เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ที่เคยกู้ไว้

สำหรับข้อเรียกร้องของ "ม็อบชาวนา" นั้น ขอให้รัฐบาลช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่มากเกินจะแบกรับ โดยเฉพาะให้เร่งดำเนินการโอนหนี้สินของเกษตรกร เข้าสู่กระบวนการจัดการหนี้สินของ กฟก.เพื่อแบ่งเบาภาระทางการเงินของเกษตรกร

ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับหนี้สินมากมาย แต่กลุ่มเกษตรกรยังมีความหวังว่า ปัญหาเหล่านี้จะถูกคลี่คลาย รวมถึงคาดหวังกับสิ่งที่ภาครัฐจะให้ความรู้กับกลุ่มเกษตรกร ในเรื่องระบบเงินกู้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวนาต้องติดกับดักความจนเหมือนกับที่ผ่านมา

เพราะนอกจากจะทำให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้มากขึ้นแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ทำให้คนรุ่นใหม่ อยากกลับมาทำนาที่บ้านเกิด ก่อนที่อาชีพ "ชาวนา" จะกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคมไทย