1 ก.ค.นี้ ไทยพ้นการระบาดใหญ่"โควิด19"

1 ก.ค.นี้ ไทยพ้นการระบาดใหญ่"โควิด19"

9 มี.ค.2565 คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบหลักการการจัดการตามแผนและมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านการระบาดของโรคโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่น (Endemic Approach) ตั้งเป้าใน ก.ค.นี้  ภายใต้การขับเคลื่อนเป็นระยะ 3+1 

    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่า  คณะกรรมการฯมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การพิจารณาให้บริหารจัดการโควิด 19 แบบโรคประจำถิ่น (Endemic approach) และหลักการการจัดการตามแผนและมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านการระบาดของโรคโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่น (Endemic Approach) บนพื้นฐานสุขภาพที่ดีของคนไทยทุกคน และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการบริหารจัดการด้านต่างๆ ได้แก่ การเฝ้าระวังและมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ การเฝ้าระวังในประเทศ การสอบสวนโรค การบริหารจัดการวัคซีน มาตรการป้องกันและควบคุมโรค มาตรการด้านการแพทย์ รวมถึงมาตรการทางกฎหมายและสังคม เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตเป็นปกติภายใต้หลัก universal prevention เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าได้

        “ก่อนเข้าสู่โรคประจำถิ่น ต้องทำให้ประชาชนมีความมั่นใจว่า ถ้าติดเชื้อแล้วมีการวัคซีนแล้ว และมีการป้องกันตนเองตามแนวทางUP ก็ไม่ได้อันตราย  ก็จะเข้าสู่หมวดพ้นจากการระบาดใหญ่ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น  จะทำให้การบริหารจัดการเรื่องต่างๆทำได้รวดเร็วขึ้น  ไม่งั้นก็จะวนอยู่แบบนี้  จะทำอะไรก็ติดขัดไปหมด และถึงจะเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ยายังมีความพร้อมไม่ขาด มีวัคซีนเป็นเข็มกระตุ้นให้ประชาชนทุกคน และการรัษาและเตียงมีความพร้อมรองรับ”นายอนุทินกล่าว 

     ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) อธิบายเพิ่มเติมว่า  โครงร่างแผนขับเคลื่อนสู่การเป็นโรคประจำถิ่นภายใน 4 เดือนนี้ จะแบ่งเป็นระยะ 3+1 ประกอบด้วย ระยะที่1มี.ค.- ต้นเม.ย. (Combatting) คือ จัดการไม่ให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงมาก ระยะที่ 2 เม.ย.-พ.ค. (Plateau) คือ  ให้การติดเชื้ออยู่ในระนาบ และค่อยๆลดลง ระยะที่ 3 ปลายพ.ค.-30มิ.ย. (Declining) คือ  ให้การติดเชื้อลดลงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ คือ 1,000-2,000 รายต่อวัน การรักษากรณีอาการสีเขียวเป็นแบบผู้ป่วยนอก ระยะเวลาการอยู่รพ.หรือกักตัวลดลง  และระยะตั้งแต่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป ( Post pandemic)  คือ  ออกจากการระบาดใหญ่เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น
      ในการขับเคลื่อนตามแผนและมาตรการจะมีคณะอนุกรรมการแต่ละด้านในการจัดทำแผนปฏิบัติการ ได้แก่ อนุกรรมการควบคุมโรค อนุกรรมการการรักษา อนุกรรมการกฎหมาย และอนุกรรมการด้านสังคม เช่น ด้านกฎหมายก็อาจจะต้องพิจารณาแก้กฎหมายอย่างน้อย 9 ฉบับ ส่วนด้านสังคมก็อาจจะต้องพิจารณากรณีการให้COVID-free setting ยกระดับเป็นมาตฐานการควบคุมโรค หรือการใส่หน้ากาอนามัยอาจจะกำหนดให้คนที่ป่วยใส่ ส่วนคนที่ไม่ป่วยอาจจะไม่ต้องใส่  ซึ่งทั้งหมดต้องมีการหารือร่วมกัน 

    สำหรับมาตรการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขที่จะขับเคลื่อนตามแผนระยะ 3+1 อาทิ  มาตรการสอบสวนโรค  ระยะที่1-2 ควบคุมคลัสเตอร์เสี่ยงรุนแรง ระบาดวงกว้าง ลดการเสียชีวิต ปนะเมินมาตรการควบคุมโรค  และระยะ3- Post pandemic  ค้นหาปัจจัยต่อการเจ็บป่วยรุนแรง และเสียชีวิต  มาตรการป้องกันโรค-วัคซีน  ระยะที่ 1 เข็มกระตุ้นได้ราว 45 %ของประชาการทั้งหมด ระยะที่ 2  เข็มกระตุ้นได้  50 % ของประชากรทั้งหมด ระยะที่3เข็มกระตุ้น 55 % ของประชากรทั้งหมด และระยะ Post pandemic เข็มกระตุ้นได้ 60 % ของประชากรทั้งหมด
           และมาตรการควบคุมโรค  ระยะที่1-2 แยกกักผู้ป่วย กักกันผู้สัมผัสจะพิจารณาตามประวัติวัคซีน พิจารณาจำกัดการเคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่เพื่อควบคุมการระบาด ชะลอ/เลี่ยงการเดินทางด้วยรถสาธารณะ ปิดผับ บาร์  ระยะที่ 3 และระยะ Post pandemic แยกกักผู้ป่วย กักกันผู้สัมผัสจะพิจารณาตามประวัติวัคซีน พิจารณาจำกัดการเคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่เพื่อควบคุมการระบาด เดินทางด้วยรถสาธารณะตามมาตรการUP ผับบาร์เปิดได้  เป็นต้น 
        นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ให้ข้อมูลว่า การควบคุมอัตราการเสียชีวิตเพื่อเข้าสู่โรคประจำถิ่นในโรคอื่นๆที่เคยดำเนินการ ต้องไม่เกิน 0.1 % หรือ 1 ในพันราย โดยปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด19ของประเทศไทย เฉลี่ย 0.19- 0.2%  ยังไม่ถึงเป้าที่กำหนดแต่ก็ใกล้เคียง ขณะที่อัตราของทั่วโลกอยู่ที่ 1.3 %  
        อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตในประเทศไทย เกือบ100 % เป็นกลุ่ม 608  คือผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวและหญิงตั้งครรภ์ แต่หากพิจารณาในรายละเอียดของผู้เสียชีวิต อาจไม่ใช่จากโควิด19ทั้งหมด เพราะเชื้อไม่ได้ลงปอด แต่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ อย่างไตวาย มีภาวะติดเตียงไม่มีคนดูแล  โรคมะเร็งระยะสุดท้าย เพียงแต่มีการตรวจพบติดโควิด19ร่วมด้วย ซึ่งข้อกำหนดสากลให้รายงานเป็นการเสียชีวิตจากโควิด19 เบื้องต้นมีประมาณ 20-30 %ของผู้ที่เสียชีวิตไม่ได้เกี่ยวข้องกับโควิด19โดยตรง 

    “ 1 ก.ค.2565จะเป็นโรคประจำถิ่นได้ หากสถานการณ์ดีขึ้น ทำได้ตามมาตรการและทุกคนให้ความร่วมมือดี”นพ.โอภาสกล่าว 
         อนึ่ง ปัจจุบันมีอย่างน้อย  3 ประเทศ 1 รัฐที่เตรียมการเปลี่ยนผ่านจากการระบาดใหญ่สู่โรคประจำถิ่น  ได้แก่  สเปน อินเดีย  จีน และรัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐอเมริกา