วันสตรีสากล "ไม่อยากเป็นเพียงไม้ประดับ" เสียงผู้หญิงจากจังหวัดชายแดนใต้

วันสตรีสากล "ไม่อยากเป็นเพียงไม้ประดับ" เสียงผู้หญิงจากจังหวัดชายแดนใต้

8 มีนาคมวันสตรีสากล ผู้หญิงในจังหวัดชายแดนใต้ ยังไร้ซึ่งสิทธิสะท้อนปัญหา และแสดงความคิดเห็น แม้แต่เพื่อแก้ปัญหาของผู้หญิง ถูกมองเป็นเพียง “ไม้ประดับ” ไร้ปากเสียง ขณะที่สสส. พบ หญิงไทยถูกละเมิดทางเพศ-กระทำความรุนแรง มากกว่า 7 คน/วัน  สูงติดอันดับโลก

นางสาววรรณกนก  เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ในฐานะแกนนำกลุ่มลูกเหรียง กล่าวว่า วันสตรีสากล อยากสะท้อนปัญหาที่เคยเป็นเหยื่อความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ ต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัว 4 คนจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว อีกทั้งยังมีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง โดยผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ต้องเผชิญ 3 ปัญหา ได้แก่ 1.การถูกลิดรอนสิทธิ ถูกจำกัดสิทธิต่างๆ เช่น การเข้าไปมีส่วนร่วมระดับกลไกของรัฐ หรือระดับการเมืองท้องถิ่น ในการช่วยตัดสินใจ ช่วยแก้ปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่ถูกมองว่าควรเป็นเรื่องของผู้ชาย
          2.สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ความรุนแรงในครอบครัวสูง การหย่าร้างเพิ่มขึ้น กรณีเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นเรื่องในครอบครัว คนนอกไม่ควรยุ่ง ขณะที่มีผู้หญิงจำนวนมากกล้าหาญไปขอความยุติธรรมจากหน่วยงาน แต่จะถูกบอกว่าให้อดทน และ 3.การไม่ยอมรับให้ผู้หญิงเป็นผู้นำ ทั้งที่ในพื้นที่ผู้ชายมีจำนวนน้อยลงจากการเสียชีวิตในเหตุการณ์ความไม่สงบ หลบหนีกระบวนการยุติธรรม หรือเจอคดียาเสพติด  ทำให้สัดส่วนจำนวนผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย แต่ในระดับการตัดสินใจหรือกลไกต่างๆ กลับให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมเพียงร้อยละ 0.05 สะท้อนการให้โอกาสที่น้อยมาก

  วันสตรีสากล \"ไม่อยากเป็นเพียงไม้ประดับ\" เสียงผู้หญิงจากจังหวัดชายแดนใต้       
นางสาววรรณกนก เล่าว่า  การทำงานจุดประกายสิทธิผู้หญิงในชุมชน กลุ่มลูกเหรียงเป็นองค์กรภาคประชาสังคม ก่อตั้งมาเข้าปีที่ 20 ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ทำงานกับผู้หญิงที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้นำที่เป็นผู้หญิง และเด็กผู้หญิง เพื่อให้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่ดีให้ได้มากที่สุด บนพื้นฐานที่เชื่อว่า เมื่อมีการศึกษาจะมีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น ปัจจุบันพบสัดส่วนผู้หญิงในระบบการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สูงกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ได้ทำงานร่วมกับผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงมุสลิม เช่น การเสริมศักยภาพองค์ความรู้ ผลักดันให้เป็นแกนนำ เพื่อไปอยู่ในกลไกต่างๆ  สนับสนุนให้ผู้หญิงลงเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่น และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
        แต่กว่าที่กลุ่มลูกเหรียงจะได้รับการยอมรับในพื้นที่ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทำงานพิสูจน์ตัวเอง ทำหน้าที่เป็นองค์กรช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงอย่างจริงจังต่อเนื่อง ทำให้ช่วยเหลือได้มากกว่า 6 หมื่นคน มีทั้งเด็กที่อยู่ในภาวะยากลำบาก ผู้หญิงที่หย่าร้าง การส่งเสริมให้มีอาชีพ และการเยียวยาฟื้นฟูผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์ความไม่สงบ หรือความรุนแรงทางเพศ โดยแต่ละเดือนกลุ่มลูกเหรียงจะมีเคสให้ดูแล ติดตามกว่า 100 คน
วันสตรีสากล \"ไม่อยากเป็นเพียงไม้ประดับ\" เสียงผู้หญิงจากจังหวัดชายแดนใต้

     นอกจากนี้ ยังได้ขับเคลื่อนงานสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัวในพื้นที่ชายแดนใต้ใน จ.ยะลาร่วมกับ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว(สำนัก 4) สสส. อย่างต่อเนื่อง มุ่งเป้าให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่มีสุขภาวะที่ดี เปิดโอกาสให้ชุมชนสร้างทีมทำงานเพื่อเด็กและเยาวชน เสริมพลัง และความมั่นคงทางเศรษฐกิจแก่ครอบครัว รวมถึงหนุนเสริมกิจกรรมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาวะ ตามแนวทางของภารกิจบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อสร้างระบบนิเวศน์รอบตัวเด็กให้เอื้อต่อการสร้างสุขภาวะ
         โดยใช้หลัก “ชุมชนนำ”  ดึงทุกภาคส่วนในชุมชนเข้ามาเป็นเจ้าของเรื่อง ช่วยกันขับเคลื่อน จนเกิดผลลัพธ์ที่ดีแก่เด็กในพื้นที่ ทั้งเรื่องการสร้างความตระหนักเรื่องการแต่งงานของเด็กหญิง การปกป้องเด็กจากอันตราย การส่งเสริมให้เด็กได้รับวัคซีน การส่งเสริมพัฒนาการเด็กตามช่วงวัย ส่งเสริมการอ่านนิทานเพื่อพัฒนาสมอง และสร้างสัมพันธภาพในครอบครัว สะท้อนบทบาทการขับเคลื่อนจากพลังสตรีอย่างแท้จริงในพื้นที่ชายแดนใต้

         พวกเราจึงจัดตั้งกลุ่มผู้หญิงที่ให้คำปรึกษา และช่วยเหลือสำหรับผู้หญิงที่ต้องการเข้าถึงความยุติธรรม เพราะเราไม่อยากเป็นแค่องค์ประกอบ ที่ผ่านมาคนชอบบอกว่าก็มีตัวแทนผู้หญิงแล้ว แต่ในความจริงเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก


         " เราต้องการมีตัวแทนผู้หญิงในสัดส่วนที่มากขึ้นเพื่อที่จะตัดสินใจร่วมกันได้ โดยเคารพความเป็นมนุษย์เท่ากัน ไม่ใช่เป็นเพียงไม้ประดับ ไม่ได้เป็นตัวจริง” น.ส.วรรณกนก กล่าว


        การทำงานเป็นผู้นำสตรีในพื้นที่เป็นสิ่งที่ยาก กว่าจะพิสูจน์ตัวเองให้เป็นที่ยอมรับได้ ผู้ชายทำงานเพียง 10 ผู้หญิงต้องทำงาน 100-200 จึงทำให้ยอมรับได้โดยไม่มีข้อกังขา ส่วนตัวต้องเผชิญกับการที่ผู้ชายไม่ยอมรับให้เป็นผู้นำ กว่าจะทำให้ยอมรับได้ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี และกว่าจะทำให้ผู้หญิงในพื้นที่มั่นใจในตัวเอง กล้าออกมาส่งเสียง ต้องเข้าไปทำงานร่วมกับเขา 4-5 ปี ซึ่งปัญหาอุปสรรคยังเป็นเรื่องการยึดมั่นในความเชื่อว่า ผู้นำต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น จึงเป็นประเด็นที่จะต้องทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงอีกมาก
วันสตรีสากล \"ไม่อยากเป็นเพียงไม้ประดับ\" เสียงผู้หญิงจากจังหวัดชายแดนใต้

               ขณะที่  นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส. ) กล่าวว่า  สสส. ขับเคลื่อนงานด้านสิทธิผู้หญิงผ่านยุทธศาสตร์สุขภาวะผู้หญิง ซึ่งการที่จะทำให้ผู้หญิงมีสุขภาวะที่ดีได้ จำเป็นต้องปลดล็อกปัญหาสำคัญเรื่องสิทธิพื้นฐาน
        สสส. จึงสนับสนุนสิทธิสุขภาพในมิติต่างๆ เช่น สิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพ สิทธิในการปกป้องคุ้มครองตนเองให้รอดพ้นจากความรุนแรงในทุกมิติ โดยเน้นกลุ่มผู้หญิงที่มีลักษณะทางกายภาพ หรือวัฒนธรรมเฉพาะที่เป็นชายขอบ ได้แก่ ผู้หญิงพิการ ผู้หญิงมุสลิม ผู้หญิงชาติพันธุ์ และกลุ่มผู้หญิงที่ด้อยโอกาสหรือถูกเลือกปฏิบัติ ได้แก่ ผู้หญิงต้องขัง ผู้หญิงบริการ และผู้หญิงรักผู้หญิง เพื่อวิเคราะห์ช่องว่างในการพัฒนาสุขภาวะและคุณภาพชีวิตของผู้หญิงกลุ่มเฉพาะ/ชายขอบหรือด้อยโอกาส
          จึงพบว่า ผู้หญิงเป็นกลุ่มประชากรที่เผชิญความเหลื่อมล้ำในสังคมสูง จากอคติทางเพศที่ฝังในระบบคิด ติดอยู่ในจารีต และการปฏิบัติในวัฒนธรรมจนส่งผลต่อสุขภาวะผู้หญิง ทำให้เข้าไม่ถึงโอกาสทางสังคม เศรษฐกิจ และอำนาจการตัดสินใจในเรื่องส่วนตัว ครอบครัว และนโยบายสาธารณะ ที่กำหนดชะตาชีวิต
         วันสตรีสากล \"ไม่อยากเป็นเพียงไม้ประดับ\" เสียงผู้หญิงจากจังหวัดชายแดนใต้

          ผู้หญิงทุกสังคมต้องเผชิญปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศต่อเนื่อง ประเทศไทยมีสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก พบว่า ผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศ ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ ไม่น้อยกว่า 7 คน/วัน และมีสถิติผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ประมาณปีละ 30,000 คน ขณะที่รายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)
         พบว่า กว่าร้อยละ 87 ของคดีการถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่เคยถูกรายงาน และจากการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิง และบุคคลในครอบครัวของไทยระดับประเทศ พบความชุกของความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.6 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 42.2 ในปี 2563 โดยประเภทความรุนแรงสูงสุดคือ ความรุนแรงทางด้านจิตใจ คิดเป็นร้อยละ 32.3 รองลงมาคือ ความรุนแรงทางร่างกายร้อยละ 9.9 และความรุนแรงทางเพศร้อยละ 4.5

เนื่องใน8 มีนาคม วันสตรีสากล สสส. หวังว่า นอกเหนือจากการส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคของสตรีแล้ว ทุกภาคส่วนควรร่วมกันลด และขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ความรุนแรงในครอบครัว การข่มขืน ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ของสหประชาชาติ ที่ระบุให้การขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง ทั้งในที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว เป็นเป้าหมายที่ประเทศต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญและทำให้บรรลุเป้าหมาย
            และจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจ ตกงาน มีภาระหนี้สิน ทำให้เกิดความเครียดสะสม และความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้น สสส. ร่วมกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย จึงเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่แสดงความเห็นร่วมหาทางออกจากปัญหาดังกล่าวร่วมกัน โดยประกาศรับสมัครเยาวชนรุ่นใหม่ และผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในช่วงปลายเดือนมีนาคม – เมษายน 2565 สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.นับเราด้วยคน.com